คอลัมนิสต์

สื่อออนไลน์ฉงน ก.ม.ตีทะเบียน...คนไทยเกินล้านพร้อมจะทำผิด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สื่อออนไลน์-บล็อกเกอร์ ตั้งคำถามถึงความชัดเจนกฎหมายปฏิรูปสื่อ หลังทาง สปท.ระบุ จะให้ทุกสื่อที่เข้านิยามต้องมีใบอนุญาต//โดย อศินา พรวศิน เดอะเนชั่น

     เป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันที หลังจากที่คณะกรรมาธิการของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ได้ให้คำอธิบายขอบเขตร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ฟังดูดีแต่จริงๆ ก็คือกฎหมายคุมสื่อ ให้ครอบคลุมถึงสื่อออนไลน์ ซึ่งหมายรวมถึงเว็บเพจที่จะต้อง “ขึ้นทะเบียน” ตามกฎหมายใหม่ รวมทั้งเว็บไซต์ที่มีรายได้ จากทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย

     ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง บล็อกเกอร์ nuttaputch.com กล่าวว่า นิยามสื่อวันนี้ไม่เหมือนเดิม การมีเฟซบุ๊กเพจ เว็บไซต์ ก็เป็น “สื่อ” ในบริบทอยู่แล้ว แต่ทีนี้ต้องกลับไปดูว่า พ.ร.บ.ใหม่นี้พูดถึง “การประกอบอาชีพสื่อ” หรือเอาทุกสื่อ เพราะสเกล(ขนาด)มันคนละแบบ อย่างแม่ค้าเปิดเฟซบุ๊กเพจ อันนี้คือใช้เพจเป็นช่องทางการขายของและจำหน่ายสินค้า

     ต้องไปดูนิยามของ พ.ร.บ.ว่า “ประกอบอาชีพสื่อ” หมายถึงอะไร ลักษณะที่บอกว่า “ประกอบอาชีพ” คืออะไร

     ถ้าเจตนาคือการกำกับ ดูแล ตรวจสอบ และคุ้มครอง สื่อที่ “ทำอาชีพ” นำเสนอข่าวสารข้อมูลให้สังคมในวงกว้าง ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่ แต่ถ้าจะบอกว่าทุกเพจต้องไปรายงานตัว อันนี้ก็คงจะไม่ใช่เพราะไม่ใช่ทุกเพจที่ทำอาชีพสื่อ

     “หลักการมันมีเหตุผล แต่ต้องดูในรายละเอียดและต้องถกกันเยอะ ตรงนี้ถ้าจะผลักดันจริงอยากให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้คนที่เป็น Thought leader ในสังคมออนไลน์เข้าไปร่วมด้วย เพื่อทำให้ พ.ร.บ.นั้นเป็นเหตุเป็นผล และร่วมสมัย คือจะบอกว่าไม่ต้องกำกับดูแลก็คงไม่ใช่ เพราะถ้าเกิดเว็บไหนเขียนข่าวมั่วซั่ว ปลุกระดมคน ให้ข้อมูลผิดๆ ขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ”

     “สำหรับผม สาระสำคัญคือการดูว่าสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่จะเสพสื่อนั้นเป็นอย่างไรมากกว่า คำนี้กว้างเลย รัฐควรอธิบายให้ชัดว่า “สื่อ” ที่จะกำกับดูแลใน พ.ร.บ.นี้คืออะไร “ประกอบอาชีพสื่อ” ​แปลว่าอะไร เพราะไม่อย่างนั้นเพจหมาแมว อะไรมันก็สื่อล่ะครับ”

     บล็อกเกอร์ ณัฐพัชญ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แต่ข้อหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือบริบทของสื่อและการประกอบอาชีพสื่อในวันนี้มันกว้างและต่างไปจากเดิมเยอะ การจะร่าง พ.ร.บ.นี้ต้องร่างโดยคนที่มีความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีต่อทุกฝ่าย เพราะการจำกัดบังคับมากเกินจำเป็นก็ทำลายโอกาสและการพัฒนาได้เหมือนกัน มันเลยเป็นเหตุผลที่บอกว่าควรเอาคนที่ชำนาญและเข้าใจเรื่องนี้เข้าไปมีส่วนร่วม

     ขจร เจียรนัยพานิชย์ บล็อกเกอร์ Khajochi.com กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในมุมของการควบคุมสื่อ รวมถึงการตีความว่าใครคือสื่อบ้างในโลกออนไลน์ มันยากมากที่จะหาคำจำกัดความและบอกว่า คนนี้คือสื่อ คนนี้ไม่ใช่ ในโลกออนไลน์

     “ในหลายประเทศที่เจริญแล้วก็ไม่ได้มีการให้สื่อออนไลน์ต้องมีใบอนุญาตอะไร เพียงแต่มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้วว่าเนื้อหาแบบใดที่ถูกหรือผิด”

     ขณะที่ ปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ kapook.com กล่าวว่า ในโลกยุคใหม่นี้ใครๆ ก็เป็นผู้รายงานข่าวได้ มีนักข่าวพลเมืองเกิดขึ้นมากมายคอยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ที่ใช้งานง่าย ใครๆ ก็สามารถสร้างสื่อของตัวเองขึ้นมาได้ ทำให้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้รับข่าวสารมีทางเลือกที่มากขึ้นแต่ก็มีโอกาสเกิดข่าวลวง ข่าวปลอมได้มากขึ้นเช่นกัน แนวโน้มการแก้ปัญหาจากต่างประเทศคือ ให้ผู้ประกอบการสื่อดิจิทัลเร่งสร้างกลไกในการให้สังคมช่วยกันตรวจสอบและรายงานข่าวปลอมเหล่านี้

     มาตรการเสริมพลังทางสังคมให้เป็นทั้งสื่อและตรวจสอบสื่อกันเองจึงเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในโลก แต่ถ้าเราเลือกใช้มาตรการในทางตรงข้าม เช่น ตั้งกลไกที่รัฐเข้ามามีส่วนควบคุมได้ การจำกัดความสามารถในการที่ใครๆ ก็รายงานข่าวได้ด้วยการให้มาขึ้นทะเบียน ใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก จะทำให้คนไม่กล้าเขียนรายงานข่าวโดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิ์ต่างๆ จึงอยากให้ทบทวนมาตรการปฎิรูปสื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาของสังคมโลกด้วย

     ขณะที่ อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า กรรมการสมาคมยังเห็นความไม่ชัดเจนหลายอย่างในร่างกฎหมายนี้ คือ 1.สื่อต้องมีใบอนุญาต หรือไม่ 2.หากต้องมี สื่อแบบไหนที่เข้าข่ายต้องมีใบอนุญาต 3.หากต้องมีใบอนุญาต ใครควรเป็นผู้ออกใบอนุญาต 4.หากต้องมีใบอนุญาต ใบอนุญาตควรใช้กับใคร นิติบุคคลหรือบุคคล จึงอยากให้รัฐชี้แจงรายละเอียดเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อน

     “หนุ่ย” พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เว็บแบไต๋และแบไต๋ไลฟ์สดทันทีที่มีเรื่อง “ความเห็นผมคือผมยินดีทำตามกฎ เปิดเมื่อไหร่ผมไปขอใบอนุญาตแน่นอน แต่ผมก็มั่นใจว่า ‘คนไทยเกินล้านก็พร้อมจะทำผิด’ เพราะแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไม่ยืนยันตัวตนคัดกรองให้แน่ๆ คนที่ทำตามกฎก็คือคนบนดินที่เห็นๆ กันอยู่ ส่วนคนใต้ดินก็สบาย”

     ในมุมของ “นันท์ชวิชญ์ ชัยภาคย์โสภณ” Blogger yokekungworld มองว่า สื่อออนไลน์ก็คืออีกช่องทางของการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้เขียน ผู้นำเสนอข่าว จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองเขียนอยู่แล้วตามจรรยาบรรณของสื่อโดยทั่วไป แต่ การมีกรอบจะช่วยลดในมุมการใช้แนว Clickbait หรือทำให้สังคมตื่นตระหนกได้ โดยควรมีการลงทะเบียน เหมือนลงทะเบียนซิมมือถือ เป็นข้อมูลว่า บัตรประชาชนนี้ ทำสื่อนี้ (เป็นการแสดงตัวตนไว้หลวมๆ เท่านั้น) เพื่อป้องกันเรื่องการหมิ่นประมาท และการตรวจสอบ เช่นเดียวกับ Pantip.com ที่ใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนอมยิ้ม

     แต่หากมีการควบคุม ถ้าในฐานะ blogger ส่วนตัว จะไม่มีต้นสังกัด ตนเองเป็นบรรณาธิการเอง เป็นนักข่าวเอง หาข่าวเอง เขียนข่าวเอง ความรับผิดชอบต่อบทความหรือสื่อที่นำเสนอควรมีการลงทะเบียนสื่อ มีบัตรประกอบวิชาชาชีพ มีเลขทะเบียนไว้ (เหมือนไกด์) และมีบทลงโทษตามความเหมาะสม

     “แต่สื่อออนไลน์ก็มีความกังวลว่าจะถูกปิดกั้นการนำเสนอ กลัวถูกครอบงำ จึงทำให้หวั่นกลัวต่อกฎหมายนี้ เพราะไม่ชัดเจน อะไรทำได้ไม่ดีแค่ไหน ขอให้มีความชัดเจน มีรายละเอียดเงื่อนไขที่ชัดเจน โปร่งใส ควบคุมได้ ตรวจสอบได้ ก็ยินดี เรายังยินดีลงทะเบียนซิมเลย ตราบใดที่เราไม่ได้ไปทำอะไรเสียหาย เสื่อมเสีย ผมว่าถ้าอยู่ในกรอบที่เราทุกคนรับได้ โอเคครับ”

นักวิชาการ ชี้ สปท.ให้คำนิยาม “สื่อ” ผิดมาตั้งแต่ต้น ให้แฟนเพจเป็นสื่อด้วยขัดรัฐธรรมนูญ

     มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ให้ความเห็นถึงการที่ทางคณะกรรมาธิการของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุว่า แฟนเพจต่างๆ ในเฟซบุ๊กก็เข้าข่ายเป็นสื่อที่ต้องมีใบอนุญาตว่า เรื่องนี้ผิดตั้งแต่การให้คำนิยามคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” แล้ว เพราะทำให้ความหมายของสื่อมวลชนผิดไป ไม่ได้หมายความถึงแค่สื่อมวลชนอาชีพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ที่ใช้สื่อแล้วได้ค่าตอบแทน ซึ่งเป็นการกำหนดคำนิยามที่กว้างเกินไป ไม่สอดคล้องกับธุรกิจสื่อที่แท้จริง

     ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ สปท. กำลังจัดทำอยู่นั้น กำหนดคำนิยาม “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” ว่าหมายถึง บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดอย่างเป็นปกติธุระหรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม

     ดร.มานะ กล่าวว่า การกำหนดคำนิยามที่ทำให้เกิดการเหมารวมแบบนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเพียงถ้าจะเอาเรื่องรายได้เข้ามาเป็นตัววัด ก็จะทำให้เหมารวมไปได้อีกมาก นอกจากเพจดังต่างๆ แล้ว ยังจะหมายถึงเว็บไซต์ต่างๆ เช่น kapook.com sanook.com ไปจนถึงบล็อกเกอร์ต่างๆ และยูทูบด้วย การรีวิวสินค้าต่างๆ ก็จะถูกเหมารวมว่าเป็นสื่อมวลชนด้วย

     คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวต่อว่า หากกำหนดกฎหมายออกมาเช่นนี้ จะส่งผลต่อการควบคุมดูแลของภาครัฐอย่างแน่นอน ซึ่งจะไม่สามารถดูแลได้ครอบคลุมทั้งหมด

     “เรื่องนี้ถือว่ามาผิดทางตั้งแต่ต้น คือการให้คำนิยาม หากยังจะเดินหน้าแบบนี้ต่อไปอีกก็จะขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งสุดท้ายก็คงจะมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกัน” ดร.มานะ กล่าว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ