คอลัมนิสต์

ก.ค.ศ.ยึดศาลปกครองสูงสุดย้ายผอ.ร.ร.เกณฑ์ว.24ภายใน16พ.ค.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก.ค.ศ.ยึดศาลปกครองสูงสุดย้ายผอ.ร.ร.เกณฑ์ว.24ภายใน16พ.ค. :  คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย...  เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ  [email protected]

          จากคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าวมีผลให้การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพฐ. สามารถดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนดตามเกณฑ์ ว 24 ต่อไปได้

          เป็นเวลาราว 7 เดือน ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างรอฟังว่าศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยเช่นไร ซึ่งเมื่อวันที่ 10 เมษายน ศาลปกครองอุบลราชธานีได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คบ.51/2561 ในคดีหมายเลขดำที่ บ.75/2560 ระหว่างนายเฉลิมเกียรติ ผู้ฟ้องคดี กับ ก.ค.ศ.ผู้ถูกฟ้องคดี โดยศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกคำขอของผู้ฟ้องคดี เช่นนี้เท่ากับว่า สามารถดำเนินการโยกย้ายตามหลักเกณฑ์ ว 24 ได้
  
          การย้าย “ผู้บริหารสถานศึกษา” ตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีอันต้องชะลอไปก่อนชั่วคราวตามคำสั่งศาลปกครองอุบลราชธานี ที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามข้อ 10 และข้อ 11 ของหลักเกณฑ์ ว24/2560 ตามหนังสือสำนักงานก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.4/ว24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ตามที่นายเฉลิมเกียรติ แก้วกนก ผู้อำนวยการโรงเรียนไผ่ใหญ่ศึกษา จ.อุบลราชธานี ผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ผู้ถูกฟ้อง

          คำสั่งศาลปกครองอุบลราชธานีครั้งนั้น เป็นเหตุสำนักงานก.ค.ศ.ต้องแจ้งมติที่ประชุมก.ค.ศ. ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานว่าไปยังคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) 58 จังหวัด ในจำนวนนี้ 18 จังหวัดได้พิจารณาแล้วแต่ยังไม่ได้ออกคำสั่ง และอีก 40 แห่งที่ยังอยู่ในกระบวนการ ให้ชะลอการพิจารณาและอนุมัติย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสพฐ.ปี 2560 ที่ได้ยื่นคำร้อง 1-15 สิงหาคม 2560 ไปก่อนชั่วคราวจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยคำสั่งทุเลา และสำนักงานก.ค.ศ.ได้ยื่นคำอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทุเลาการบังคับของศาลปกครองอุบลราชธานี และอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด

 

         พลันที่ สพฐ.ทราบคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น "นายบุญรักษ์ ยอดเพชร" เลขาธิการ กพฐ. ได้แจ้งผ่านไปยัง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศผ่าน OBECLINE2018 ว่า

           "ผมได้สอบถามเลขาธิการก.ค.ศ. ถึงการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นได้สั่งคุ้มครองการดำเนินการย้ายผู้บริหารโรงเรียน ตาม ว.24 ข้อ 10 และ 11. ท่านเลขาฯ ก.ค.ศ.ได้แจ้งว่าคดี ว.24 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครอง ที่การชะลอการใช้บังคับตามข้อ 10 และข้อ 11 ของหลักเกณฑ์ ว.24 ดังนั้นกศจ.ทุกแห่งจึงสามารถดำเนินการย้ายผู้บริหารโรงเรียนได้ต่อไปสำหรับการแจ้งแนวดำเนินการ ขอให้รอ ก.ค.ศ.แจ้งอย่างเป็นทางการต่อไป"

          ล่าสุดวานนี้ (18 เม.ย.) ที่ประชุมก.ค.ศ.ได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุด โดย “นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์”  เลขาธิการก.ค.ศ. กล่าวว่า จากคำสั่งศาลปกครองดังกล่าวมีผลให้การย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสพฐ. สามารถดำเนินการโดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ.กำหนด ตามเกณฑ์ ว 24 ต่อไปได้ 

          ที่ประชุมจึงให้ยกเลิกมติชะลอการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสพฐ.และเห็นชอบแนวทางการดำเนินการพิจารณาย้ายผู้บริหารสถานศึกษาโดยให้ดำเนินการพิจารณาย้ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561

          เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวด้วยว่า ในวันที่มีมติให้มีการชะลอการย้ายมีการดำเนินการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 6 กรณี ได้แก่ 1.กรณีที่พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติ และออกคำสั่งตามมติดังกล่าวแล้ว และได้ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษา ตามคำสั่งดังกล่าวแล้วจำนวน 17 จังหวัด 2.กรณีที่พิจารณาแล้วมีมติอนุมัติและออกคำสั่งตามมติดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานศึกษาตามคำสั่งดังกล่าว จำนวน 5 จังหวัด 

          3.กรณีที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ออกคำสั่งจำนวน 18 จังหวัด 4.กรณีที่คณะอนุกรรมการกศจ. พิจารณาแล้ว แต่ยังไม่นำเสนอ กศจ. จำนวน 16 จังหวัด 5.กรณีที่กลั่นกรองการย้ายแล้ว แต่ยังไม่เสนอ อกศจ. และกศจ. จำนวน 5 จังหวัด และ 6.กรณีที่ยังไม่ดำเนินการใดๆ จำนวน 12 จังหวัด 

          ทั้งนี้มีจังหวัดที่ยังไม่ได้รายงานข้อมูลการดำเนินการจำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด และหนองคาย

          โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานผลการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองอุบลราชธานีที่สั่งทุเลาการบังคับใช้ข้อ 10 และข้อ 11 ของ ว24/2560 ตามที่ศาลปกครองอุบลราชธานี มีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ในคดีดำหมายเลขดำที่ บ.75/2560 ระหว่างผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ถูกฟ้องคดี ให้ทุเลาการบังคับตามข้อ 10 และข้อ 11 ของหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา นั้น

          บัดนี้ศาลปกครองอุบลราชธานีได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ตามคำสั่งที่ คบ.51/2561 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 แล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดังกล่าว ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งทุเลาการบังคับนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นยกคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยให้เหตุผลสรุปดังนี้

          1.แม้ว่าจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การย้าย โดยอาศัยจังหวัดและขนาดสถานศึกษาเดียวกันเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาก่อนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์โดยรวมแล้ว มิได้มุ่งประสงค์ที่จะยึดเอาแต่เขตจังหวัดหรือสถานศึกษาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาแต่เพียงอย่างเดียว

          2.การให้มี กศจ.ทำหน้าที่แทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา บริบทในการบริหารงานบุคคลจึงเปลี่ยนแปลงไป ก.ค.ศ.ย่อมมีอำนาจที่จะทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริหารงานบุคคลเพื่อให้สอดคล้องหลักการและนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปได้
    
          3.ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการที่ก.ค.ศ. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ
    
          4.เมื่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ที่จะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับ
   
          จากคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว มีผลให้การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถดำเนินการ โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/ว24 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ต่อไปได้ ให้ “ยกเลิก” มติชะลอการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สพฐ. และให้ย้ายตาม ว24 ให้แล้วเสร็จภายใน 16 พฤษภาคม 2561

          นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า ได้เข้าร่วมฟังคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในวันดังกล่าว ซึ่งทั้งศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองอุบลราชธานี ได้พิจารณาและวินิจฉัยในเงื่อนไขเดียวกันตามมาตรา 66 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ที่ระบุว่า   “กรณีศาลปกครองเห็นสมควรกำหนดมาตรการ หรือวิธีการใด เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องก่อนพิพากษาคดีจะมีคำร้องของบุคคลดังกล่าวหรือไม่ ให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด” 

          แต่ปรากฏว่าศาลปกครองสูงสุดเห็นต่างและมีคำสั่งกลับคำสั่งปกครองชั้นต้น ขณะที่ศาลปกครองอุบลฯ พิจารณาว่าหลักเกณฑ์ข้อ 10 และ 11 ส่งผลกระทบ ทั้งนี้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเช่นนั้นคงไม่ก้าวล่วง

          “ผมไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์ศาล แต่บอกได้ว่ามีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และในการพิจารณามีเพียงคำอุทธรณ์โต้แย้งของก.ค.ศ.และผู้อำนวยการโรงเรียนรายหนึ่ง ไม่ได้มีเรื่องผลกระทบของผู้บริหารสถานศึกษาโดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษาขนาดเล็ก ขนาดกลางได้รับผลกระทบวงกว้าง ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากข้อ 10 และ 11 ของหลักเกณฑ์ ว 24 เลย เพราะกำหนดต้องเป็นขนาดเดียวกันและในพื้นที่เดียวกันก่อนเมื่อไม่มีตำแหน่งจึงจะขอข้ามจังหวัดได้ เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้บริหารทั่วประเทศ ดังนั้นขณะนี้กำลังหารือในรายละเอียดเบื้องต้นจะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีแก่ก.ค.ศ.และผอ.โรงเรียนรายหนึ่งฐานนำข้อมูลเท็จเข้าสู่การพิจารณาของศาล เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 180 ระบุว่าผู้ใดนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี ถ้าเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญในคดีนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คาดว่าจะแจ้งความในวันที่ 20 เมษายนนี้” นายเฉลิมเกียรติกล่าว

          นายเฉลิมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า จากนี้ก็ต้องรอศาลปกครองอุบลราชธานี เวลานี้อยู่ในขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง หลังจากที่สำนักงานก.ค.ศ.ได้มีหนังสืออุทธรณ์โต้แย้งฉบับที่ 2 ส่วนตัวก็ได้ทำหนังสือคัดค้านไปแล้วเช่นกัน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการของศาล ซึ่งแม้ศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยออกมาเช่นนั้นก็เชื่อว่าไม่ส่งผลต่อการพิจารณาของศาลปกครองอุบลราชธานี

          และที่ผ่านมาได้เข้าพบเพื่อชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อนายณรงค์ แผ้วพลสงค์ รองเลขาธิการกพฐ. นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกำลังประสานขอเข้าพบพล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการด้วย

          อย่างไรก็ตามคาดว่าเรื่องนี้จะยุติได้ก่อน 15 สิงหาคม 2561 เพราะเป็นช่วงที่เริ่มให้เขียนคำร้องขอย้ายประจำปี 2561 และยืนยันว่าไม่ควรนำเกณฑ์ ว 24 ข้อ 10 และ 11 มาใช้เพราะไม่เป็นธรรม และผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และศาลอุบลราชธานีก็เห็นว่าข้อ 10 ของหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นการออกกฎที่น่าจะขัดต่อหลักความเสมอภาคและมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และข้อ 11 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อ 10 จึงน่าที่จะไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน เพราะฉะนั้นการดำเนินการอนุมัติโยกย้ายควรเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ว 9/2559 ที่พิจารณาย้ายทั้งประถม-มัธยมทุกขนาดในคราวเดียวกัน

          หลักเกณฑ์การย้าย ว 9/2559 - ว 24/2560 
          ว 9/2559 
          กำหนดว่าต้องดำรงตำแหน่งผอ./รองผอ.และปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 12 เดือนนับถึงวันยื่นคำขอพิจารณาการย้ายตามข้อ 10 และ 11 มีดังนี้
          1.ย้ายผู้บริหารสังกัดเดียวกัน (ประถม-มัธยม) ภายในและต่างเขตพื้นที่ขนาดเดียวกันและใกล้เคียงกันพร้อมกัน 
          2.ย้ายในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษให้ดูในสังกัดเดียวกันก่อน
          3.หากตำแหน่งว่างเหลือให้พิจารณาคำขอย้ายโดยข้ามขนาดได้เกิน 1 ขนาด จากปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งอยู่

          ว 24/2560 
          กำหนดดำรงตำแหน่งผอ./รองผอ.และปฏิบัติงานในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับถึงวันที่ 31 ตุลาคม ของปีที่ยื่นคำขอพิจารณาย้ายตามข้อ 10 และ 11 ดังนี้ 
          1.ย้ายผู้บริหารสังกัดเดียวกัน ในจังหวัดเดียวกัน สถานศึกษาขนาดเดียวกันพร้อมกันก่อน
          2.ย้ายผู้บริหารสังกัดเดียวกัน สถานศึกษาขนาดเดียวกัน จังหวัดใกล้เคียง
          3.ย้ายผู้บริหารสังกัดเดียวกันไปยังสถานศึกษาขนาดใกล้เคียงกัน ภายในจังหวัดเดียวกัน 
          4.ย้ายผู้บริหารสังกัดเดียวกันไปในสถานศึกษาขนาดใกล้เคียงกัน จังหวัดใกล้เคียงกัน 
          5.ย้ายไปสถานศึกษาต่างประเภท หรือข้ามขนาดสถานศึกษาที่เกินว่า 1 ขนาด ภายในจังหวัดเดียวกัน 
          6.พิจารณาย้ายไปสถานศึกษาต่างประเภท หรือข้ามขนาดสถานศึกษาที่เกินว่า 1 ขนาดจากจังหวัดอื่น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ