คอลัมนิสต์

ชื่อนี้โดนมั้ย? “พรรคสนับสนุนประยุทธ์” ชัดเจน ตรงไปตรงมา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จริงดิ! สมมติว่าเลือกตั้งปลายปี 2561 พรรคตระกูล ส.เสือ, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กๆ รวมกันได้ บวก ส.ว.อีก พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้นั่งนายกฯ อัยย๊ะ!!!

             ขอย้อนอดีตการเมืองเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ช่วงเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย หลังรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 มีการตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521

             แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัญญัติให้มีการตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ในช่วงเวลา 4 ปี แรก ยังไม่จำเป็นต้องให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคและจัดตั้งพรรคการเมืองไม่ได้เพราะยังไม่ได้มีกฎหมายพรรคการเมืองออกมา การรวมตัวของนักการเมืองเพื่อเข้าแข่งขันเลือกตั้ง จึงเรียกชื่อกันเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มประชาธิปัตย์, กลุ่มกิจสังคม,กลุ่มชาติไทย ฯลฯ

             วันที่ 22 เมษายน 2522 รัฐบาลเกรียงศักดิ์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 301 คน และในวันเดียวกันนั้นก็มีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกจำนวน 3 ใน 4 ของ ส.ส.เต็มสภา

             สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งปี 2522 ปรากฏว่ามีกลุ่มการเมืองเปิดตัวสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กันโจ๋งครึ่ม

             1.กลุ่มเสรีธรรม นำโดย ประสิทธิ์ ณรงค์เดช ตัวแทนกลุ่มดุสิต 99 ที่รวบรวมส.ส.จากพรรคต่างๆ เช่น พรรคพลังใหม่ พรรคกิจสังคม และ พรรคธรรมสังคม มาสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์

             2.กลุ่มสยามปฏิรูป นำโดยประมวล กุลมาตร์ อดีต ส.ส.ชุมพรดำเนินนโยบายทางการเมืองว่า “สยามปฏิรูปมีนโยบายสนับสนุนพลเอกเกรียงศักดิ์ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น”

             3.กลุ่มชาติประชาชน นำโดยอดีต ส.ส.เก่าที่เคยตั้งพรรคสังคมชาตินิยมยุค 14 ตุลา อาทิ ร.ต.บุญยง วัฒนพงศ์, วัฒนา อัศวเหม, มั่น พัธโนทัย และ พินิจ จันทรสุรินทร์

             4.กลุ่ม พ.อ.(พิเศษ)พล เริงประเสริฐวิทย์ อดีตนายทหารคนสนิทของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ที่ผันตัวมาเล่นการเมือง โดยลงสมัคร ส.ส.อุทัยธานี

             5.กลุ่มกิจประชาธิปไตย มี พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลเกรียงศักดิ์เป็นหัวหน้ากลุ่ม

             6. กลุ่มประชารัฐ นำโดยอดีต ส.ส.อย่างจรูญ วัฒนากร,ยุพา อุดมศักดิ์ และสวัสดิ์ คำประกอบ

             7.กลุ่มสนับสนุนนโยบายเกรียงศักดิ์ มี ญาติ ไหวดี อดีต ส.ส.สุรินทร์ เป็นแกนนำ

             8.กลุ่มรวมไทย เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร (น้องชายจอมพลถนอม) กับ ส่งสุข ภัคเกษม อดีต ส.ส.เชียงใหม่

             ผลการเลือกตั้งปี 2522 ปรากฏว่า กลุ่มสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ รวมเสียงได้ 111 เสียง บวกกับเสียง ส.ว.อีก 225 เสียง ก็ทำให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯ สมใจปรารถนา

             กลุ่มสนับสนุนเกรียงศักดิ์ ประกอบด้วย กลุ่มเสรีธรรม 23 เสียง, กลุ่มชาติประชาชน 14 เสียง, กลุ่มพลังใหม่ 10 เสียง, กลุ่มเกษตรสังคม 8 เสียง, กลุ่มประชาธิปไตย 3 เสียง, กลุ่มกิจธรรม 1 เสียง, กลุ่มธรรมสังคม 1 เสียง, กลุ่มสยามปฏิรูป 3 เสียง, กลุ่มสนับสนุนนโยบายเกรียงศักดิ์ 1 เสียง, กลุ่มรวมไทย 3 เสียง และกลุ่มอิสระอีก 44 เสียง บวกกับเสียง ส.ว.อีก 225 เสียง

             ส่วนพรรคการเมืองเก่าอย่างกลุ่มกิจสังคม 88 เสียง, กลุ่มชาติไทย 38 เสียง, กลุ่มประชากรไทย 32 เสียง และกลุ่มประชาธิปัตย์ 32 เสียง รวม 190 เสียง ตกเป็นเป็นฝ่ายค้าน

             ทำนองเดียวกัน สมมติว่าเลือกตั้งปลายปี 2561 พรรคตระกูล ส.เสือ, พรรคภูมิใจไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็กๆ รวมกันได้ 300 กว่าเสียง บวก ส.ว. 250 เสียง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ลอยลำเป็นนายกฯ

             ปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน นั่งดู “พรรคสนับสนุนประยุทธ์” เล่นบทฝ่ายรัฐบาลไปอีกสมัย..เอามั้ยล่ะสูตรนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ