คอลัมนิสต์

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย...  เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ [email protected]

 

          เรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังมีประมาณ 3.5 แสนคน ชีวิตในคุกไม่ได้อิสระอย่างที่เคย อาจทำให้หลายคนรู้สึกหมดหวัง และนึกภาพอนาคตหลังพ้นโทษไม่ออกว่าใช้ชีวิตในสังคมหรือประกอบอาชีพอย่างไร การศึกษาเป็นอีกหนทางสร้างโอกาส ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกรมราชทัณฑ์ ร่วมมือจัดการศึกษาให้ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศมีความรู้ มีทักษะทางวิชาชีพติดตัวเมื่อพ้นโทษนำไปประกอบอาชีพได้ เป็นการให้โอกาสจะช่วยคืนคนดีสู่สังคม

 

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้

         “เป็นต้นทุนและสร้างโอกาสให้เขาได้มีความรู้

นำไปประกอบอาชีพ หรือหางานทำได้” สุชาติ จินดาแจ้ง

 

          เช่นที่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี เป็นเรือนจำประเภทความมั่นคงต่ำ โทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี มีผู้ต้องขัง 1,059 คน เป็นชาย 886 คน และหญิง 173 คน ปัจจุบันมีวิทยาลัยสารพัดช่าง(วช.)อุทัยธานี และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี(วษท.)อุทัยธานี จัดการสอนวิชาชีพแก่นักเรียน นักศึกษา(ผู้ต้องขัง) ที่ผ่านมามีผู้ต้องขังเข้ารับการศึกษา 829 คน เป็น ปวช. 486 คน ปวส. 236 คน และหลักสูตรระยะสั้น 107 คน

          อั้ม นักโทษชายวัย 27 ปี เพิ่งจบปวส.2 สาขาพืชสวน วษท.อุทัยธานี ปีการศึกษา 2560 กำลังจะพ้นโทษกลางปี 2562 บอกว่า ต้องโทษจากความผิดขายและเสพยาเพราะความผิดพลาดจากช่วงวัยหนึ่ง จนวันนี้มีโอกาสได้เรียนหนังสืออีกครั้งเลือกเรียน ปวส.สาขาพืชสวนเรื่องการเพาะเห็ด เพราะตั้งใจจะนำความรู้ไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ 

 

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้

 

 

          การเรียนทำให้ได้เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 สอนให้รู้การลงทุน ลดต้นทุนทำอย่างไรได้บ้าง เช่น ในเรือนจำพื้นที่น้อยไม่มีโรงเรือน ก็ใช้โอ่งแทน หรือขี้เลื่อยถ้าซื้อมีราคาสูงก็นำจากกองงานไม้ในเรือนจำมาใช้ แต่ถ้าอยู่ข้างนอกก็สามารถใช้ชานอ้อย หรือเปลือกมันสำปะหลังทดแทนได้ เป็นต้น

          “ผมตั้งใจอย่างมากและอยากทำให้ทุกคนเห็นให้พ่อแม่ภูมิใจกับโอกาสที่ได้รับว่าถึงผมเป็นนักโทษคนหนึ่งผมก็มีความรู้ที่จะเอาไปประกอบอาชีพได้ ตอนนี้ก็มีเพื่อนหลายคนเห็นว่าที่ผมเรียนมีประโยชน์จริงปีนี้สมัครเรียนกันเพิ่มขึ้น ผมจะไม่หยุดเรียนรู้แค่นี้ตั้งใจจะเรียนต่อในระดับปริญญาตรีสาขาเกษตรศาสตร์ และลงเรียนคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราชแล้วด้วย” อั้ม กล่าว

 

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้

  “สมรรถนะของเด็กภายในเรือนจำ

และข้างนอกจะใกล้เคียงกัน” ประเวศ วรางกูร

 

          เช่นเดียวกับ นักโทษชายวัย 43 ปี ต้องโทษ 2 ปี 10 เดือน เข้าเรือนจำในปลายปี 2560 ตัดสินใจสมัครเรียน ปวช.สาขาเกษตรของ วษท.อุทัยธานีในปีนี้ กล่าวว่า พอรู้ว่ามีเปิดสอนก็มาสมัครเรียนเลือกเรียนเกษตร เพราะที่บ้านทำไร่ปลูกพืชและค้าขาย รายได้ไม่มากบางทีก็ขาดทุน มีโอกาสได้มาเรียนก็รู้สึกว่าโชคดีมาก ก็หวังว่าวันที่พ้นโทษ จะได้เอาความรู้ไปทำมาหากินเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้

          สำหรับวิชาชีพที่จัดสอน ประเวศ วรางกูร ผอ.วษท.อุทัยธานี เล่าว่า วิทยาลัยเปิดสอนระดับปวช.สาขาวิชาเกษตรกรรม สาขางานการเกษตร และปวส.สาขาวิชาพืชสวน และบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จัดการศึกษาแบบใช้โครงงานเป็นฐาน คือสอนวิชาการควบคู่ไปกับการให้นักเรียน นักศึกษาทำแฟ้มสะสมผลงาน เช่น ระดับปวส. ปีแรกเรียนทฤษฎีเป็นหลักอย่างเคร่ง พอปีต่อมาก็ทำโครงงานควบคู่กับการเรียน นำสิ่งที่เขาทำอยู่ในเรือนจำมาเป็นผลงานเชิงวิจัยตามหลักวิทยาศาสตร์ 

 

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้

 

          ส่วนระดับ ปวช.ก็ใช้รูปแบบเดียวกัน โดย 1 ปีครึ่งเรียนวิชาการแต่ความเข้มข้นน้อยกว่าปวส. ส่วนเวลาที่เหลือทำโปรเจกท์ส่ง กรณีพ้นโทษออกไปก่อนที่จะเรียนจบก็สามารถนำแฟ้มสะสมผลงานไปเทียบความรู้ประสบการณ์ และเรียนเพิ่มเติมในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ได้

          “นักเรียนสามารถนำวุฒิการศึกษาเดิมที่มีอยู่มาเทียบวิชาความรู้ เช่น มีวุฒิฯ ป.ตรี ต้องการเรียนวุฒิฯ ปวส. ก็มาเทียบแต่ก็เรียนทฤษฎี 1 ปี ที่เหลือทำโปรเจกท์ส่ง เป็นต้น ส่วนเรื่องสมรรถนะเคยมีคนตั้งคำถามเช่นกัน ซึ่งเด็กในเรือนจำจะเรียนในความชอบแต่ละอาชีพ อย่างเรียนเกษตรถนัดการเพาะเห็ด มันสำปะหลัง ปลูกอ้อย พอพ้นจากเรียนทฤษฎีเด็กก็ต้องนำความรู้ประสบการณ์ที่มีไปทำโปรเจกท์ พอทำในสิ่งที่เขาถนัดทำให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น สมรรถนะของเด็กภายในเรือนจำและข้างนอกจะใกล้เคียงกัน" นายประเวศ กล่าว

 

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้

 

          เขาบอกด้วยว่า วิทยาลัยเพิ่งปรับมาใช้รูปแบบนี้ 2 ปี เดิมสอนแบบปกติซึ่งก็เห็นผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น ผู้เรียนสนใจสมัครเรียนมากขึ้นเพราะได้ลงมือทำจริง และทุกคนได้รับการจัดการศึกษาฟรีเพื่อเป็นการดูแลให้โอกาสและความเสมอภาค ปัจจุบันมีผู้ต้องขังที่จบการศึกษาจาก วษท.อุทัยธานี ทั้งระดับปวช.และปวส.ไปแล้ว 12 รุ่น จำนวน 130 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2549-2560 โดยปีการศึกษา 2561 มีนักเรียน นักศึกษารวมทั้งสิ้น 181 คน

          สุชาติ จินดาแจ้ง ผอ.วช.อุทัยธานี กล่าวว่า วิทยาลัยเข้าร่วมจัดการสอนให้ผู้ต้องขังในเรือนจำอุทัยธานีเป็นเวลา 5 ปี (ปีการศึกษา 2557-2561) ใน 2 หลักสูตร คือ ปวช.สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง, สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรระยะสั้น คือ คหกรรม, ช่างไฟฟ้า, เทคนิคพื้นฐาน, เสริมสวย และคอมพิวเตอร์ การจัดการศึกษาไม่มีอะไรแตกต่างแค่เปลี่ยนเรือนจำให้เป็นสถานศึกษา ในทุกวันจันทร์-ศุกร์จะมีรถตู้นำอาจารย์มาส่งที่นี่ เริ่มสอนภาคเช้า 09.00-12.00 น. ซึ่งการจัดตารางสอนจะหารือร่วมกับทางเรือนจำเพื่อไม่ให้กระทบกับภาระงานที่นักเรียน นักศึกษา(ผู้ต้องขัง)ต้องทำ ปัจจุบันมีผู้จบการศึกษาได้รับวุฒิปวช.10 คน และประกาศนียบัตรหลักสูตรระยะสั้น 914 คน ส่วนปีการศึกษา 2561 รับปวช.89 คน หลักสูตรระยะสั้น 193 คน

 

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้

 

          สุชาติ กล่าวต่อไปว่า ทุกหลักสูตรนักเรียน นักศึกษาเลือกเรียนได้ตามความสมัครใจ แต่ส่วนใหญ่เลือกเรียนหลักสูตรระยะสั้นบางคนเลือกเรียนมากกว่า 1 หลักสูตร เพราะใช้เวลาไม่นาน 30, 45, 75 ชั่วโมงต่อหลักสูตร ได้ความรู้ไว้ประกอบอาชีพทันที ขณะที่ระดับปวช.ใช้เวลาเรียน 3 ปีมีคนสนใจไม่น้อยเรียนทฤษฎีและฝึกปฏิบัติงานจริงเหมือนนักเรียนปกติ ยกเว้นการฝึกปฏิบัติจะประเมินจากการเข้าปฏิบัติงานที่กองงานภายในเรือนจำ โดยเรือนจำประเมิน 70% วิทยาลัย 30% ซึ่งปัญหาที่พบของการสอนปวช.คือถึงสมัครเรียนมากแต่คนจบน้อย เพราะออกกลางคันหรือพ้นโทษก่อนจบการศึกษา ดังนั้นจึงเสนอว่ากรณีสมัครเรียนปวช.ขอให้เป็นคนที่ต้องโทษเกิน 3 ปีขึ้นไป

 

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้

 

          “วิทยาลัยพยายามจัดหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการ เน้นที่ออกไปประกอบอาชีพได้แต่ก็ต้องอยู่ภายในระเบียบของทางเรือนจำ บางหลักสูตรที่อาจจะมีอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงก็ไม่สามารถจัดได้ ซึ่งการจัดอาชีวะในเรือนจำเกิดประโยชน์จริง เป็นต้นทุนและสร้างโอกาสให้แก่เขาได้มีความรู้นำไปประกอบอาชีพ หรือหางานทำได้ ซึ่งเราสัมผัสได้ถึงแววตาความภูมิใจของนักเรียนที่เขาเรียนจบ" นายสุชาติ กล่าว

          การจัดการสอนภายในเรือนจำอุทัยธานี ไม่เพียงเน้นความสมัครใจแต่ยังให้ความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่แบ่งแยก แม้ว่าผู้ต้องขังจะอยู่ระดับชั้นโทษเยี่ยม ดีมาก ดี กลาง เลว และเลวมาก ก็จะมาเรียนรวมด้วยกัน ไม่เพียงเท่านี้ทางเรือนจำยังมีการประสานกับผู้ประกอบการโรงงานในพื้นที่ที่พร้อมให้โอกาสรับผู้ต้องขังที่พ้นโทษเข้าทำงาน รวมถึงนำผู้ต้องขังออกให้บริการประชาชน เช่น ล้างแอร์ คิดค่าแรง 325 บาท ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับดีจากประชาชนจนคิวยาวไปถึงปีหน้าด้วย  

 

อาชีวะสอนอาชีพในคุกพ้นโทษมีวุฒิฯ-เลี้ยงตัวได้


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ