คอลัมนิสต์

กวาดล้างมอเตอร์ไซค์ วิ่งบน“ทางเท้า” บทพิสูจน์ฝีมือ“อัศวิน”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กวาดล้างมอเตอร์ไซค์ วิ่งบน“ทางเท้า” บทพิสูจน์ฝีมือ“อัศวิน” // สำนักข่าวเนชั่น โดย ธนัชพงศ์ คงสาย

“ถ้าเห็นจับปรับเลย 5 พันบาท ผมก็ไม่อยากทำโทษผู้ปฏิบัติ ขอให้ใจเป็นธรรม แต่ก็อยากให้คนขี่มอเตอร์ไซค์เห็นใจประชาชนคนอื่นบ้างด้วย” คำยืนยันเสียงดังจากผู้ว่าฯกทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ในวันแถลงนโยบายบริหารราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ต่อแผนแก้ปัญหามอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้าในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสุดยอดปัญหาเมืองกรุงที่สะสมยืดเยื้อมานานหลายสิบปี

 

เป็นปัญหาที่คาราคาซังมากที่สุด ไม่ว่าจะผ่านผู้ว่าฯกทม.กี่สมัย ปัญหามอเตอร์ไซค์บนทางเท้าไม่เคยถูกเลือกเป็นนโยบายหลัก จะด้วยแรงบีบฐานเสียงการเมือง หรือการเลือกปฏิบัติต่อนโยบายหาเสียง ทำให้ทุกสมัยผู้ว่าฯกทม. ไม่เคยแก้ปัญหาทางเท้าให้เป็นทางเท้าได้จริง แทบทุกทางเท้ากลายสภาพเป็น“เส้นทางลัด” ให้กลุ่มมอเตอร์ไซค์ยึดครองเพื่อสนองความมักง่ายของตัวเอง

 

เมื่อลงลึกถึงสาเหตุนี้ จะเห็นชัดเจนว่ากลุ่มชาวมอเตอร์ไซค์จะสบช่องเอาเปรียบผู้อื่นได้ง่ายกว่าเดิม ภายหลัง“ผู้ค้า” ต้องย้ายออกจากพื้นที่ สบโอกาสให้ใช้ทางเท้าได้สบายขึ้น อาการหนักถึงขั้นบีบแตรไล่ ขับย้อนศร หรือบางคันขับรถเฉี่ยวไปผู้อื่น หากมีคนเดินเท้าออกมาโวยขอทวงสิทธิตัวเอง ก็จะเห็นอาการไม่พอใจกลุ่มมอเตอร์ไซค์ โดยมักจะอ้างว่าตัวเองรีบ หรืออวดตรรกะว่าทำแบบนี้ “ไม่ได้ไปฆ่าใครตาย”

 

ความเจ็บปวดปัญหานี้ อยู่ใต้จิตสำนึกผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ที่ทำเรื่องผิดซ้ำๆ จนคิดว่าเป็นเรื่องถูก ที่ใครๆ ก็ทำกัน ในที่สุดพื้นที่ทางเท้าหลายจุดต้องพังชำรุดเสียหาย สำนักงานเขตต้องใช้งบประมาณซ่อมแซม แต่แล้วก็ไม่พ้นกลุ่มมอเตอร์ไซค์กลับมาใช้ทางเท้าเพื่อระบายความมักง่ายของตัวเอง กลายเป็นปัญหาที่แก้กันไม่จบสิ้น

กวาดล้างมอเตอร์ไซค์ วิ่งบน“ทางเท้า” บทพิสูจน์ฝีมือ“อัศวิน”

 

สถิติในปี 2559 พื้นที่ที่ถูกประชาชนร้องเรียนมากที่สุด ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท ลาดพร้าว พระราม 4 จรัญสนิทวงศ์ เพชรบุรี พหลโยธิน จนถึงถนนรัชดาภิเษก ทุกสำนักงานเขตได้จับกุมผู้กระทำความผิดทั่วกรุงเทพฯ 9,514 ราย มีค่าปรับ 7,227,760 บาท ซึ่งพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ให้อำนาจเจ้าพนักงานกวดขัน จับกุม มีโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท

กวาดล้างมอเตอร์ไซค์ วิ่งบน“ทางเท้า” บทพิสูจน์ฝีมือ“อัศวิน”

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯกทม. ระบุว่า หากการประชาสัมพันธ์ไม่ได้ผล ขอให้เจ้าหน้าที่เทศกิจบังคับใช้กฎหมายทันที หากพื้นที่ใดเจ้าหน้าที่เทศกิจเอาไม่อยู่ จะโยกย้ายเทศกิจเช่นกัน เพราะถือว่าไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ยืนยันจะแห้ปัญหานี้ให้ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่เทศกิจที่ขับขี่บนทางเท้า ต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการติดป้ายแจ้งเตือน ไม่มีกรอบเวลาแจ้งว่าจะแจ้งถึงเมื่อไหร่ แต่ขอให้เทศกิจต้องจับปรับมอเตอร์ไซค์ในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

 

“นิรันดร์ ประดิษฐ์กุล” สมาชิกสภากทม. เสนอว่า แนวคิดหนึ่งอาจจะใช้กล้องกทม.ที่มี บันทึกภาพผู้กระทำผิด นอกจากการปักป้ายเตือนไว้ว่าบริเวณนี้มีกล้องจับผู้ใช้รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จากนั้นให้นำกล้องมาเปิดดูสถิติว่า แต่ละพื้นที่มียอดผู้กระทำผิดจำนวนเท่าใดเพื่อจะหาวิธีแก้ปัญหาแต่ละจุด โดยส่วนหนึ่งจะประสานกับกรมขนส่งทางบก ใช้มาตรการไม่สามารถต่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ได้ หากไม่มีการจ่ายค่าปรับในความผิดขับขี่มอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า

กวาดล้างมอเตอร์ไซค์ วิ่งบน“ทางเท้า” บทพิสูจน์ฝีมือ“อัศวิน”

 

ขณะที่เสียงจากเจ้าหน้าที่เทศกิจรายหนึ่ง ระบุว่า ที่ผ่านมาถือว่ากลุ่มมอเตอร์ไซค์ต่อต้านนโยบายนี้ เพราะติดนิสัยเคยทำมาเเล้วจะทำต่อ จะอ้างว่ารีบ อ้างว่าไปบ้าน หรืออ้างว่าวิ่งบนทางเท้าแป๊บเดียว การแก้ปัญหานี้อยากให้ผู้บริหารรีบทำ เพราะไม่มีการเมือง ไม่มีการสร้างภาพ ขอให้เล่นงานมอเตอร์ไซค์พวกนี้ไปเลย โดยเฉพาะต้องจี้ผู้อำนวยการเขตให้หนัก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการแก้ปัญหานี้แล้ว

“ต้องให้สังคมช่วยกดดันโดยเป็นหูเป็นตาให้กับเจ้าหน้าที่เทศกิจ หากพบผู้กระทำความผิดให้บันทึกคลิป หรือภาพนิ่งเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อส่งแจ้งเบาะแสส่งให้สำนักงานเขต หรือผ่านทางศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กทม. 1555 โดยสำนักงานเขตจะแบ่งรางวัลนำจับครึ่งหนึ่งให้กับประชาชนที่แจ้งเบาะเเส หากทำได้จริงจะช่วยกดดันมอเตอร์ไซค์ในช่วงที่เจ้าหน้าที่เทศกิจไม่ได้ลงพื้นที่ได้”เจ้าหน้าที่เทศกิจรายนี้ระบุ

“ชัชวาลย์ เสียงสุทธิวงศ์” อายุ 34 ปี ชาวบ้านย่านถนนราชดำเนิน เห็นว่า สนับสนุนมาตรการกทม. เพราะผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์มักง่ายขี่บนทางเท้าโดยไม่จำเป็น ทางเท้าบางจุดแคบอยู่แล้วก็ยังมาเบียดเบียนผู้อื่นอีก แต่คิดว่ามาตรการนี้จะได้ผลเพียงครึ่งเดียว จึงต้องใช้กล้องวงจรปิดช่วย กรณีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ หรือต้องไปปฏิบัติงานในพื้นที่เส้นทางจุดใหญ่ๆ แต่ถ้าพื้นที่ทางเท้าจุดใดไม่มีเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขัน หรือการกวดขันทำไม่ทั่วถึง อาจทำให้กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ขับขี่บนทางเท้าได้อีก

 

ด้านผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ รายหนึ่งให้เหตุผลว่า บางเส้นทางถนนมีเพียง 2 เลน เมื่ออยู่ในช่วงการจราจรติดขัด มอเตอร์ไซค์ก็ไม่อยากเข้าไปเบียดแทรกเพราะกลัวจะไปชนรถยนต์คันอื่น จึงหลีกเลี่ยงโดยขับขึ้นไปทางเท้า อีกอย่างอากาศในเมืองไทยร้อนมาก คนขับมอเตอร์ไซค์หลายคน ก็อยากรีบขับไป อยากจะหลบแดด ไม่อยากจะรอตรงไฟแดง ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าส่วนใหญ่พยายามจะให้คนเดินเท้าไปก่อน แต่บางคนไม่มีมารยาทไปบีบแตรไล่ผู้อื่น แต่หากกทม.สั่งห้ามแล้ว ทุกคนก็ต้องยอมรับกติกา แต่อยากให้กทม.เข้าใจว่า กลุ่มที่ไปเบียดเบียนคนอื่นก็มากระทบกับกลุ่มคนที่ขับขี่บนทางเท้า ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นเหมือนกัน

ทั้งหมดจึงเป็นความท้าทายส่งตรงไปถึงกทม. ต่อมาตรการจับ-ปรับจริง เพื่อเปิดพื้นที่ทางเท้าให้เป็นทางเท้า ตามที่“บิ๊กวิน”ประกาศไว้“แก้ไขทันที” หรือสุดท้ายจะเป็นเพียงหนึ่งปัญหาที่ไม่มีวันแก้จากกรุงเทพฯได้ อยู่ที่ฝีมือผู้ว่าฯกทม.ที่เคยให้สัญญากับคนกรุงไว้หลังจากนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ