คอลัมนิสต์

คำนวณ“เงินชราภาพ” ประกันสังคม“คุ้ม-ไม่คุ้ม” ??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แรงงานไทย ทำงานหนัก..เหนื่อย!! กันมาทั้งชี้วิต ลอง คำนวณ“เงินชราภาพ” ประกันสังคม“คุ้ม-ไม่คุ้ม” โดย กมลทิพย์ ใบเงิน [email protected]

          ช่วงกว่า 26 ปีที่ผ่านมาแรงงานไทยกว่า 11  ล้านคน ที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการกว่า 4 แสนแห่ง ได้รับดูแลด้านการรักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ใน7กรณี ได้แก่ 1.ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2.ทุพพลภาพ 3.ตาย 4.คลอดบุตร 5.สงเคราะห์บุตร 6.ชราภาพ และ7.ว่างงานผ่าน“ระบบประกันสังคม”โดยมีกองทุนประกันสังคมเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการดูแลชีวิตแรงงานไทย ซึ่งกองทุนประกันสังคมนี้เกิดขึ้นภายใต้พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคมพ.ศ.2533

          จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.)กระทรวงแรงงาน ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 กองทุนประกันสังคมมีเงินกองทุนรวม ทั้งหมด 1.61 ล้านล้านบาท 

           นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)กระทรวงแรงงาน อธิบายว่า การลงทุนของสปส.ใน 4 เดือนแรก (ม.ค. -เม.ย.2560)ซึ่งผลการดำเนินงานกองทุนประกันสังคม มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น จำนวน 17,205 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มีผลตอบแทนจากการลงทุน ที่รับรู้แล้ว 16,525 ล้านบาท

          “ผลตอบแทนที่รับรู้แล้วใน 4 เดือนแรกปี 2560 แบ่งออกเป็นผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้และค่าธรรมเนียมการให้ยืมหลักทรัพย์ 13,493 ล้านบาท และเงินปันผลและกำไรจากตราสารทุน และหน่วยลงทุน 3,712 ล้านบาท” นพ.สุรเดช กล่าว

          ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2560 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวม 1.61 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้เอกชน จำนวนประมาณ 1.30 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 81 และ ลงทุนหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้อื่น หน่วยลงทุน และหุ้นสามัญ จำนวน 0.31 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 19 

          ทั้งนี้ ในปี 2559 ผลตอบแทนจากการลงทุน 4 เดือนแรก เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 (ม.ค.–เม.ย.2560) ผลตอบแทนจากการลงทุนของสำนักงานประกันสังคมเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2559 ถึง 680 ล้านบาท

          “การลงทุนของกระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคมเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม โดยความเห็นชอบ ของกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมได้นำดอกผลสะสม ไปใช้ในการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ประกันตน โดยไม่ได้จัดเก็บเงินสมทบเพิ่มแต่อย่างใด”นพ.สุรเดช ระบุ

           เหนืออื่นใด การเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น มาจาก 3 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้างจ่ายเงินสมทบ ในอัตราร้อยละ 5 เท่ากัน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล จ่ายร้อยละ 2.75

คำนวณ“เงินชราภาพ” ประกันสังคม“คุ้ม-ไม่คุ้ม” ??

หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ประธานบอร์ด สปส.

           ยกตัวอย่างผู้ที่มีเงินเดือน 15,000 บาท จ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 ของเงินเดือนคิดเป็นเงิน 750 บาท นายจ้างจ่ายสมทบ 750 บาท และรัฐบาลช่วยสมทบ 412.50 บาท ซึ่งเงินลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน 750 บาท แยกออกเป็นเงิน 225 บาทดูแลสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร และ 75 บาท ดูแลสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน อีก 450 บาทเป็นเงินออม“กรณีชราภาพ”

          เกณฑ์การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ให้แก่ผู้ประกันมาตรา 33 และมาตรา 39 แบ่งเป็น 2 รูปแบบได้แก่ 1.เงินบำเหน็จชราภาพให้เป็นเงินก้อนเดียวแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนไม่15ปี ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง หรือตาย หรือทุพพลภาพ และ2.เงินบำนาญชราภาพให้เป็นเงินรายเดือนแก่ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนครบ 15 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

           ผู้ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมานาน 15 ปี แต่อายุไม่ถึง 55 ปีบริบูรณ์มารับเงินบำนาญชราภาพได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และหากผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน หรือ 5 ปีนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพให้เงินบำนาญชราภาพตกเป็นของลูกหลานผู้ประกันตน โดยจะได้รับในรูปแบบของเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือน ที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

คำนวณ“เงินชราภาพ” ประกันสังคม“คุ้ม-ไม่คุ้ม” ??

                 เปิด 3 สูตรได้รับ“เงินชราภาพ"

           สูตรที่1.กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 12 เดือน หรือ 1 ปี จะได้รับ“เงินบำเหน็จชราภาพ”เป็นเงินก้อนจำนวนเท่ากับ“เงินสมทบ”ส่วนที่ส่ง“สมทบจริง”กลับคืนไปยกตัวอย่างกรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป ส่งสมทบเดือนละ 450 บาท หากสมทบ 10 เดือน จะได้รับ “เงินบำเหน็จชราภาพ”จำนวน 450 คูณ 10 เท่ากับ 4,500 บาท

           สูตรที่2.กรณีส่งเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ครบ 15 ปี จะได้รับ“เงินบำเหน็จชราภาพ”จำนวนเท่ากับ“เงินสมทบ”ส่วนที่ลูกจ้างส่งและ“นายจ้างจ่ายสมทบ”กลับคืนไป บวกดอกผลจากการลงทุนในช่วงเวลาที่ลูกจ้าง ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามที่สปส.กำหนด

            ยกตัวอย่างกรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ 10 ปี จะมีสิทธิได้รับ“เงินบำเหน็จชราภาพ”จำนวน 450 คูณ 2 คูณ 12 เดือน คูณ 10 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 108,000 บาท อาจจะได้มากกว่านี้หากรวมดอกผลจากการลงทุนของสปส.

          สูตรที่3. กรณีส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี จะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม จะได้รับเงิน “บำนาญชราภาพ” จ่ายเป็นรายเดือน และได้รับไปตลอดชีวิต โดยเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับ คำนวณตามสูตรเท่ากับร้อยละ 20 ของเงินเฉลี่ย 60 เดือน หรือ 5 ปีสุดท้าย และทุกๆ 12 เดือนหรือ 1 ปีที่สมทบเพิ่ม (คือนับตั้งแต่ปีที่ 16 เป็นต้นไป) จะได้“รับโบนัส”ในส่วนเพิ่มเท่ากับ ร้อยละ 1.5 ของเงินเดือนเฉลี่ย

           ยกตัวอย่างกรณีเงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไป และส่งเงินสมทบเข้ากองทุนกรณีชราภาพ 15 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 15,000 คูณร้อยละ 20 เท่ากับ 3,000 บาทต่อเดือน หรือหากส่งเงินสมทบ 30 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพจำนวน 15,000 คูณร้อยละ 20 บวก 15,000 คูณ 15 ปีที่ส่งเงินสมทบเพิ่ม คูณร้อยละ 1.5 เท่ากับ 3,000 บวก 3,375 เท่ากับ 6,375 บาทต่อเดือน

              คำนวณ“เงินชราภาพ” ประกันสังคม“คุ้ม-ไม่คุ้ม” ??    

                สูตรคำนวณ“เงินชราภาพ"

           จากการคำนวณของสปส.ตามสูตรที่ยึดฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน15,000 บาท แม้ผู้ประกันตนมีเงินเดือน 30,000 บาท หรือ 40,000 บาท หรือ 50,000 บาท สปส.ก็ยึดฐานเงินเดือนดังกล่าว มาใช้ในการคำนวณ เช่น ผู้ประกันตนเงินเดือน 9,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละประมาณ 1,800 บาท,เงินเดือน 10,000 บาทจะได้รับเดือนละ2,000 บาท,เงินเดือน 12,000 บาท จะได้รับเดือนละ 2,400 บาท,เงินเดือน 15,000 บาทขึ้นไปจะได้รับเดือนละประมาณ 3,000 บาท

คำนวณ“เงินชราภาพ” ประกันสังคม“คุ้ม-ไม่คุ้ม” ??

นพ.สุรเดช  วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. 

        ทั้งนี้ ผู้ประกันตนแต่ละคนอาจจะได้รับ“เงินบำนาญชราภาพ”ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ“ระยะเวลา”ที่ส่งเงินสมทบ และค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ก่อนเกษียณการทำงาน

          ว่ากันว่า ทิศทางการจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ ยุค“ม.ล.ปุณฑริก  สมิติ”ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.)หลังคำสั่งคสช.ที่40/3558 เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2558 นั้น ได้ชูธงให้“สำนักงานประกันสังคม”ก้าวสู่องค์กรอิสระ เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร การลงทุน รองรับมาตรา 39 ผู้ประกันตนจะเกษียณหลุดไปใช้สิทธิ “บัตรทอง” รวมถึงผู้ประกันตนตามมาตรา 40

          “แรงงานไทย"ชีวิตดีมีคุณภาพ หลังรับ"เงินชราภาพ"กับประกันสังคม“คุ้ม-ไม่คุ้ม”? ณ เวลานี้็ ขอให้ผู้ประกันตน รีบยื่นเรื่องรับเงินชราภาพกันก่อนรัฐขยายเงินชราภาพ 55 ปี เป็น 60 ปี เน้อ!!

          อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

         *ขยายเงินชราภาพ55ปีเป็น60ปี  ใครได้ : ใครเสีย?

         *ว้าววว "ประกันสังคม"มีเงินลงทุน 1.61 ล้านล้านบาท

          *เฮ!! ผู้ประกันตน ม.40 ใช้สิทธิ"บัตรทอง"ได้

 

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ