คอลัมนิสต์

เปิดหนังสือ ป.ป.ช.-สตง. เตือน ‘ยิ่งลักษณ์’ จำนำข้าว 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดหนังสือ ป.ป.ช.- สตง. ที่เตือน 'ยิ่งลักษณ์' เพื่อให้พิจารณาเกี่ยวกับปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว และต้องการให้ยุติโครงการฯ

             พรุ่งนี้ (25 ส.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษา ในคดีที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกฟ้องว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวมาทุกขณะ  ซึ่งหากมองไปที่พยานเอกสารซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญของโจทก์ ที่นำมากล่าวหา  ก็คือ หนังสือ ป.ป.ช. จำนวน 2 ฉบับ และหนังสือ สตง. จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเตือนไปยัง‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ดังนี้

           1 .หนังสือ ป.ป.ช. ฉบับแรก

           ป.ป.ช. มีหนังสือลงวันที่ 30 เม.ย. 2555   ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือก

          หนังสือดังกล่าว ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำการศึกษา ติดตาม และเฝ้าระวังการทุจริต ซึ่งมีผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวข้าวเปลือกอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยได้เชิญผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายข้าวและส่งออก มาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง รวมทั้งพิจารณาจากพฤติการณ์ ที่ปรากฎต่อสาธารณะทางสื่อมวลชนต่างๆ แล้วพบว่า การดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือก ยังคงก่อให้เกิดปัญหาด้านต่างๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตทั้งในเชิงนโยบาย และในส่วนของขั้นตอนและกระบวนการในการดำเนินโครงการ

              ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกบังเกิดประโยชน์และเป็นธรรมแก่เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริต รวมทั้งเป็นการป้องกันการทุจริตและป้องกันมิให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกก่อให้เกิดความสูญเสียด้านงบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้นได้

             คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้ว จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตกรณีการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือกต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

           เปิดหนังสือ ป.ป.ช.-สตง. เตือน ‘ยิ่งลักษณ์’ จำนำข้าว 

            1. การดำเนินการตามนโยบายยกระดับราคาข้าว

           คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ควรพิจารณา ดังนี้

          1) กำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรรับภาระอยู่ โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล และไม่บิดเบือนกลไกตลาด

         2)ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตข้าว

         2. การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

         (1) การขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกร

          1)นอกเหนือจากการกำหนดให้มีกระบวนการทำประชาคม และให้ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรองเกษตรกรแล้ว ให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เฉพาะเกษตรกรซึ่งเพาะปลูกข้าวจริงและสุจริตเท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล

         2) กำหนดให้มีมาตรการลงโทษที่เหมาะสมและจริงจังกับเกษตรกรที่ไม่สุจริต

        (2) การระบายข้าวสารจากคลังสินค้าของรัฐบาล

        1)เพื่อมิให้ข้าวที่ได้มาจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2554/55 ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณของรัฐเป็นจำนวนมาก อันมีผลเนื่องมาจากการเก็บรักษาข้าวเป็นเวลานาน ส่งผลให้ข้าวเกิดความเสียหาย เสื่อมคุณภาพ สูญเสียน้ำหนัก และเป็นการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงสมควรมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหรือที่เกี่ยวข้อง กำหนดแผนการบริหารจัดการการระบายข้าวที่ิเก็บรักษาไว้ในโกดังกลางอย่างเป็นระบบ การปิดบัญชีโครงการฯ พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินการหรือที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามแผนดังกล่าวได้ ให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาโดยเร็วและต่อเนื่อง

         2)หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดในการดำเนินการระบาย หรือจำหน่ายข้าวที่อยู่ในคลัง หรือโกดังกลางซึ่งอยู่ในความดูแลและรับผิดชอบขององค์การคลังสินค้า (อคส.) หรือ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ให้ประกาศโดยเปิดเผยเป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไป และดำเนินการด้วยความโปร่งใส

        3.การติดตามและประเมินผลโครงการ

        ให้รัฐบาลติดตามและประเมินผลโครงการฯ อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจให้องค์กรเอกชนศึกษาผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการรับจำนำ แล้วนำมาพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

         ต่อมาหนังสือแจ้งเตือนของ ป.ป.ช.ฉบับนี้ มีการนำเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อ 19 มิ.ย. 2555 

       **หนังสือ ครม.ชี้แจงต่อ ป.ป.ช. เรื่องโครงการรับจำนำข้าว **

           ต่อมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี  มีหนังสือลงวันที่  22 มิ.ย. 2555   ส่งถึง ป.ป.ช. มีใจความว่า ตามที่ ป.ป.ช. ได้เสนอเรื่องข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือกเพื่อดำเนินการนั้น   ครม.เมื่อ 19 มิ.ย. 2555  ยืนยันว่า การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือก มีวัตถุประสงค์ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการยกระดับราคาพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรในชนบทตามแนวนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ยืนว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีมาตรการและกลไกในการควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบการตรวจสอบให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้

           แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการทั้งในระดับพื้นที่และในระดับปฏิบัติการมีประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริต ครม.จึงมอบหมายให้ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ สั่งการให้หน่วยงานในกำกับดำเนินการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในระดับปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ให้ความร่วมมือ หากตรวจสอบพบกรณีทุจริตให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

          * ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งเตือน ครม.ฉบับที่สอง 

          ต่อมา ป.ป.ช. มีหนังสือแจ้งเตือนฉบับที่ 2   แต่คราวนี้ถึงขั้นสั่งให้ยุติการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว  โดยหนังสือระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวจะก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย

          * สตง. ส่งหนังสือเตือน‘ยิ่งลักษณ์’ 4 ครั้ง *

          ด้านสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือ จำนวน 4 ฉบับ แจ้งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯในขณะนั้น เพื่อให้พิจารณาเกี่ยวกับปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับโครงการรับจำนำข้าว  ดังนี้

         1. หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนที่สุด ลงวันที่  24  ส.ค.  2554   เรื่องสรุปประเด็นปัญหาและความเสี่ยงสำคัญที่พบจากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

        2. หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนที่สุด  ลงวันที่ 9 ม.ค. 2555     เรื่อง ปัญหาและความเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว

        3. หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนที่สุด ลงวันที่  10  ก.ย. 2555   เรื่อง ปัญหาและความเสี่ยงสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

        4. หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนที่สุด ลงวันที่  30  ม.ค.  2557  เรื่อง การตรวจสอบและศึกษาวิเคราะห์โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล และรายงานการตรวจสอบและศึกษาวิเคราะห์โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล

          โดยสรุปสาระสำคัญของหนังสือจาก สตง.ทั้ง 4 ฉบับ ระบุว่า กระบวนการในโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด ชาวนาจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์ มีชาวนาเฉพาะเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินเท่านั้นได้ประโยชน์ ชาวนายากจนได้ประโยชน์เพียงร้อยละ 18 สะท้อนว่าโครงการนี้ไม่มีประโยชน์สำหรับชาวนาที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง นโยบายนี้จึงไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ 

           หนังสือ สตง. ยังมีการอ้างถึงงานวิจัยของดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จาก TDRI ซึ่งพบว่าโครงการจำนำข้าวมีปัญหาทำให้ราคาข้าวบิดเบือน ก่อให้เกิดทุจริต 

           โดยสรุป ทั้งป.ป.ช.และสตง.เห็นตรงกันว่า ต้องหยุดนโยบายรับจำนำข้าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ