คอลัมนิสต์

คนน่านลุกขึ้นสู้ ไม่เผาผีคนทำลายป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากต้นน้ำสู่เมือง สำนึกรักป่าล้มเหลวหรือไม่ โดย - ธัญพิสิษฐ์ เลิศบำรุงชัย เนชั่นทีวี

รางน้ำสายเล็กๆ ที่ไหลแยกออกมาจากฝายแก้ง บ้านหัวน้ำ ต.ศิลาแลง อ.ปัว จ.น่าน โอบล้อมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านแถบนี้ ให้ได้รับประโยชน์จากการปลูกข้าว และปลูกพืชหลังนากว่า 2,000 ไร่

ที่นี่เป็นต้นแบบของการปรับปรุงฝายอีก 663 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ได้รับประโยชน์อีกกว่า 104,000 ไร่ ใน จ.น่าน แต่จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้เครื่องมือชลประทานเหล่านี้บริหารจัดการน้ำ ถ้าไม่รักษาป่า

รำพี และ จรัส ต๊ะแก้ว เป็นคู่สามีภรรยา ที่เกิดและอาศัยทำกินอยู่ที่นี่มานานมากพอที่จะเล่าถึงความเปลี่ยนแปลง หลังป่าฟื้นคืนกลับมา

“ย้อนไปในปี 2538 ปัญหาบุกรุกป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และมีนายทุนลักลอบตัดไม้รุนแรงสะสมมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง มีน้ำไม่พอปลูกข้าว และทำการเกษตรอื่นๆ แม้จะอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ก็ตาม”

หลังเกิดวิกฤติชาวบ้านจึงทำประชาคมร่วมกันเพื่อจำกัดพื้นที่ทำการเกษตร และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พวกเขาเชื่อว่ายังไม่สายเกิน แม้ข้อมูลปัจจุบันจะชี้ชัดว่าป่าทั้ง จ.น่าน ถูกทำลายไปแล้วร้อยละ 90

ตั้งแต่นั้นมาพวกเขาเริ่มวางกฎระเบียบ และข้อบังคับห้ามใครก็ตามตัดไม้แผ้วถางป่า หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ และมีมาตรการกดดันทางสังคม เช่นไม่ไปงานบวชลูก ไม่เผาผีกัน เป็นต้น กฎของหมู่บ้านที่เคร่งครัดเหล่านี้ได้ผล ป่าจังหวัดน่านที่เหลือเพียงร้อยละ 10 ได้รับการรักษาเอาไว้ได้โดยชาวบ้านเหล่านี้

นอกจากบ้านหัวน้ำ ต.ศิลาแลง แล้ว รูปแบบการตั้งกฎ ยังถูกใช้กับชุมชนบ้านพ่อ ต.แสนทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำเช่นเดียวกัน แต่ภายหลังการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำทำการเกษตรตลอดปี ก็คือการสร้างฝาย

เรว โนฤทธิ์ ประธานฝายบ้านพ่อ บอกว่า ปัจจุบันชาวบ้าน 3 ตำบล ใน อ.ท่าวังผา ได้ใช้ประโยชน์จากฝายที่กันลำน้ำริม ชาวบ้านก็เลิกทำไร่เลื่อนลอย แม้แต่ละคนจะมีที่ดินทำกินเฉลี่ยเพียงคนละ 3 ไร่ แต่ก็ปลูกพืชหมุนเวียนที่หลากหลาย ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีราคา และความต้องการทางตลาดสูง อย่างใบยาสูบ ที่ได้ขายกิโลกรัมละ 120 บาท

ทั้งสองหมู่บ้านที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ได้รับคำแนะนำ ช่วยเหลือและส่งเสริม โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

ณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง บอกว่าปัญหาการทำลายป่าไม้ และการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิต ของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ให้สามารถใช้ประโยชน์ควบคู่กับการรักษาป่านั้น เป็นแนวทางที่อยู่ในสายพระเนตร พระกรรณ มาตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ และสืบสานพระราชกรณียกิจต่อมา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบัน มีพื้นที่ที่โครงการช่วยเหลือ ส่งเสริม และรักษาป่า ได้สำเร็จใน 20 หมู่บ้าน 4 ตำบล 3 อำเภอ ใน จ.น่าน ครอบคลุมพื้นที่เพียง 2.5 แสนไร่ จากพื้นที่ป่า 6 ล้านไร่

การปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างการทำไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังคงเป็นปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าน่าน ที่แก้ไม่เคยตก แต่ นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ราษฎรอาวุโส และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ก็ไม่คิดโทษประชาชน

“เขาถูกฟ้าส่งมาให้อยู่บนภูเขา ไม่มีทางเลือกก็ต้องทำไร่เลื่อนลอยเพื่อเอาชีวิตรอด แล้วอยู่ดีๆ มีนายทุน รวมถึงนโยบายจากรัฐ ให้ปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ ปัญหาเลยเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น”

นพ.บุญยงค์ เห็นว่า ทางออกของปัญหา คือสร้างการมีส่วนร่วมของคน โดยการประชาคม ออกกฎระเบียบรักษาป่า และทำอย่างไรให้ชาวบ้าน ได้รับประโยชน์จากการมีป่า ป่าจึงสามารถอยู่ได้

ส่วนที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ไม่มีใครคาดคิดว่าการท่องเที่ยว จะให้ผลตอบแทนแก่ชาวบ้านได้ดีกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เคยทำมาอย่างยาวนานในอดีต และนั่นคือที่มาที่ทำให้ผืนป่าที่นั่นกลับมาเขียวขจีอีกครั้ง

กระโจมที่พักของบ่อเกลือวิวรีสอร์ท ถูกสร้างขึ้นชั่วคราว บนพื้นที่ที่เคยเป็นไร่ข้าวโพด และไร่กะหล่ำปลีเมื่อหลายสิบปีก่อน ดร.ทวน อุปจักร์ ผู้ประกอบการบ่อเกลือวิวรีสอร์ท เป็นคนอำเภอบ่อเกลือโดยกำเนิด ได้นำหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของคนใน อ.บ่อเกลือ โดยมีหลักการสำคัญคือ การมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ใช้ประโยชน์ร่วม และจัดการร่วม โดยคนในชุมชน

ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว ทำให้หมู่บ้านมีเงินหมุนเวียน ในช่วงเทศกาล หลักร้อยล้านบาท ดร.ทวน บอกว่า วัตถุดิบทุกอย่างที่นำมาบริการนักท่องเที่ยว ต้องมาจากชุมชน จึงทำให้มีเงินหมุนเวียนในหมู่บ้าน ซึ่งต้นทุนสำคัญของ อ.บ่อเกลือ คือการปลูกผักเมืองหนาว และรักษาพื้นที่ป่าให้เขียวขจี เพื่อต้อนรับนักท่องเชิงอนุรักษ์

ในขณะที่คนที่อยู่ป่าต้นน้ำกำลังหาทางให้ป่าฟื้นกลับมาด้วยการปลูกจิตสำนึกด้านผลประโยชน์ร่วม แต่พื้นที่ในเมืองกลับตรงกันข้าม ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี นักวิจัยป่าในเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย บอกว่า กรณีล้มอุโมงค์ต้นไม้ จ.น่าน เพื่อขยายถนน สะท้อนความล้มเหลวในการปลูกจิตสำนึกรักษาป่า รักษาต้นไม้ แม้จะมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ

“มันอาจจะเป็นไปได้ที่คนในเมืองไม่รู้สึกว่าได้รับประโยชน์จากการมีต้นไม้ ซึ่งสวนทางกับตัวอย่างในต่างประเทศที่พยายามรักษาต้นไม้ทุกต้น นี่เป็นโจทย์ใหญ่ สำหรับป่าในเมือง ที่กำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ” ดร.ประชา กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ