คอลัมนิสต์

อุทาหรณ์ “ต้นลุง”วิธี ตรวจ ตัด ก่อนล้มตาย !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมข่าวรายงานพิเศษ

     กรณี “ต้นลุง” หรือต้นไทรอายุกว่า 30 ปี ล้มพาดสายไฟจนทำให้เสาไฟฟ้าล้มทับหญิงโชคร้ายเสียชีวิตที่ถนนชิดลม เมื่อเช้าวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา นั้น สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์บางอย่างของ“บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาเตือนหลายครั้งแล้วว่า ขอให้หน่วยงานรัฐบูรณาการสร้าง “หมอต้นไม้” เพื่อบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองให้สวยงามระดับเดียวกับนานาชาติ…

     เมื่อไม่มีใครสนใจคำสั่งของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหตุการณ์สลดใจข้างต้นจึงเกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นแล้วซ้ำอีก เนื่องจากการขาดความรู้ความเข้าในการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่

     “อาจารย์ป้อม” ธิติ วิสาลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ หนึ่งในทีมรุกขกรหรือทีมหมอเชี่ยวชาญด้านต้นไม้ใหญ่ ผู้ลงไปสำรวจพื้นที่เกิดเหตุในเช้าวันนั้นอธิบายให้ฟังว่า “ต้นลุง” เป็นต้นไทรที่อายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี สาเหตุที่ล้มมี 4 ปัจจัยเกี่ยวเนื่องกัน ได้แก่

      1.รากแก้วของต้นไม้ที่เป็นหลักยึดสำคัญชั้นใต้ดินขาดหายไป หมายถึงเป็นรากเน่าตายไปนานแล้ว แต่ที่ต้นไม้ยังยืนต้นอยู่ได้ เพราะว่ามีรากแขนงช่วยแผ่ออกไปด้านข้างรอบๆ ยึดเหนี่ยวลำต้นไว้ 2 รากแขนงที่ยึดไว้นั้น มีฝั่งหนึ่งถูกบล็อกหรือถูกกีดขวางกั้นด้วยพื้นถนนปูนซีเมนต์ ทำให้รากแขนง 2 ฝั่งไม่สมดุลกัน “ต้นลุง” จึงกลายเป็นต้นไม้เอนเอียงไม่ตั้งตรงมาหลายสิบปี 3 พื้นดินบริเวณนั้นมีลักษณะตื้นเขินทำให้น้ำใต้ดินท่วมขังสะสม รากมีลักษณะหลวมไม่แน่นเหนียวแข็งแรง 4 ต้นลุงเป็นสกุลไม้ไทร ลักษณะใบไม้ด้านบนจะหนาแน่นไม่โปร่งโล่ง เมื่อมีฝนตกหนักจึงสะสมอุ้มน้ำไว้ด้านบนจำนวนมาก

     “ในวินาทีนั้นปัจจัยทั้งหมดประจวบเหมาะกัน รวมถึงฝนที่ตกหนักก่อนหน้านี้ ทำให้ต้นไทรล้มลงมา น่าเสียดายเพราะไม่มีใครสังเกตว่าต้นนี้ไม่มีรากแก้วนานแล้ว น้ำใต้ดินท่วมขังก็ไม่มีการระบาย”

       เมื่อตั้งคำถามว่า “ต้นลุง” จะเป็นอุทาหรณ์ป้องกันไม่ให้เกิดกรณีต้นไม้ใหญ่ล้มทับแบบนี้ขึ้นอีกได้หรือไม่ ?

     อาจารย์ป้อมตอบว่า “ได้แน่อน” เพียงแต่ว่าเจ้าของหรือผู้อาศัยอยู่บริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่เมื่ออาศัยร่มเงาของพวกเขาให้ร่มเย็นแล้ว ก็ควรช่วยกันดูแลรักษาปกป้องให้พวกเขาเป็นต้นไม้ที่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วย วิธีการสังเกตง่ายๆ คือ

     1.ต้นไม้ใหญ่ที่เห็นอยู่นั้น มีลักษณะของกิ่งผุหรือกิ่งไม้แห้งหรือไม่ หรือมีกิ่งไม้ร่วงตกจำนวนมากผิดปกติหรือเปล่า ถ้ามีแสดงว่าต้นไม้เริ่มมีอาการเปราะบาง ไม่แข็งแรง ควรรีบหาวิธีดูแลหรือแจ้งกรมป่าไม้

     2.คอยสังเกตว่าต้นไม้ใหญ่มีลักษณะลำต้นเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งอย่างผิดปกติหรือไม่ บางครั้งต้นไม้จะเอนบ้างตามทิศทางความสมดุลระหว่างรากแขนงกับยอดไม้ หรือวิธีการตัดตบแต่งของต้นไม้แต่ละชนิด กรณีของต้นลุงนั้น เมื่อรากแก้วไม่มี และรากแขนงอีกฝั่งหนึ่งมีถนนปูนซีเมนต์กีดขวางอยู่ ทำให้เสียสมดุลอย่างหนัก แต่สามารถแก้ไขได้จากการตัดแต่งกิ่งยอดไม้ด้านบน

     “น่าเสียดายที่ไม่มีใครสังเกตว่าต้นลุงนั้นมีรากแขนงลอยโผล่เหนือพื้นดินขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แสดงให้เห็นว่าต้นไม้ด้านล่างเสียสมดุลอย่างรุนแรง มีแนวโน้มที่จะโค่นล้มได้ง่าย ประกอบกับลักษณะดินอุ้มน้ำไม่สามารถยึดเหนี่ยวต้นลุงไว้ได้ จากการสำรวจพื้นที่บริเวณนั้นเพิ่มเติม เห็นว่ามีต้นจามจุรีอีกหลายต้นที่น่าเป็นห่วง มีปัญหาคล้ายๆ กัน สภาพผุกร่อน ควรประสานเจ้าของต้นไม้ขอให้รุกขกรเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน”

     อาจารย์ป้อมยอมรับว่า รุกขกรหรือผู้เชี่ยวชาญในการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ของประเทศนั้นยังมีอยู่จำนวนน้อยมากอาจไม่ถึง 10 รายด้วยซ้ำไป เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีหลักสูตรการเรียนการสอนหรือการให้ใบรับรอง “รุกขกร” มาก่อน และประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่รักและผูกพันธุ์กับต้นไม้ เพียงแต่ไม่มีความรู้ว่าต้องรักษาต้นไม้ใหญ่ให้เติบโตอย่างสมดุลอย่างไรโดยเฉพาะในเมืองหลวงที่มีพื้นที่จำกัด ปัจจุบันกรมป่าไม้ก็กำลังจะเตรียมสร้างหลักสูตรรุกขกรพร้อมใบรับรอง โดยระหว่างนี้มีการจัดอบรมเป็นระยะๆ

     “รุกขกร” (Arborist) หมายถึงผู้ที่ศึกษาเทคนิคดูแลตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ ไม่ใช่ว่าใครมีบันไดกับเลื่อยเหล็กก็ปีนไปตัดกิ่งไม้ได้ทุกชนิดแบบหั่นด้วน บั่นยอด กุดกิ่ง หรือถ้าอยากประหยัดก็สั่ง “ตัดโกร๋น” ไปเลย ถือเป็นการทำร้ายต้นไม้อย่างรุนแรง เนื่องจากต้นไม้แต่ละสกุลมีความชอบแตกต่าง ความต้องการแสงแดดเพื่อสังเคราะห์อาหารก็ไม่เท่ากัน ดังนี้จึงต้องอาศัยรุกขกร หรือผู้มีใบรับรองว่าเป็นรุกขกร (Certified arborist)

     โดยผู้จะได้ใบรับรองเป็นรุกขกรได้ต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวอุปนิสัยต้นไม้ใหญ่แต่ละชนิด วิธีป้องกันโรคและแมลง เทคนิคการตัดแต่งทำศัลยกรรมต้นไม้ ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของต้นไม้ที่อยู่บนดินและใต้ดิน รวมถึงระบบนิเวศวิทยาต่างๆ

       “บิ๊กตู่” เคยพูดสนับสนุนให้ประเทศไทยมี “รุกขกร” อย่างจริงจังเมื่อปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนเรื่องนี้เงียบหายไป ยังไม่ถูกผลักดันเป็นนโยบายเร่งด่วน

     ย้อนไป 10 มิถุนายน 2559 บิ๊กตู่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่าด้วยเรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่ในเมือง โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

     อย่าคิดว่าการดูแลต้นไม้ใหญ่เป็นเรื่องเล็ก เพราะต้นไม้กว่าจะโตต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะโตเป็นต้นใหญ่ได้ การตัดต้นไม้แบบบั่นยอด ตัดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย ตลอดจนการที่จะต้องทำลายอุโมงค์ต้นไม้มีวิธีการมากมาย เช่น เปลี่ยนเส้นทาง แทนตัดต้นไม้ทิ้ง หรือไม่ก็ต้องใช้วิธีการดูแลการตัดต้นไม้อย่างมีศิลปะ เพื่อจะอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ไว้ ตอนนี้สั่งการให้ช่วยกันสร้างระบบการจัดการบริหารต้นไม้ในเมืองแบบที่นานาชาติทำในหลายๆ ประเทศ เอาความรู้ด้านรุกขกรรมมาใช้ ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด กรมทางหลวง รวมถึงกรมทางหลวงชนบท กระทรวงพลังงาน เพิ่มตำแหน่งรุกขกร หรือหมอต้นไม้ มาทำหน้าที่นี้

       "ผมขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงานได้มีการบูรณาการในการแก้ปัญหาร่วมกัน ปัญหาไม่สามารถจะแก้ได้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ต้องร่วมมือกันในกิจกรรมเดียวกัน อาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายในเชิงบูรณาการ หรือดูแลในเรื่องของการจัดทำระบบผังเมืองที่เหมาะสม วันนี้เราเวนคืนที่สำหรับทำถนน ทำทางรถไฟ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการปักเสาไฟฟ้า หรือปลูกต้นไม้อะไรต่างๆ ก็ปลูกเข้าไปพื้นที่ก็เล็ก พอโตก็ต้องตัดทิ้ง นั่นแหละปัญหาต้องแก้ตั้งแต่ต้นเหตุว่าจะต้องทำอย่างไรให้ลงตัว อาจจะต้องมีการจ้างคนตัดแต่งต้นไม้ ให้สวยงามมีศิลปะ ไม่ใช่จ้างใครก็ได้มาตัดต้นไม้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีคนที่เรียกว่า รุกขกร ออกแบบตัดให้เป็นศิลปะ มีช่องให้สายไฟลอดได้อย่างไร การปลูกต้นไม้ทุกคนก็อยากจะปลูก อยากจะช่วย อยากจะทำ แม้กรมป่าไม้ หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะหาพันธุ์ไม้มาให้ปลูก แต่ต้องใช้หลักการด้วย"

     นับว่าบิ๊กตู่ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเพื่อประเทศไทยในอนาคต แต่ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเพิกเฉย หากทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนสำรวจตรวจตราดูแลต้นไม้ใหญ่ของตนเองอย่างถูกวิธี กรณีผู้เสียชีวิตจาก “ต้นลุง” อาจจะไม่เกิดขึ้น

       ในระหว่างที่รอหน่วยงานรัฐบูรณาการหาวิธีสำรวจดูแลต้นไม้ใหญ่ตามคำสั่งบิ๊กตู่นั้น หากประชาชนคนใดพบเห็นหรือเจอต้นไม้ใหญ่ลักษณะลำต้นเอนเอียงหรือกิ่งไม้ผุกร่อนคล้ายต้นไม้ไม่แข็งแรง สามารถติดต่อขอให้ “สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้” กรมป่าไม้ มาช่วยตรวจเบื้องต้นได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2561-4292-3 ต่อ 5477

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ