คอลัมนิสต์

"เลือกตั้ง กุมภาพันธ์62" ความพร้อม บนความไม่พร้อม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เลือกตั้ง กุมภาพันธ์62" ความพร้อม บนความไม่พร้อม :  รายงาน  โดย...   ขนิษฐา เทพจร


 
          ในฐานะผู้เตรียมจัดการเลือกตั้ง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) กางปฏิทินทำงาน ที่โยงถึงโรดแม็พเลือกตั้ง บทสรุปตอนท้าย คาดการณ์ว่า วันหย่อนบัตรเลือกตั้งคือ วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

          หากคิดจากวันนี้ คงมีเวลาให้เตรียมพร้อม หรือรอคอย เพียง 6 เดือน !!

          แต่ในทางปฏิบัติจริง จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะสิ่งที่เข้าใจร่วมกันนับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ประกาศโรดแม็พเลือกตั้งคงต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย 8 เดือน นับจากเดือนกันยายน เป็นต้นไป

          เพราะเงื่อนไขสำคัญคือ กรอบเวลาเลือกตั้งที่เขียนไว้ชัดใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 268 ระบุว่า เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ คือ ฉบับว่าด้วยพรรคการเมือง, ฉบับว่าด้วย กกต., ฉบับว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ ฉบับว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีผลบังคับใช้ครบ 4 ฉบับ การจัดเลือกตั้งส.ส. ต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

          ขณะนี้เรายังรอผลการบังคับใช้กฎหมายลูกอีก 2 ฉบับ คือ ฉบับของ ส.ว. และ ฉบับของส.ส.

 

"เลือกตั้ง กุมภาพันธ์62" ความพร้อม บนความไม่พร้อม

          และแม้ทั้ง 2 ฉบับประกาศแล้ว ใช่ว่า จะเริ่มนับวันเลือกตั้ง โดยทันทีได้ เพราะเงื่อนไขพ่วงท้ายของ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (สนช.) เขียนได้ทอดเวลาการมีผลบังคับใช้ ออกไป 90 วัน หรือ 3 เดือน

          ดังนั้นเงื่อนไขตามกฎหมายจึงมีเวลาบังคับอยู่ที่ 3 เดือน บวกกับ 5 เดือน รวมเป็น 8 เดือน ถึงจะจัดเลือกตั้ง ส.ส. ภายใต้ความพร้อมของทุกภาคส่วน ทั้งคนทำงานและคนที่เตรียมลงสู่สนามการเลือกตั้ง

          แต่ในทางปฏิบัติที่ กกต. โดย “ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล” รองเลขาธิการ กกต. เปิดเผยขั้นตอนทำงาน พร้อมสรุปเป็นปฏิทินเลือกตั้งแบบทันด่วน 24 กุมภาพันธ์ 2562 นั้นใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะหลักการเขียนกฎหมาย ทั้งในรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีความยืดหยุ่นในตัว

          เช่น จัดเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ใช่ว่าจะบังคับให้ใช้เต็มทั้งจำนวน หากพิจารณาบนเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันนับจากวันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ จึงเทียบเคียงกันได้ว่า เมื่อทุกอย่างพร้อมสู่การเลือกตั้ง ระยะเวลาหย่อนบัตรเลือกตั้งสามารถอ้างอิงบทบัญญัติดังกล่าวเป็นฐานคิดได้
แต่ภายใต้ความหยืดหยุ่นนั้น อาจจะแลกมาด้วยความไม่พร้อมของ “ฝ่ายการเมือง” !!

 

"เลือกตั้ง กุมภาพันธ์62" ความพร้อม บนความไม่พร้อม

 

          ตามที่ “ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล” รองเลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนทำงานของ กกต. ที่จะเริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายนนี้ เป็นอย่างช้า คือ เตรียมความพร้อมจัดเลือกกันเองของ ส.ว. ทั่วประเทศ ใน 3 ระดับที่ต้องเสร็จและประกาศผลทั้ง 200 รายชื่อ ช่วง 22 มกราคม 2562

          “การเลือกตั้ง ส.ส. จะประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง 4 มกราคม 2562 และเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.ได้คุยกับ คสช. ว่าจะมีเวลา 60 วัน ทำไพรมารีโหวต 30 วัน” ณัฏฐ์ เปิดเผย

          นั่นหมายความว่า สิ่งที่จะหายไปในขั้นตอนนี้คือ เวลาที่เหมาะสมต่อการรณรงค์–หาเสียงของ ส.ส. ของพรรคการเมือง เพราะจากปฏิทินที่ กกต. กำหนดคือ คาดจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 4 มกราคม 2562 ทำให้มีระยะเวลาเพียง 51 วัน ที่พรรคการเมืองจะเตรียมกระบวนการโกยคะแนนนิยม แต่เวลานั้นอาจถูกแบ่งให้แก่ช่วงเวลาที่ กกต.จะประกาศรับสมัคร ส.ส. และตรวจสอบคุณสมบัติก่อนรับรองให้เป็นผู้สมัครส.ส.

          ทำไม การลงพื้นที่หาเสียง จึงเป็นประเด็นสำคัญ และมองว่า ยิ่งเร่งจัดเลือกตั้งให้เร็ว พรรคการเมือง ไม่พร้อม!

          อย่าลืมว่าตลอดเวลาที่ คสช.บริหารประเทศ นักการเมืองถูกจำกัดพื้นที่หาเสียง แม้จะตระเวนลงพบประชาชนเพื่อรักษาฐานคะแนนไว้บ้าง แต่การปรากฏตัวเป็นครั้งคราวนั้นไม่เพียงพอและสำคัญเท่ากับการได้หมายเลขเลือกตั้ง

 

"เลือกตั้ง กุมภาพันธ์62" ความพร้อม บนความไม่พร้อม

 

          และยิ่งระบบเลือกตั้งแบบใหม่ บัญญัติให้ ผู้สมัครของพรรคได้หมายเลขที่ใช้หาเสียงแบบฟรี เขตใครเขตมัน ทำให้การวางแผน ออกแบบระบบหาเสียงยิ่งซับซ้อน และอาจใช้เวลามากพอดู กว่าจะเข้าถึงประชาชนและประชาชนเข้าใจในข้อมูลที่ถูกส่งต่อไปเป็นคะแนนในคูหาเลือกตั้ง เพราะบัตรเลือกตั้งใบเดียว จะกาคะแนนอย่างไร เมื่อชอบผู้สมัคร แต่ไม่ชอบพรรคการเมือง หรือชอบพรรคการ แต่ไม่ชอบผู้สมัครส.ส. !!

          ขณะที่คู่แข่งทางการเมือง เจ้าใหญ่ เป็นรัฐบาลเพียงเจ้าเดียว จึงคว้าโอกาสทองในการประชาสัมพันธ์ทุกทาง

          จึงเป็น ประเด็นสำคัญที่ปฏิทินเลือกตั้งที่ กกต. กางไว้คร่าวๆ อาจเป็นความพร้อมทำงาน แต่ทำให้พรรคการเมืองไม่พร้อมแข่งขันเลือกตั้ง

          และหากนับย้อนไปอีกว่า เมื่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้หลังครบเวลา 90 วัน ซึ่งเวลาที่ครบกำหนดนั้น จะอยู่ไม่เกินวันที่ 12 ธันวาคม 2561 จากนั้นกระบวนการจัดเลือกตั้ง ส.ส. จึงจะเกิดขึ้นตามกฎหมาย อำนาจและหน้าที่ของ กกต. เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดเป็นบทบังคับว่า ให้ประชาชนและพรรคการเมืองมีส่วนร่วมแสดงความเห็น ประกอบการพิจารณาแบ่งเขตเลือกตั้ง

          ดังนั้น เมื่อนับจาก 12 ธันวาคม 2561 รวมเข้ากับเวลาที่ “คสช.” ให้แก่ “กกต.” ทำงาน 60 วันตามปฏิทินปกติ จะสิ้นสุดที่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ยกเว้นมีกฎหมายพิเศษ ปลดล็อกเงื่อนไขให้ “กกต.” ใช้อำนาจแบ่งเขตเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องรอกฎหมายแม่มีผลบังคับใช้

          แต่เชื่อว่า จะอยู่ในช่วงหลังจาก ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

          ขณะที่การส่งผู้สมัคร ส.ส. ตามกฎหมายเลือกตั้งบังคับตายตัวว่า ผู้สมัครต้องผ่านการทำ “ไพรมารีโหวต” หรือการคัดสรรผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อ แม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องบัญญัติให้ทำก่อนวันที่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้งได้
แต่เงื่อนไขสำคัญคือ การไม่ยอมปลดล็อกคำสั่ง คสช. ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้ขั้นตอนเตรียมพร้อมของ “พรรคการเมือง” ไม่สามารถขยับอย่างเป็นทางการตามที่เงื่อนไขกฎหมายกำหนด

          กับท่าทีของ คสช. ดูเหมือนว่าจะยอมปลดล็อกคำสั่งที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง หลัง “ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.” ประกาศ แต่อาจตั้งอยู่บนเงื่อนไขสำคัญ ที่ถูกเซตภายหลังจากที่ “คณะรัฐมนตรี-คสช.- กกต.-คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ-ประธาน สนช.” หารือกัน
โดยขณะนี้ยังไม่รู้ว่า จะยอมปลดล็อกเงื่อนไขทั้งหมด หรือผ่อนคลายเพียงแค่ให้สิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ เพื่อให้เข้าเงื่อนไข 90 วันของการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อได้สิทธิ์ถูกส่งลงสมัครส.ส.ในนามพรรคการเมืองใด

          ดังนั้นปฏิทินเลือกตั้ง ที่ กกต.กางให้ดูเป็นตัวอย่างคร่าวๆ แม้จะเป็นส่วนงานเตรียมพร้อมของเจ้าหน้าที่

          แต่เมื่อนับดูเวลาที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นการสร้างความไม่พร้อมให้แก่การแข่งขันทางการเมือง ซึ่งท้ายสุดนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่า ปฏิทินที่เกิดขึ้นนั้น ถูกเซตขึ้น เพื่อวางหมาก สร้างความได้เปรียบให้แก่ ฝ่ายการเมืองใดหรือไม่ ?
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ