คอลัมนิสต์

คุมเข้ม “ทุเรียนอ่อน" จากสวนเกษตรกรสู่ตลาดต่างแดน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ระยองคุมเข้ม “ทุเรียนอ่อน" จากสวนเกษตรกรสู่ตลาดต่างแดน

                หลังจาก “สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ” ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้ออกประกาศเรื่องมาตรการควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพ (อ่อน) ออกสู่ตลาดประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ล่าสุดจังหวัดได้ระดมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนลงพื้นที่เฝ้าระวังและตรวจตราอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว  โดยรายละเอียดคำสั่งมีการกำหนดมาตรการและแนวทางในการควบคุมคุณภาพทุเรียนไม่ให้มีทุเรียนด้อยคุณภาพ (อ่อน) ซื้อขายในตลาด เนื่องจากเป็นการทำลายเศรษฐกิจ สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภคและเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ตลอดจนผลกระทบทางลบต่อความน่าเชื่อถือ ความนิยมของผู้บริโภคและภาพลักษณ์ที่ดีต่อผลไม้ จ.ระยอง

                 ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการควบคุมทุเรียนด้วยคุณภาพออกสู่ตลาดจ.ระยอง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จ.ระยอง จึงออกประกาศมาตรการให้ผู้ประกอบการ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ผู้ตัดทุเรียน ผู้จำหน่ายทุเรียนและผู้บริโภคได้ทราบทั่วกันว่าหากพบผู้ตัดและจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ โดยเจตนาจะต้องมีความผิดระวางโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                นอกจากนี้ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ.2522 มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพหรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีกผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและหากผู้ซื้อหรือผู้บริโภครายใดได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพจากแหล่งกำเนิดใน จ.ระยอง โปรดแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่ซื้อทุกแห่ง 

               เวลา 17.00 น. เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา นายดงพล รุจิธรรมธัช นายอำเภอวังจันทร์ นายทรงธรรม ชำนาญ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตร จ.ระยอง พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ อส.และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร อ.วังจันทร์ ตรวจสอบผสวนผลไม้แห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 5 ต.พลงตาเอี่ยม อ.วังจันทร์ หลังได้รับแจ้งมีการลักลอบตัดทุเรียนอ่อนออกจำหน่าย ตรวจสอบพบเจ้าของสวนทราบชื่อคือ นางประจวบ เครือวัลย์ กำลังควบคุมคนงานกว่า 10 คน ของบริษัทรับซื้อแห่งหนึ่ง ซึ่งทำสัญญาซื้อขายกัน กำลังชั่งลูกทุเรียนที่ตัดแล้วประมาณ 3 ตัน เจ้าหน้าที่จึงสุ่มตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในลูกทุเรียน ปรากฏว่า มีทุเรียนจำนวน 1,400 กก. ไม่ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน คือเป็นทุเรียนอ่อน จึงยึดทุเรียนจำนวนดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานพร้อมแจ้งข้อหาตามกฎหมายอาญามาตรา 271  และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ก่อนควบคุมตัวนางประจวบ เครือวัลย์ เจ้าของสวน พร้อมคนงานตัดทุเรียน ส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

                ต่อมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เดินทางไปพบปะกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและผู้จำหน่ายทุเรียนใน 5 อำเภอของจังหวัดระยองกว่า 500 คน ประกอบด้วย อ.เมือง อ.แกลง อ.วังจันทร์ อ.บ้านค่ายและอ.เขาชะเมา ที่ตลาดกลางผลไม้กองดิน ต.กองดิน อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งการเดินไปในครั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้ขอความร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนและชี้แจงนโยบายของจังหวัดระยองในการปราบปรามทุเรียนอ่อน เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเกษตรกรชาวสวนทั้งจังหวัด 

              “จากการสำรวจพบว่าผลผลิตทุเรียนของจังหวัดระยองในปีนี้ จะมีผลผลิตรวมประมาณ 83,000 ตัน และผลผลิตกำลังจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายนที่จะถึงนี้”

              ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองกล่าวด้วยว่า ปัญหาการนำทุเรียนอ่อนออกมาจำหน่ายถือเป็นการกระทำที่ทำลายเศรษฐกิจและชื่อเสียงของ จ.ระยอง เป็นอย่างมาก จึงกำหนดมาตรการทำความเข้าใจกับชาวสวนและกลุ่มผู้ซื้อเพื่อขอความร่วมมือในการทำผลไม้คุณภาพ พร้อมขึ้นบัญชีไว้ว่ามีที่ใดบ้าง นอกจากนี้ยังมีมาตรการการเฝ้าระวังโดยมอบให้นายอำเภอทุกอำเภอจัดชุดสายตรวจออกสุ่มตรวจตามแผงค้าและสวนทุเรียนต่างๆ ที่มีแหล่งข่าวแจ้งมาว่ามีการลักลอบตัดทุเรียนอ่อนออกมาจำหน่าย นอกจากนี้ตามเส้นทางหลักระหว่างระยองกับจังหวัดใกล้เคียงจะมีการตั้งด่านและจุดตรวจพร้อมชุดควบคุมคุณภาพทุเรียนตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

                "ขณะนี้ จ.ระยอง ได้ออกประกาศของจังหวัด ใครลักลอบนำทุเรียนอ่อนมาจำหน่ายจะมีโทษปรับสูงสุด ซึ่งหากรายใดทำผิดซ้ำอีกก็จะเพิ่มโทษทางอาญาเข้าไปอีกจึงอยากให้ชาวสวนและผู้ค้าทุเรียนไม่ตัดทุเรียนอ่อนออกมา โดยทุเรียนหมอนทองจะต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้งไม่น้อยกว่า 32 ชะนีไม่น้อยกว่า 30 และกระดุมไม่น้อยกว่า 27 ซึ่งเป็นมาตรฐานตามตลาดส่งออกหากผู้ใดลักลอบนำทุเรียนอ่อนมาจำหน่ายและถูกจับได้จะถูกดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่และจะไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษเด็ดขาดเพราะถือว่าเป็นผู้ทำลายเศรษฐกิจและชื่อเสียงผลไม้ จ.ระยอง" นายสุรศักดิ์กล่าวย้ำ 

                ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรก็มีมาตรการป้องกันไม่ให้ทุเรียนด้อยคุณภาพหรือไม่ได้มาตรฐาน เช่น ทุเรียนอ่อน หลุดออกไปสู่ประเทศปลายทาง จึงกำหนดมาตรการควบคุม ตรวจสอบ และออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนสดไปต่างประเทศ โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ด่านตรวจพืชดำเนินการตรวจสอบทุเรียนที่ส่งออกเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยก่อนเปิดฤดูกาลส่งออกทุเรียนในปีนี้ (2560)  นายตรวจพืชได้ลงพื้นที่ให้แนะนำและตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ทำความสะอาดผลทุเรียน รวมถึงการจัดการกำจัดศัตรูพืช 

                นอกจากนั้นด่านตรวจพืชยังได้ทำหนังสือแจ้งผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนสดให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการส่งออกภายใต้ข้อตกลงพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงเงื่อนไขการปฏิบัติเพื่อการส่งออกทุเรียนสดและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศัตรูพืชที่ต้องเฝ้าระวังด้วย

                 พิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง  หัวหน้าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เผยกับ “คม ชัด ลึก” ว่าด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบังเป็นหนึ่งด่านที่มีผู้ประกอบการมายื่นขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (พ.ก.7) สำหรับการส่งออกทุเรียนสดจำนวนมาก ด่านจึงกำหนดมาตรการตรวจสอบอย่างเข้มข้นเพื่อรองรับสินค้าส่งออกที่มีวันละกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนักประมาณ 540-600 ตันต่อวัน โดยผู้ส่งออกที่ยื่นคำขอ พ.ก.7 ต้องระบุหมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ (จีเอ็มพี) และต้องไม่อยู่ในรายชื่อที่ถูกระงับการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จากนั้นเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชจะไปสุ่มตรวจทุเรียนสดที่จะส่งออก ณ โรงคัดบรรจุ เน้นตรวจสอบศัตรูพืชของทุเรียนที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ เพลี้ยแป้ง และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน โดยจะสุ่มตัวอย่างสินค้า 3% ต่อชิปเมนท์ เพื่อตรวจสอบก่อนออกใบรับรองสุขอนามัยพืชให้ทุเรียนทุกลอต  

                อย่างไรก็ตามสำหรับปริมาณผลิตผลไม้ภาคตะวันออกในปีนี้   ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จ.ชลบุรี ร่วมกับสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) จ.ระยอง ได้สำรวจปริมาณผลไม้ 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง พบว่าปี 2560 ทุกชนิดให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น มีผลผลิตรวม 771,112 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่มีจำนวน 562,164 ตันหรือร้อยละ 37.17 โดยผลผลิตจะออกมากช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งคาดการณ์ว่าผลผลิตรวมของทั้ง 4 สินค้าจะเพิ่มขึ้น  โดยเงาะจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 52.62 รองลงมาได้แก่ ทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.96 มังคุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.27 และลองกองเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.17 ตามลำดับ  

                กล่าวสำหรับมาตรการควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพ (อ่อน) ในทุกห่วงโซ่อุปทานในฤดูกาลผลิตประจำปี 2560 ตามคำประกาศของ จ.ระยอง ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ยังเป็นผลดีต่อการส่งออกทุเรียนคุณภาพไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย 

                                               แนะ 9 วิธีดูทุเรียนแก่

             1.ดูปากปลิง (ที่ก้านผล) ทุเรียนแก่จัดปากปลิงจะพองโตเห็นรอยชัดเจน

             2.ดูหนาม ผลทุเรียนแก่ปลายหนามจะออกสีน้ำตาลเข้ม

             3.บีบปลายหนาม 2 หนามเข้าหากัน ทุเรียนแก่เมื่อบีบปลายหนามเข้าหากัน จะมีลักษณะยืดหยุ่นเหมือนมีสปริง

            4.ดูขั้วผล ขั้วทุเรียนแก่จะเป็นสปริง ส่วนขั้วผลทุเรียนอ่อนจะไม่เป็นสปริง

             5.ดูสีผล ด้านบนทุเรียนแก่สีจะมันและแห้ง

             6.ดูร่องพู ทุเรียนแก่ร่องพูเป็นสีน้ำตาลปนเหลือง 

             7.ตัดขั้วผลหรือปลิง ทุเรียนแก่จะเห็นน้ำใสที่ขั้วผล ไม่ข้นเหนียวเหมือนทุเรียนอ่อน 

             8.ดมกลิ่นทุเรียนแก่จะมีกลิ่นสาบของความหอม ไม่เหม็นเขียว

             9.เคาะที่โกรกหนาม ทุเรียนแก่มีเสียงโพรกดังหลวมๆ ไม่ทึบ  

ที่มา : www.durianchomphon.com

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ