คอลัมนิสต์

กางแผนรับม็อบ 4 ขั้นตอน : ทหาร 6 กองร้อยคุมทำเนียบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กางแผนรับม็อบ 4 ขั้นตอน : ทหาร 6 กองร้อยคุมทำเนียบ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย... จิตตราภรณ์ เสนวงศ์

 

          การชุมนุมของกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” เมื่อเย็นวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และจะเดินเท้าจาก “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ไปยัง “ทำเนียบรัฐบาล” ในวันที่ 22 พฤษภาคม นับเป็นการเดินขบวนไปยังศูนย์บัญชาการของประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 4 ปีที่แล้วที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

          โดยการเดินขบวนครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้อง 3 ประการ ประกอบด้วย 1.จัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ 2.พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากตำแหน่ง และ 3.กองทัพต้องหยุดสนับสนุน คสช.

          เบื้องต้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ดูแลงานด้านความมั่นคง เน้นย้ำใช้กฎหมายปกติ ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ให้ยึดหลักสากล และใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบ ภายใต้การกำกับของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

          โดยจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จำนวน 20 กองร้อย ประกอบด้วย ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบดูแลความเรียบร้อย ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด พร้อมอำนวยความสะดวกกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มการชุมนุม เส้นทางที่กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนผ่าน รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยภายใน และนอกทำเนียบรัฐบาล ระยะ 50 เมตร ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุม

 

กางแผนรับม็อบ 4 ขั้นตอน : ทหาร 6 กองร้อยคุมทำเนียบ

 

 

          ในส่วนของกองทัพให้เตรียมกำลังอยู่ในที่ตั้ง โดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. สั่งการให้หน่วยทหารตั้งแต่ระดับกองพัน กองพล มณฑลทหารบก กองทัพภาคที่ 1 ติดตามการชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง เน้นย้ำงานด้านการข่าว โดยเฉพาะติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรงในเหตุการณ์ชุมนุมสำคัญๆ ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมรายงานสถานการณ์มายังกองบัญชาการติดตามสถานการณ์ คสช. ที่ตั้งอยู่ภายในกองทัพบก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย คสช. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ เจ้าหน้าที่งานด้านการข่าว ให้ทราบเป็นระยะ


          “ผบ.ทบ.เป็นห่วงมือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ ภายหลังพบความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง ที่เคยก่อเหตุในการชุมนุมทางการเมือง โดยให้ประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำให้เฝ้าระวังสถานการณ์เวลา 19.00-05.00 น.ของวันที่ 21, 22 และ 23 พฤษภาคมนี้ ห่วงว่าผู้ไม่หวังดีอาจจะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวสร้างสถานการณ์” แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ

          นอกจากนี้ พล.อ.เฉลิมชัย ยังให้ พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพภาคที่ 1 จัดกำลังทหารเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้งประมาณ 10 กองร้อย สนับสนุนงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหากสถานการณ์บานปลายออกไป พร้อมให้ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ส่งกำลังทหาร 6 กองร้อย ร่วมกับตำรวจสันติบาลดูแลพื้นที่ภายในทำเนียบรัฐบาล โดยปฏิบัติตามกฎการรักษาความปลอดภัยสถานที่อย่างเคร่งครัด

 

กางแผนรับม็อบ 4 ขั้นตอน : ทหาร 6 กองร้อยคุมทำเนียบ

 

          สำหรับแผนปฏิบัติแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน โดยขั้นที่ 1-3 ผู้ปฏิบัติงานคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่ 1.ขั้นปกติ คือ การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีเหตุการณ์ที่ส่อให้เกิดความรุนแรง จะใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ขั้นที่ 2.หากสถานการณ์ส่อเค้าบานปลาย เช่น มีการกระทบกระทั่ง ทำร้ายร่างกาย ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร
ขั้นที่ 3.เหตุการณ์รุนแรงที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคง และความปลอดภัยแห่งรัฐ เช่น มีการใช้อาวุธ ทำให้เกิดการบาดเจ็บ สูญเสีย จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และขั้นที่ 4.คือเหตุการณ์มีความรุนแรงจนเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่น การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 และการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เมื่อปี 2557 จะประกาศกฎอัยการศึก โดยมีทหารทำหน้าที่หลัก เข้าควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดจนกว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ

           “เชื่อว่าการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งสถานการณ์จะอยู่ในขั้นปกติคือ ใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่น่าจะบานปลาย เกิดเหตุความวุ่นวายจนพัฒนาไปสู่ขั้นตอนอื่นๆ เนื่องจากเป็นช่วงเวลากลางวัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในการใช้เส้นทางจราจร ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้เราไม่ประมาท แม้แกนนำจะออกมาประกาศว่า ไม่นำมวลชนบุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล แต่เมื่อถึงเหตุการณ์จริง สถานการณ์ อารมณ์ของผู้ชุมนุม อาจถูกปลุกเร้าทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ได้ เรามีบทเรียนมาแล้ว” หน่วยงานความมั่นคง กล่าว

 

กางแผนรับม็อบ 4 ขั้นตอน : ทหาร 6 กองร้อยคุมทำเนียบ

 

          อย่างไรก็ตาม หน่วยข่าวได้ประเมินตัวเลขของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ว่าอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 คน และจะเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลา 07.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม ผ่านเส้นทางถนนราชดำเนิน ผ่านฟ้า หน้ากองบัญชาการกองทัพบก และมาหยุดที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ประมาณ เวลา 10.00 น. ซึ่งเป็นจุดสุดท้าย ก่อนเข้าพื้นที่ควบคุม และรัฐบาลส่งตัวแทนมารับหนังสือข้อเรียกร้องจากผู้ชุมนุม ทั้งนี้หากการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เชื่อว่าทุกอย่างจะยุติในเวลา 13.00 น.วันเดียวกัน

          ใครเป็นใครในขบวนอยากเลือกตั้ง
          การเดินขบวนของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันนี้ ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่จริงจังและนัดเดินไปถึงทำเนียบรัฐบาลเป็นครั้งแรก เราลองมาดูกันว่า “ใคร” ที่จะมาร่วมการเดินขบวนครั้งนี้

          แกนนำที่เราคุ้นหน้ากันมีทั้ง “รังสิมันต์ โรม” นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับ คสช. คนเริ่มรู้จักเขาตั้งแต่เริ่มการรัฐประหาร โดยเขาออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเป็นระยะๆ และโดนคดีไปหลายคดี นอกจากนี้ยังมี “อานนท์ นำภา” หรือ “ทนายเสื้อแดง” นักกฎหมายที่ว่าความให้แก่คนเสื้อแดงในหลายๆ คดี “เพนกวิน” พริษฐ์ ชีวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านการอยู่ในอำนาจของ คสช.มาเป็นเวลานานตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยม และถือเป็นหนึ่งในแกนนำคนรุ่นใหม่ “เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล” ชื่อนี้รู้จักกันดีถึงแนวคิด และการปรากฏตัวต่อหน้าสื่อบ่อยๆ รวมถึง “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา แกนนำผู้หญิงที่ออกมายืนแถวหน้าของการชุมนุม

          เหล่านี้คือแกนนำ ขณะที่ผู้มาร่วมชุมนุมโดยมากคาดว่าจะเป็นคนที่เคยมาร่วมการชุมนุมทุกครั้งซึ่งมีแนวคิดเดียวกัน ซึ่งจะรวมถึงคนเสื้อแดง โดยเฉพาะกลุ่ม “ป้าเสื้อแดง” หรือหญิงสูงอายุที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งคนเหล่านี้คือแฟนพันธุ์แท้ของการชุมนุมทุกครั้ง

          ขณะที่นัการเมืองยังต้องดูว่าจะมาร่วมหรือไม่ อาทิ “วัฒนา เมืองสุข” แกนนำพรรคเพื่อไทยที่เคยมาร่วมหลังจากถูกเรียกร้อง  หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจการมีอยู่ของ คสช. ก็อาจจะออกมาร่วมด้วย

          ต้องดูว่าการชุมนุมครั้งนี้จะมีคนมาร่วมขนาดไหน  เพราะนับจากนี้ถือเป็นก้าวย่างใหม่ของการต่อสู้บนท้องถนนหลังจากเงียบมานานตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ