คอลัมนิสต์

“9ของฟรี”ช่วยคนจนลงทะเบียน2560

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมข่าวรายงานพิเศษ

     ผ่านไปแล้วเกือบ 1 ปี หลังจากรัฐบาล คสช. สั่งให้กระทรวงการคลังจัดทำ “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ลงทะเบียนคนจน”  รอบแรกปี 2559 ลงทะเบียน 8.3 ล้านคน และรอบที่ 2 ปี 2560 เพิ่มเป็น 14 ล้านคน

     การลงทะเบียนตามนโยบายนี้ ต้องลงทุกปี ไม่ใช่ลงครั้งเดียวจบ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 8.3 เป็น 14 ล้านคน หมายความว่าประชากรไทยเกือบ 70 ล้านคนนั้น ร้อยละ 20 เป็นผู้มีรายได้เดือนละไม่ถึง 8 พันบาท หากเป็นเกษตรกรก็ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง หรือถ้ามีก็ไม่เกิน 10 ไร่ !

“9ของฟรี”ช่วยคนจนลงทะเบียน2560

     การคัดกรองผู้มาลงทะเบียนครั้งนี้เป็นไปอย่างเคร่งครัด เฉพาะรอบแรกผู้ไม่ผ่านเกณฑ์คนจนมากถึง 5 แสนกว่าคน

     ตัวเลขผู้มาลงทะเบียนครั้งนี้สูงกว่าปีที่แล้ว 5.7 ล้านคน เพราะรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า “แจกจริง” โอนเงินสดๆ ส่งเข้าบัญชีให้เป็นของขวัญปีใหม่ ใครรายได้น้อยไม่ถึง 3 หมื่นได้ 3 พันบาท ส่วนที่เหลือได้ 1,500 บาท สรุปได้ว่ารัฐบาลแจกเงินผู้ขึ้นทะเบียนรอบแรก 7.5 ล้านคน ไปทั้งสิ้น 1.74 หมื่นล้านบาท

     ในวันนี้ผู้ลงทะเบียนกว่า 14 ล้านคน กำลังนั่งรอ “บัตรสวัสดิการ” ที่รัฐบาลจะส่งให้พกติดตัวไว้ พร้อมลุ้นระทึกปี 2560 มีสวัสดิการหรือมาตรการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่?

 

     ทีมข่าวรายงานพิเศษตรวจสอบนโยบาย “สวัสดิการแห่งรัฐ” ของแต่ละกระทรวง ทำให้พบว่ามีอย่างน้อย 9 มาตรการโครงการฟรี ที่กำลังเร่งพิจารณาเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจว่าเอาไม่เอา ได้แก่

     1.“มาตรการโอนเงินสดเพิ่มรายได้”  อาจมีการโอนรอบที่ 2 หลังจากโอนรอบแรกไปแล้ว 1.7 หมื่นล้านบาท มาตรการนี้ไม่ซับซ้อนได้ผลทางจิตวิทยา จ่ายจริง เห็นเงินจริงในบัญชี แต่อาจไม่ได้ผลในแง่ความยั่งยืนหรือช่วยให้มีอาชีพประจำมีรายได้เลี้ยงครอบครัวในระยะยาว

     2.“กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” เป็นข้อเสนอจากกระทรวงการคลัง เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านระดับฐานราก รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว 5 หมื่นล้าน โดยกำหนดวัตถุประสงค์จัดตั้งกองทุน 5 ข้อ ได้แก่ 1.ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน 2.พัฒนาอาชีพในชุมชน  3.ลดความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน 4 จัดหาที่อยู่อาศัย แก้ปัญหาที่ดินทำกิน และ 5.จัดหาหลักประกันความเสี่ยงด้านรายได้ให้ประชาชน

     3.“ขยายเวลารถเมล์-รถไฟฟรี” มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊สหุงต้ม รวมถึงลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง รถไฟฟ้า ที่ผ่านมาค่อนข้างถูกใจชาวบ้าน และในปีนี้จะเพิ่มการลดค่าโดยสาร “รถทัวร์ระหว่างจังหวัด” เพราะที่ผ่านมามีแต่คนในกรุงเทพฯ ได้รับประโยชน์จากรถเมล์ฟรี แต่ปีนี้คนต่างจังหวัดมีสิทธิขึ้นรถทัวร์ราคาถูกด้วย โดยรัฐบาลตั้งวงเงินชดเชยไว้เฉพาะรถเมล์ ขสมก. 1.9 พันล้านบาท ส่วนรถไฟอีก 1.8 พันล้านบาท ผู้มีรายได้น้อยต้องรอใช้บริการนี้ผ่าน “บัตรสวัสดิการ” ในช่วงเดือนตุลาคม

       4.“จัดสรรที่ดินทำกินฟรี” กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ “คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ” จัดทำโครงการอนุมัติที่ดินกว่า 1 แสนไร่ เตรียมมอบเป็นที่ทำมาหากินในกลุ่มหรือชุมชนผู้มีรายได้น้อย เป็นลักษณะแปลงที่ดินรวมกัน แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน หมายความว่า ใช้ทำเกษตรได้แต่จะเอาไปซื้อขายโอนให้คนอื่นไม่ได้ คาดว่าโครงการนี้อาจมีที่ดินรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 4.5 แสนไร่ครอบคลุมพื้นที่ 55 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชาวบ้านเคยบุกรุกมาก่อน หรือเป็นที่ดินแปลงว่างเปล่า ระหว่างนี้ต้องรอ “กรมที่ดิน” แก้ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ

     5.“ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” รัฐบาลกำลังคิดวิธีใส่เงินในบัตรสวัสดิการ เสมือนเป็นวงเงินสำหรับใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเท่านั้น และต้องไปซื้อสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐที่ดำเนินการโดยกระทรวงพาณิชย์ นับเป็นไอเดียใหม่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนักวิชาการหลายคนไม่เห็นด้วยในการให้เงินสด เนื่องจากพบปัญหาเอาไปซื้อสิ่งเสพติดหรือสุรายาเมา ต้องคอยดูว่าระบบการบังคับให้ซื้อของร้านธงฟ้าจะมีรายละเอียดอย่างไร

“9ของฟรี”ช่วยคนจนลงทะเบียน2560

     6.“พัฒนาอาชีพ” กระทรวงแรงงานพยายามตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการพลิกชีวิตให้คนจนหรือคนตกงานให้มีอาชีพใหม่มั่นคง มีรายได้ช่วยยกระดับชีวิตให้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ มีการจัดเชิญนักธุรกิจภาคเอกชนมาหารือแนวทางขับเคลื่อน พร้อมจัดอบรมอาชีพต่างๆ ให้แก่ผู้ลงทะเบียนรายได้น้อย โครงการนี้ตั้งเป้าหมายฝึกอบรมให้ได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคนในปี 2560

     7.“สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ” สิ้นเชื่อนี้แม้ไม่ใช่เงินกู้ฟรี แต่ “ฟรี” เรื่องคนค้ำประกัน เพราะกระทรวงการคลังเสนอให้เป็นโครงการกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับผู้มีรายได้น้อย ไม่ต้องมีการค้ำประกัน เมื่อต้นปี 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินนโยบายนี้ผ่านทางธนาคารออมสิน 5 พันล้านบาท และธ.ก.ส. 5 พันล้านบาท รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท วัตถุประสงค์หลักให้สินเชื่อผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรรายย่อยที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจริง ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.85 ต่อเดือน หรือร้อยละ 10 ต่อปี 

     8.  “โครงการบ้านประชารัฐ” มีเงื่อนไขคล้ายสินเชื่อข้างต้น แต่เป็นสินเชื่อเพื่อกู้บ้าน กระทรวงการคลังตั้งงบประมาณไว้ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท เป็นสินเชื่อของสถาบันเงินเฉพาะกิจของภาครัฐที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น  โดยมีข้อกำหนดไว้ว่าบ้านประชารัฐต้องครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยหรือผู้มีรายได้ไม่แน่นอน ผู้มีอาชีพอิสระสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองภายใต้เงื่อนไขว่าต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพยใดๆ มาก่อน

“9ของฟรี”ช่วยคนจนลงทะเบียน2560

     ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน คณะรัฐมนตรีของ “บิ๊กตู่” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติหลักการจัดทำ “โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย” ระยะที่ 1 จำนวน 14 โครงการ รวม 4,388 หน่วย วงเงิน 2 พันล้านบาท ให้การเคหะแห่งชาติเป็นเจ้าภาพดำเนินการ แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 1,029 ยูนิต ต่างจังหวัด 3,359 ยูนิต รูปแบบเป็นอาคารสูง 3-5 ชั้น ขนาด 1 ห้องนอนประมาณ 28 ตร.ม. คิดค่าเช่าเดือนละ 1,400-2,400 บาท แม้จะไม่ฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ค่าเช่าราคานี้ก็แทบจะเหมือนอยู่ฟรีแล้ว

     9.“โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ” ต่อไปนี้คนไทยไม่ต้องกลัวโรงพยาบาลฟันค่ารักษาราคาแพงกรณีต้อง เข้าห้องฉุกเฉินอีกต่อไป เพราะใครที่ป่วยหรือมีอุบัติเหตุสามารถ เข้ารักษาในโรงพยาบาลใกล้ที่สุดได้ทันทีทั้งของรัฐหรือเอกชนโดยไม่ต้องสำรองจ่ายในระยะ 72 ชั่วโมงแรกจากนั้นค่อยตัดสินใจอยากรักษาที่เดิมต่อไปหรือย้ายไปรักษาตามสิทธิต่างๆ ที่มี โดยกลุ่มเจ็บป่วยฉุกเฉินพบบ่อย 6 กลุ่มได้แก่ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.เหงื่อแตก ตัวเย็น มีอาการชัก 4.เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด 6.ระบบหายใจผิดปกติหรือระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

      9 มาตรการข้างต้นนั้น อยู่ในช่วงจัดทำรายละเอียดและจัดสรรงบประมาณ คาดว่าไม่ต่ำกว่าหลักแสนล้านบาท

       แต่ระหว่างนี้ 14 ล้านคนที่ไปลงทะเบียนต้องลุ้นระทึกว่าจะผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติหรือไม่ ?

 เพราะกระทรวงการคลังจ้างนักศึกษา 6 หมื่นคนทั่วประเทศ ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลผู้มาลงทะเบียนว่ามีรายได้น้อยจริงหรือไม่ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ก่อนเปิดให้ตรวจสอบรายชื่อผ่านทางเว็บไซต์ www.epayment.go.th และสายด่วน 1359

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ