คอลัมนิสต์

4 ปี คสช. ถึงเวลา "ทำตามสัญญา" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

4 ปี คสช. ถึงเวลา "ทำตามสัญญา"  : รายงาน  โดย...  อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

          วันที่ 22 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ ก็จะเป็นวันครบรอบ 4 ปี ที่ คสช.ใช้กำลังทหารเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยอาศัยการเชื้อเชิญของคนบางกลุ่มเป็นบันไดก้าวเข้าสู่การบริหารประเทศ และใช้เป็นอาวุธทิ่มแทงศัตรูทางการเมือง ข้ออ้างอันว่าด้วยการทุจริต  ความไม่สงบ เป็นเหตุผลสำคัญในวันนั้น 

          แม้คนจำนวนหนึ่งจะเห็นความบิดเบี้ยวของเรื่องราว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งมอง คสช. โดยเฉพาะ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นความหวัง บ้างถึงขั้นฉลองชัยแต่งชุดทหารออกมาร้องรำทำเพลง บางคนวาดฝันถึงการปฏิรูปประเทศ ตามแคมเปญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”  ที่ผลิตออกมาก่อนหน้านั้น  

          พลันที่ คสช.เข้ามา สิ่งแรกที่ทำคือห้ามคนแสดงความเห็นหรือมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ขั้นต่อมาคือไล่เช็กบิลอดีตรัฐบาลในข้อหาทุจริต โดยเฉพาะการถอดถอนผ่านกระบวนการ สนช.ที่ตั้งขึ้นมา และส่งเรื่องราวขึ้นสู่ศาล จนสุดท้ายอดีตผู้นำรัฐบาลอย่าง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ก็ต้องระเหเร่ร่อนออกนอกประเทศตามพี่ชาย “ทักษิณ ชินวัตร” ไป และจนบัดนี้เธอก็ยังไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ อีกเลย 

          จากนั้นก็เข้าสู่ภารกิจเขียนกฎหมาย ร่างกติกาใหม่ โดยมีทำกฎหมายแม่บทอย่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ดูเหมือนการร่างกฎกติกาจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภารกิจนี้ถูกนำไปผูกติดอยู่กับปฏิทินและสถานการณ์การเมืองจนสุดท้ายทำให้ร่างรัฐธรรมนูญต้องตกไปหนึ่งฉบับ และจวบจนวันนี้การเลือกตั้งก็ยังไม่เกิดขึ้น แม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ไปแล้วก็ตาม 

          กติกาที่เขียนใหม่ ว่ากันว่าเป้าหมายหลักคือเรื่องทางการเมือง และการสืบทอดเจตนารมณ์ของ คสช. เพื่อไม่ให้เกิดเรื่อง “เสียของ” เหมือนที่พวกเขามองตัวแบบการรัฐประหาร 2549 ในทางที่ไม่ประความสำเร็จ  จนต้องรัฐประหารอีกครั้ง


          แต่เบื้องต้นต้องบอกว่า หากมองเรื่องการปฏิรูปการเมือง เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบการเมืองโดยที่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องดีขึ้นหรือแย่ลงอันเป็นปรัชญาการเมือง ต้องถือว่าสำเร็จไปเกินกว่าครึ่งแล้ว เพราะพวกเขาได้วางกติกาผ่านระบบเลือกตั้งใหม่ จนเชื่อได้ว่าเราจะไม่เห็นการเมืองที่มีพรรคใดพรรคหนึ่งครองเสียงข้างมาก  อีกทั้งได้เห็นการหวนกลับมามีบทบาทของนักการเมืองรุ่นเก่า รวมถึงพรรคขนาดกลางขนาดเล็ก  เราได้เห็นเกมการ “ดูด” ในแบบอดีต  และเห็นรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้ “คนนอก” เข้ามาเป็นนายกฯ ได้ โดยมีเสียงสภาแต่งตั้งเป็นตัวสนับสนุน ภายใต้วาทกรรมอันสวยหรู

          ส่วนเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ที่เหล่าผู้สนับสนุนพูดถึงเมื่อครั้งยุทธการปิดเมือง กลับเดินไปอย่างเชื่องช้า  ทั้งๆ ที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และเวลาที่เทียบแล้วเท่ากับรัฐบาลเลือกตั้งหนึ่งสมัยเต็มๆ โดยที่ไม่มีฝ่ายค้านมาให้เกะกะสายตาด้วยซ้ำ

          ด้านเศรษฐกิจ ดูเหมือนแคมเปญปฏิรูปยังไม่ประสบผลสำเร็จนัก เพราะแค่เอาปัญหาเฉพาะหน้าก็หนักหน่วงพออยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเนื่องจากระบบการปกครองที่ประเทศเรากำลังเป็น ไม่ได้รับการยอมรับจากสากล ทำให้การค้าขายไม่คล่อง ยิ่งไปกว่านั้นการบริหารเศรษฐกิจโดยคณะทหารยังถูกตั้งคำถาม ทั้งๆ ที่ดึงมือเศรษฐกิจอย่าง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” มาช่วย แต่ความเชื่อมั่นก็ยังไม่คืนกลับ นั่นอาจเ้ป็นเพราะทุกคนรู้ว่าที่สุดอำนาจการบริหารเศรษฐกิจยังอยู่ที่ทหารซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญ

          ยิ่งไปกว่านั้น หลังๆ “สมคิด” ยังมีภาพของการเดินเกมการเมืองมากกว่าเกมเศรษฐกิจ งบประชารัฐที่อัดลงไปกลับไม่ตอบสนองเท่าที่ควร ไม่ต้องวัดอะไรมาก แค่เดินตลาดก็พอจะรู้แล้วว่าเงินในกระเป๋าของคนทั่วไปเป็นอย่างไร 

          ถึงตอนนี้ดูเหมือนการปฏิรูปเศรษฐกิจจึงฝากความหวังไว้ที่ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะภายใต้ฉากหน้าอันงดงาม ยังมีการตั้งคำถามว่ารัฐต้องแลกอะไรไปบ้างกับการเรียกนักลงทุนเข้ามา 

          ขณะที่การปฏิรูปเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหมือนจะเดินหน้าในช่วงแรกกับการทวงคืนผืนป่า แต่ไปๆ มาๆ กลับขัดขาในหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติที่ป่าให้เอกชน การรุกป่าของเจ้าสัวที่ทำอะไรไม่ได้ หรือกระทั่งอีอีซีที่เปิดโอกาสให้ใช้พื้นที่ป่า จึงทำให้หลายคนยังตั้งคำถาม

          มิพักต้องพูดเรื่องการปราบทุจริต ที่ทำได้กับเฉพาะฝ่ายตรงข้าม แต่กับฝ่ายตัวเองโดยเฉพาะคำถามที่พุ่งตรงไปยังคนวงในอย่าง “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” กลับไม่สามารถเคลียร์ให้กระจ่างได้ จนกลายเป็นรอยด่าง

          และที่สำคัญเรื่องความปรองดอง ที่ใครๆ ก็รู้ว่าความขัดแย้งไม่ได้หายไปไหน ซ้ำยังรอวันปะทุเพราะถูกกดด้วยอำนาจของ คสช. 

          จนถึงวันนี้กองหนุนของ คสช. จึงหายไปโขอยู่ และเป็นสาเหตุสำคัญที่การเลือกตั้งยังเกิดขึ้นไม่ได้ จนกว่าระบบการเมืองที่วางไว้ใหม่จะออกดอกออกผลเต็มที่ หรือถ้ายังทำไม่ได้ก็เพิ่มเงื่อนไขเข้าไป จนกว่าทุกอย่างจะมั่นใจ แต่จะใช้เวลาอีกเท่าไหร่ยังตอบไม่ได้  

          ที่สำคัญ 4 ปีนั้นเริ่มยาวนานเกินไปสำหรับหลายๆ คน หากรั้งรอต่อไป แม้คิดว่าจะเป็นผลดี แต่อาจมีตัวแปรที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุเอาง่ายๆ และวันนี้ตัวแปรเช่นว่าก็ทยอยออกมาเรื่อยๆ แล้ว หรือถึงเวลาต้องทำตามสัญญาเสียที

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ