คอลัมนิสต์

สูตรปฏิรูปตำรวจ ของ สนช. “แก้ ตร.นอกแถว - หนุน ตร.ดี" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สนช. เสนอสูตรแก้ “ระบบตำรวจนอกแถว”  ติดCCTV - ปชช.แจ้งทุจริตผ่านเน็ต : โดย ขนิษฐา เทพจร คมชัดลึกออนไลน์

 

               จากแนวคิดการปฏิรูปประเทศ ว่าด้วยการปฏิรูปกิจการตำรวจ ให้เป็นกลไกสำคัญของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรม และถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่วางหลักประกันงานไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น

               ล่าสุด คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อศึกษาแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี “พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ สมาชิก สนช.” เป็นประธานอนุฯ ได้จัดทำรายงานเพื่อเป็นทางลัดสู่การปฏิบัติตามบัญชาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลงานตำรวจ ที่มีโจทย์ปฏิรูป 8 ประเด็น คือ 1.โอนถ่ายภารกิจ 2.ปฏิรูประบบงบประมาณ 3.จัดระบบนิติวิทยาศาสตร์ 4.ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น 5.ปฏิรูประบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย 6.สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและท้องถิ่น 7.ระบบสรรหาและระบบฝึกอบรม และ 8.ปรับปรุงการบริหารงานบุคคลอย่างมีธรรมาภิบาล

               โดยสาระของแนวปฏิบัติแต่ละด้าน ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ

สูตรปฏิรูปตำรวจ ของ สนช. “แก้ ตร.นอกแถว - หนุน ตร.ดี" 

               1.โอนถ่ายภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ตามรายงานไม่ระบุว่ามีหน่วยงานใดที่แจ้งประสงค์เพื่อรับโอน แต่มีข้อเสนอให้โอน “สตช.” ขึ้นตรงต่อ “รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม” แทนขึ้นตรงต่อ “นายกรัฐมนตรี” ด้วยเหตุผลคือ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และกำหนดให้ “สตช.” ต้องรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และวุฒิสภา เพื่อสร้างระบบตรวจสอบและกำกับ

               นอกจากนั้นเสนอให้ “สตช.” รับงานจากหน่วยงานอื่นมาดูแล คือ “การออกหนังสือเดินทาง” ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ, “โอนอำนาจการทำทะเบียนอาวุธปืน” ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ดูแล เพื่อความราบรื่นในการประสานข้อมูลในระบบยุติธรรมทางอาญา

               2.ปฏิรูประบบงบประมาณของตำรวจ ข้อเสนอถูกอ้างอิงจากการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการตำรวจ 9,927 ราย ให้ขึ้นเงินเดือนและค่าตอบแทนด้านต่างๆ เริ่มจากเพิ่มฐานให้สูงกว่าเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญ เหตุผลคือ อาชีพตำรวจมีความเสี่ยงสูงกว่า

               ข้อเสนอ คือตำรวจชั้นประทวนบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้น 13,773 บาท จากเดิม 10,760 บาท, ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรบรรจุใหม่ เงินเดือนเริ่มต้น 26,605 บาท จากเดิม 15,290 บาท ขณะที่ตำแหน่งพิเศษ และมีความเสี่ยงสูง เช่น ตำรวจจราจร, ตำรวจสายงานป้องกันและปราบปราม, สายงานสอบสวน ต้องได้รับเงินเดือนสูงกว่าฐานเงินเดือนขั้นต้น 2-3 เท่า ขณะที่พื้นที่เสี่ยงภัย มีค่าครองชีพสูง ต้องมีเงินเพิ่มพิเศษที่เหมาะสมต่อการใช้ชีวิต

               รวมถึงต้องปรับปรุงระบบสวัสดิการ เพิ่มระบบประกันชีวิต ประกันการบาดเจ็บ หรือทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ และเสนอให้จัดสรรงบประมาณเพื่อซื้ออุปกรณ์ประจำกาย อุปกรณ์การซ้อม จากเดิมที่ปัจจุบัน “อาชีพตำรวจ” จะได้รับเงินเพิ่มพิเศษ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน ไม่มีระบบประกันชีวิต มีเพียงสิทธิรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของรัฐ ขณะที่การจัดซื้ออุปกรณ์ประจำกายนั้น นายตำรวจต้องออกค่าใช้จ่ายเงินทั้งหมด เพราะอุปกรณ์ของหน่วยงานมีสภาพเก่า และมีไม่เพียงพอ

               3.ระบบนิติวิทยาศาสตร์ เสนอให้จัดหาอุปกรณ์ เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นมาตรฐานสากล รวมถึงต้องขยายงานสู่หน่วยพิสูจน์หลักฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามระดับจังหวัด และโรงพัก

               4.ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น  เสนอให้ติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ในโรงพัก, พื้นที่ให้บริการประชาชน และกำหนดให้เชื่อมสัญญาณออนไลน์ไปยังส่วนกลางของตำรวจ เพื่อใช้ตรวจสอบและควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงให้ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศออนไลน์สอดส่องการทำงานของตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ หน่วยคุมประพฤติ ทั้งนี้ได้สนับสนุนให้ประชาชนมีการแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนการไม่โปร่งใสผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

               5.ปฏิรูประบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการปรับระบบเข้าเวร เป็นระบบสอบสวนแบบบูรณาการ พร้อมเพิ่มอำนาจให้หัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนสั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการสอบสวนได้ทั้งหมด ขณะที่คดีสอบสวน เสนอให้ยกคดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน, คดีของผู้มีอิทธิพล, คดีที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ เป็นคดีที่ต้องสอบสวนเป็นกรณีพิเศษ

               นอกจากนั้นเสนอให้ ตั้ง “ทีมไทยแลนด์” เพื่อปฏิบัติหน้าที่ด่านพรมแดนระหว่างประเทศ เพื่อบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนที่จะไปถึงจุดของการมี “ทีมไทยแลนด์” ควรจ้างสถาบันการศึกษา บริษัท เพื่อศึกษา วิเคราะห์และออกแบบโครงสร้าง, กระบวนการทำงานที่เป็นมาตรฐานสากล

               6.สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและท้องถิ่น ให้แก้ไขกฎหมายส่วนของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อให้ประชาชน มีส่วนต่อการกำหนดนโยบาย งบประมาณ และระบบอาสาสมัคร รวมถึงสร้างระบบตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ 

               7.ระบบสรรหาและระบบฝึกอบรม โดยเสนอให้ “โรงเรียนนายร้อยตำรวจ” เป็นสถาบันอบรมและฝึกวิชาชีพ แทนสถาบันการศึกษา และก่อนที่ตำรวจจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ต้องจัดปฐมนิเทศ รวมถึงฝึกอบรมระหว่างทำงาน ทั้งการใช้อาวุธ ทักษะการสอบสวน และการปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน นอกจากนั้นแล้วให้ปรับสายงานตำรวจบางประเภทเป็นตำรวจไม่มียศ เช่น นิติวิทยาศาสตร์, แพทย์, พยาบาล

               และ 8.ปรับปรุงการบริหารงานบุคคลอย่างมีธรรมาภิบาล เสนอให้บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์เบื้องต้น คือ ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ผ่านการอบรมตามหลักสูตร สำหรับการโยกย้ายให้เฉลี่ยน้ำหนักระหว่างความอาวุโสกับความรู้ ความสามารถ และความประพฤติในสัดส่วน 50:50

               นอกจากนั้นในการแต่งตั้งตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำหนดคุณสมบัติต้องผ่านงานสอบสวนไม่น้อยกว่า 2 ปี และร่วมรับผิดชอบสำนวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 สำนวนคดี, ตำแหน่งหัวหน้าสถานีตำรวจหรือผู้บังคับการ หรือผู้บัญชาการได้ ต้องผ่านการดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานสอบสวนไม่ต่ำกว่า 2 ปี และรับผิดชอบสำนวนการสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 สำนวนคดี, ตำแหน่งผู้กำกับการ หรือผู้บังคับการหรือผู้บัญชาการ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ต้องมีวุฒิการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ หรือมีวุฒิปริญญาตรี และผ่านงานในตำแหน่งรองสารวัตรหรือสารวัตร หรือรองผู้กำกับการที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานหรือตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ไม่น้อยกว่า 2 ปี

               กำหนดรวมถึงให้กำหนดระดับโรงพัก เป็น 2 ระดับ คือ สถานีตำรวจระดับ 1 และสถานีตำรวจระดับ 2 (โรงพักเดิม) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งด้วย กล่าวคือ การเลื่อนตำแหน่งข้าราชการตำรวจให้สูงขึ้นครั้งแรก จากรองสารวัตร เป็น สารวัตร, จากสารวัตร เป็นรองผู้กำกับการ, จากรองผู้กำกับการเป็นผู้กำกับการ ต้องอยู่ในโรงพักระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 2 ปี และเมื่อย้ายไปสู่สถานีตำรวจระดับ 1 แล้วห้ามลดไปดำรงตำแหน่งในระดับ 2 นอกจากนั้นเสนอให้มอบสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่สอบได้ อันดับ 1 ของแต่หลักสูตรสารวัตร, ผู้กำกับ, การบริหารตำรวจชั้นสูง ไม่ต้องรอครบระยะเวลาดำรงตำแหน่ง หากมีคุณสมบัติพื้นฐานครบให้ได้รับการแต่งตั้งได้ตามรอบประจำปี

               สำหรับข้อเสนอทั้งหมดนั้น “อนุกรรมการเฉพาะกิจฯ” จะส่งเรื่องให้ “ครม.” พิจารณาพร้อมส่งต่อไปยัง “คณะกรรมการปฏิรูปกิจการตำรวจ” ที่ ครม. แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 260 กำหนด เพื่อให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการปฏิรูปกิจการตำรวจในระยะ 1 ปีต่อจากนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ