คอลัมนิสต์

“สุวิทย์” ผ่า “โรดแม็พปรองดอง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(สัมภาษณ์พิเศษ) “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ผ่า “โรดแม็พปรองดอง” เงื่อนไขใช่ยึดฝ่ายการเมือง : โดย สำนักข่าวเนชั่น


             ถือเป็นมือประสานสิบทิศ อีกคน สำหรับ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)” ที่กำลังเดินสายถกร่วมทุกองคาพยพของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) หวังลำเลียง 10 ประเด็นยุทธศาสตร์และนโยบายระดับบัญชาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ขึ้นสายพานเพื่อขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

             โดยมี 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ4. คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นตัวเดินงาน

             แน่นอนว่า ประเด็นปรองดอง เป็นเรื่องที่ถูกจับตามากที่สุดเรื่องหนึ่ง โดย เลขาฯ ป.ย.ป. ระบุว่า เรื่องนี้ถือเป็นก้าวแรก ที่จะพาคนไทยบรรลุเป้าหมาย ที่มากกว่าแค่เลิกความขัดแย้ง

              “สุวิทย์” ผ่า “โรดแม็พปรองดอง”

             “ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี นายกฯ ก็ให้ผมช่วยทำเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้น เรื่องการปฏิรูป ยุทธศาตร์ชาติฯ ผมผ่านมาแล้ว” สุวิทย์ บอกถึงเหตุผลที่ "บิ๊กตู่" เลือกให้มาบูรณาการงานในส่วนนี้

นับหนึ่ง “ปรองดอง” ไม่พลาด เหมือนอดีต
             “2 ปีที่ผ่านมา เราเสียเวลาไปไม่น้อย กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถึงวันนี้หลายปัญหาน่าจะดูดีขึ้น เลยกลับมาสู่สัญญาประชาคม หรือพันธกิจที่ให้ไว้ คือ การสร้างความปรองดอง การปฏิรูปประเทศ
และยุทธศาตร์ชาติ ที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการปรองดอง เราเปิดเวทีให้พรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง มาคุยเรื่องใหญ่ของประเทศก่อน ไม่ใช่มาคุยเรื่องตัวเอง เรื่องคดี แบบนี้คุยยังไงก็ไม่จบ

             ถึงบอกว่าการสร้างความสามัคคีปรองดอง ต้องหาข้อตกลงหรือจุดร่วมให้ได้ก่อน ไม่ใช่ถกแต่เรื่องจุดต่าง ไม่มีประโยชน์ ในอดีตจับประเด็นเรื่องนี้ผิด เอาประเด็นขัดแย้งแตกต่างมาคุยถึงไม่ได้ข้อยุติ เราไม่เคยมานั่งคุยเพื่อหาจุดร่วมก่อนแล้วสงวนจุดต่าง ความผิดพลาดอยู่ตรงนี้ แม้จะมีความตั้งใจ อยากให้คุยกัน แต่คุยในเรื่องที่ทะเลาะกันอยู่แล้ว ต่างก็ต้องบอกตัวเองถูก อีกฝ่ายผิดไม่มีทางออก เข้าใจว่าก่อน 22 พ.ค.57 เรื่องนี้ ทำยังไงก็ทำไม่ได้ แต่วันนี้อารมณ์ของการเมืองหรือสังคมเย็นลง เริ่มเห็นความหวังเลยถูกนำเสนอตอนนี้ อย่างน้อยการันตีว่ามีโอกาสสำเร็จ เพราะ นายกฯมีความจริงใจ มุ่งมั่น”

ต้นเหตุ หาใช่ ต่าง "อุดมการณ์"
             “การปรองดอง รัฐบาลไม่ได้เจาะจงว่าเป็นกลุ่มใด แต่คือการปรองดองของคนในชาติ เดิมเราไปนิยามคำนี้แคบไป เราไปจับความขัดแย้งของพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง 2 กลุ่ม แต่เบื้องหลังที่ทำให้ทะเลาะกัน ไม่ใช่อุดมการณ์ที่แตกต่างเท่านั้น มันมีปฐมบทจากความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง ณ วันนั้น ถ้ามัวแต่เปิดเวทีให้ 2 กลุ่มนี้พูดกันไม่มีวันจบ มันจะวนอยู่ในอ่างระหว่างคู่ขัดแย้ง ผมคิดว่าวันนี้ ความขัดแย้งลดโทนลง แม้ไม่เป็นศูนย์ บริบทที่จะมานั่งถกกันว่าความขัดแย้งคืออะไร จะปรองดองเรื่องอะไร ระหว่างใคร มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งตัวละครยังเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมือง ตอนนี้เราเปิดโอกาสให้พูดแล้ว แต่ให้พูดในเรื่องของประเทศไม่ใช่พูดเรื่องตัวเอง แล้วถ้าบอกว่ามันเลี่ยงไม่ได้ อย่างนี้ก็เห็นแก่ตัวสิ”
              “สุวิทย์” ผ่า “โรดแม็พปรองดอง”

ประเดิม ถก “นิรโทษฯ" ยังไงก็ไม่จบ
             “ผมว่าความปรองดองไม่ได้แก้ด้วยการมานั่งคุยกันบนเวทีของคน 2 กลุ่มมันแคบเกินไป มันต้องเอาทุกภาคส่วนเข้ามา แต่จะเริ่มต้นด้วยคู่กรณีหรืออย่างไรก็ว่ากันไป และไม่ใช่ว่ามาถึงก็ถกกันไม่กี่เรื่อง เช่นพอประเดิมก็ว่าด้วยเรื่องนิรโทษกรรม อภัยโทษ มันไม่ใช่ แบบนั้นไม่มีวันจบ มีหลายเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องขบคิดร่วมกัน ยุทธศาตร์ชาติ การปฏิรูป ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ ทุกฝ่ายคิดยังไงกับเรื่องพวกนี้ อย่างน้อยต้องเอาสิ่งที่เป็นประเด็นร่วมมานั่งคุยกันก่อน ไม่ใช่เอาประเด็นความขัดแย้งมานั่งคุย”

ใครผิดกฎหมายอย่ามาคุย!!!
             อีกประเด็นที่จะไม่ถามเลขาฯ ป.ย.ป. ไม่ได้ คือกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคดีความติดตัว ซึ่งเป็นบุคลลที่มักถูกยกมาเป็นเงื่อนไขเรื่องนี้โดยตลอด จะมีส่วนร่วมกับการปรองครั้งนี้ได้อย่างไร นายสุวิทย์ ตอบทันทีและชัดเจนว่า

             “อะไรที่ผิดกฎหมายอย่ามาคุย ไม่อย่างนั้นมันไม่จบ ส่วนการนิรโทษกรรม อภัยโทษ ควรคุยกันทีหลัง ใครมีคดีก็ว่ากันไป”


ต้องปลดล็อก ปม ปัญหา
             “คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกมนตรี และรัฐมนตนีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูแล มีหน้าที่รับฟังความเห็นฝ่ายการเมือง แล้วนำมาข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ว่ามีจุดร่วมอะไรบ้าง ขณะเดียวกันย่อมมีจุดต่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องขัดแย้ง แต่บางเรื่องจำเป็นต้องถูกปลดล็อกด้วยการปฏิรูป เช่น เรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา ก็ว่ากันด้วยเหตุด้วยผลจะแก้ยังไง เมื่อพื้นที่ความคิดเห็นต่างลดลง พื้นที่ความเห็นร่วมจะมากขึ้น เมื่อทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ตรงนั้นคือ สัญญาประชาคม เรียกว่าสัจจะวาจา ถึงจะมีบางเรื่องที่ค้างอยู่ อย่างน้อยสกัดเอาเรื่องที่เป็นกติกากลางซึ่งเห็นพ้องต้องกันออกมาก่อน พล.อ.ประวิตร บอกว่าใช้เวลา 3 เดือน”
              “สุวิทย์” ผ่า “โรดแม็พปรองดอง”
"ปรองดอง" ไม่ใช่เพื่อ "ปรองดอง" แต่ใช้เป็นเงื่อนไข…
             “ไม่ใช่ว่ามานั่งคุยกันแล้วทุกอย่างจะจบ เป็นเพียงทางออกหนึ่งต่อให้2กลุ่มการเมืองคุยกันรู้เรื่อง แต่ถ้าประชาชนยังอดอยากปากแห้งไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมว่ายังไม่จบอยู่ดีต้องจับจุดให้ถูก ว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรเมื่อวันนี้บริบทเปลี่ยน เราไม่ได้ปรองดองเพื่อปรองดอง เราปรองดองเพื่อเป็นเงื่อนไขสำคัญของการนำประเทศไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม คงไม่มีใครเถียง แต่จะไปสู่จุดนี้ได้ ทุกคนต้องรักกัน ถึงมีไทยแลนด์ 4.0

             การปฏิรูป ยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี การขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน มันเป็นวิธีการนำไปสู่เป้าหมาย ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด เพื่อบอกว่าเราต้องไปข้างหน้า คนไทยต้องรวยขึ้น กระจายออกไป แต่จะเป็นไปไม่ได้ถ้าคนไทยยังไม่อยู่บนพื้นฐานข้อตกลงร่วมเดียวกัน หรือยังไม่ปรองดอง ก็อย่าไปพูดถึงเรื่องอื่น เพราะนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญ ไม่มีไม่ได้ แต่ถ้ามีอย่างเดียว โดยไม่มองข้างหน้า หรือไม่รู้จะไปไหนต่อก็ไม่มีประโยชน์ เราถึงต้องมีเป้าหมายร่วม ดังนั้น สิ่งที่จะเชื่อมโยงข้อตกลงร่วมในเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายร่วมได้นั้น ต้องเชื่อมด้วยการปฏิรูปไปสู่ไทยแลนด์ 4.0”

สังคมต้องมีความหวัง
             “มีคนบอกว่าไทยแลนด์ 4.0 นั้นเพ้อฝัน จริงๆ เรามีคนไทย 1.0 ที่เดือดร้อนเยอะมาก จะทำไงให้อยู่รอด เป็น 2.0 แล้วจะทำยังไงให้เขาพอเพียง คือ 3.0 แล้วจะทำยังไงให้เขายั่งยืน คือ 4.0 ถ้าเราสามารถทำภาพนี้ให้เกิดขึ้นจริง คนจะปรองดองกันเอง ไม่รู้จะทะเลาะกันทำไม เสียเวลา นี่แหล่ะคือเรื่องปากท้องที่แท้จริง ซึ่งเกิดจากการได้เรียน มีโอกาสทำมาหากิน ได้ใช้สมอง หรือคนด้อยโอกาสก็จะมีแต้มต่อให้ ถ้าทำตามโจทย์นี้ได้ ความปรองดองจะเกิดโดยธรรมชาติ แต่วันนี้ปัญหาหยั่งลึกเลยต้องค่อยๆ คลาย ถ้าทำให้สังคมไทยมีความหวัง ความสุข ความปรองดองมาเอง”
              “สุวิทย์” ผ่า “โรดแม็พปรองดอง”

ปากท้อง ต้องมาก่อน การเมือง
             “ต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าปัญหาปากท้องได้รับการแก้ให้ดีขึ้น ลูกหลานมีโอกาสมากขึ้น ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นดังนั้น พื้นฐานกระบวนการประชาธิปไตยต้องเริ่มด้วยกระบวนการประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เริ่มด้วยกระบวนการประชาธิปไตยทางการเมือง จะกลายเป็นว่าประชาชนต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากนโยบายนักการเมือง แต่เราต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่า ถ้าเขามีไอเดียรัฐพร้อมส่งเสริม จะรวยได้แบบอเมริกา ขอให้ขยันจะไม่ยากจน ต้องทำให้ได้อย่างนี้ 

             แต่เมื่อความเป็นธรรม การเข้าถึงโอกาสยังไม่มี ก็จบ หัวใจสำคัญที่ผมเห็นด้วยคือเรื่องปากท้อง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปป้อนเขาอีก แต่ต้องทำให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง ถ้าคุณรักดี พัฒนาตัวเองต้องโตได้ ไม่ใช่ว่ารักดีก็ยังถูกกดขี่กลั่นแกล้ง ที่ผ่านมาเรามีแต่ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ประชาชนรวยขึ้นหรือเปล่าไม่รู้ ต่อให้ใช้นโยบายประชานิยมมากมายในอดีต ถามว่าประชาชนมีขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองหรือเปล่า ดังนั้น เมื่อคนลืมตาอ้าปากได้ ประชาชนก็จะคิดถึงสิทธิด้านการเมืองตามมา”

ผลสัมฤทธิ์ ไม่ผูกพัน “เลือกตั้ง” เร็ว-ช้า
             “เลือกตั้งเป็นไปตามโรดแม็พ ขั้นตอนมีอยู่แล้ว ยืนยันว่าเป็นไปตามนั้น เพียงแต่มันคลาดเคลื่อนไปนิดนึงด้วยเหตุบางประเด็น อย่างที่ทราบ คือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่แท็กติกของรัฐบาล ความสำเร็จของป.ย.ป. ไม่ใช่อยู่ที่เลือกตั้งเร็วหรือช้า หรือต้องยืดเวลาออกไปเพื่อให้ทำงานเสร็จก่อนค่อยเลือกตั้ง แต่อยู่ที่ว่าคุณจะมาร่วมได้ยังไง ไม่ใช่มัวแต่รอดูฝีมือรัฐบาล

             สรุปบทเรียนจาก2ปีที่ผ่านมา คือ ขับเคลื่อนแล้วยังไม่สุดเลยเอามามัดรวมกันเป็นป.ย.ป. ขับเคลื่อนไปพร้อม แล้วส่งมอบรัฐบาลต่อไป จะบอกว่าสิ่งที่ส่งต่อดีที่สุดห้ามเปลี่ยนคงไม่ใช่ แต่สิ่งที่ไม่ควรเปลี่ยนคือเจตนารมณ์ประชาชน วิถีการไปสู่จุดนั้นของรัฐบาลแต่ละชุดย่อมต่างกัน เราจะไปกำหนดวิถีส่งไปด้วยไม่ได้ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) ถึงตั้งง่าย ยุบง่าย เพราะเราให้เกียรติรัฐบาลใหม่ ถ้ามันดีก็คงไว้ ไม่ดีก็ยุบทิ้งไป”

ที่ผ่านมา เงื่อนไขการเมือง ฉุด
             “ไม่ใช่รัฐบาลก่อนๆ คิดไม่ได้ แต่เงื่อนไขทางการเมือง ความขัดแย้งที่รุนแรงทำให้ไม่มีเวลามาคิดเรื่องนี้นี่คือข้อดีของรัฐบาลนี้ที่อย่างน้อยมีอำนาจ เหมือนรัฐบาลจีนหรือสิงคโปร์ จะทำอะไรก็ทำได้เลย แต่2ปีแรกรัฐบาลฝ่าคลื่นเศรษฐกิจจนวันนี้มีเวลาหายใจก็มาทำเรื่องนี้ที่เป็นพันธกิจตามที่สัญญากับประชาชนไว้”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ