คอลัมนิสต์

“ในหลวง” ในความทรงจำของครูชายแดนใต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความประทับใจจาก "ครูต้ำ" ครูจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้เข้าเฝ้าฯ "พ่อหลวง" เมื่อ 40 ปีที่แล้ว : จรูญ ทองนวล รายงาน

 

             “วชิรพันธุ์ ภู่พงษ์ หรือ “ครูต้ำ” ของลูกศิษย์โรงเรียนวัดสุวรรณากร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะรู้จักกันในบทบาทผู้ฝึกสอนและควบคุมวงดนตรี อาเนาะบุหลัน ดนตรีพื้นเมืองมลายู ที่ผู้เล่นเครื่องดนตรีทั้งหมดเป็นนักเรียนโรงเรียนแห่งนี้ ทั้งไทยพุทธ มุสลิม เขาฝึกสอนเด็กเหล่านี้มาแล้วกว่า 10 รุ่น จนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครที่ไม่รู้จักวงดนตรีอาเนาะบุหลัน หรือลูกของพระจันทร์ ในภาษาไทย 

             วงดนตรีนี้ตระเวนไปแสดงโชว์ฝีมือตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในชายแดนภาคใต้และที่อื่นๆ อีกนับครั้งไม่ถ้วน จนได้รับการยอมรับชื่นชมจากหน่วยงานต่างๆ ว่าเป็นแบบอย่างของเยาวชนที่ร่วมกันอนุรักษ์ สานต่อศิลปะการแสดงพื้นบ้านไว้ได้อย่างโดดเด่น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มี “ครูต้ำ” เป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่สำคัญ แม้หน้าที่หลักคือ สอนหนังสือวิชาศิลปะ และภาษาอังกฤษ ให้แก่ลูกศิษย์แก่นแก้วตัวน้อยทั้งหลาย แต่ก็ไม่เคยทิ้งดนตรีพื้นบ้าน และพยายามถ่ายทอดให้พวกเขาไปด้วย โดยเฉพาะคนที่มีใจรักทางดนตรี

             ปัจจุบัน “ครูต้ำ” ในวัย 50 ปี นับเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสำคัญคนหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะนอกจากจะเป็นคนในพื้นที่แล้ว ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน

จากการที่คุณพ่อก็เป็นครูเช่นกัน ทำให้ในวัยเด็กของเขาได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างจากเด็กคนอื่นที่รุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะนอกจากคุณพ่อจะเป็นครูแล้ว ยังเป็นวิทยากรฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านด้วยในขณะนั้น ทำให้เขามีโอกาสใกล้ชิดคลุกคลีอยู่กับการฝึกลูกเสือชาวบ้าน

             ในปี 2520 ตอนนั้น ครูต้ำอายุประมาณ 10 ขวบ ขณะเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 5 โรงเรียนบุญมีวิทยา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โอกาสครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตที่เขาไม่อาจลืม เป็นความประทับใจที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำจนถึงปัจจุบันนี้

             “เป็นครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผมได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อย่างใกล้ชิด แม้กาลเวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป แต่ความรู้สึกในวันนั้นยังจารึกอยู่ในใจไม่เสื่อมคลาย วันนั้นลูกเสือชาวบ้านรุ่นต่างๆ ไปรับธงพระราชทานประจำรุ่นจากในหลวง ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ลูกเสือชาวบ้านปัตตานีที่พ่อผมดูแลอยู่ได้จัดการแสดงรำง้าวถวายหน้าที่นั่ง โดยมีผมซึ่งตัวเล็กสุดในตอนนั้นร่วมแสดงด้วย ผมรู้สึกตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าจะต้องแสดงหน้าที่นั่งในหลวงและสมเด็จพระราชินี การแสดงเริ่มขึ้นภายในสนามหน้าพลับพลาที่ประทับท่ามกลางลูกเสือชาวบ้านในพิธีรับธงประจำรุ่นนับพันคน

                                “ในหลวง” ในความทรงจำของครูชายแดนใต้

             ครูต้ำ เล่าต่อว่า "เมื่อการแสดงสิ้นสุด ผู้แสดงออกจากสนาม มีทหารราชองครักษ์วิ่งมาที่เรา แล้วบอกว่า ในหลวงรับสั่งให้เด็กตัวเล็กๆ ที่แสดงอยู่ข้างหน้าเข้าเฝ้าฯ คนที่ดูจะตื่นเต้นที่สุดคงจะเป็นพ่อของผม ซึ่งเป็นคนฝึกซ้อมผม และลูกเสือชาวบ้านที่มาแสดงถวาย จากนั้นทหารราชองครักษ์ก็นำผมวิ่งฝ่ากลางสนามไปยังที่ประทับ ผมวิ่งไปด้วยความรู้สึกที่กังวลตามประสาเด็กว่า ผมควรจะทำตัวอย่างไรเมื่อต้องอยู่เฉพาะพระพักตร์ เมื่อไปถึงผมจำได้ว่า มีเส้นที่เขาโรยปูนขาวไว้เพื่อให้ลูกเสือชาวบ้านยืนในจุดนั้นเวลารับธงพระราชทาน ผมก็เลยนั่งคุกเขาหลังเส้นนั้น แล้วถวายบังคม สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งให้ผมขยับเข้ามาใกล้ๆ ผมคลานเข้าไปจนติดกับที่ประทับ ทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงเรื่องการฝึกซ้อมในการแสดง และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ผมจำได้ว่าตอนนั้นผมนั่งจนเท้าผมเป็นเหน็บชา

             หลังจากผมออกมาจากหน้าที่ประทับ มีผู้คนมากมายเข้ามาพูดคุยสอบถามถึงเรื่องการเข้าเฝ้าฯ จนผมไม่รู้จะตอบอะไรและตอบใครก่อนดี ผมจำได้ดีว่า มียายแก่ๆ คนหนึ่งเข้ามาลูบหัวผม แล้วพูดกับผมว่า บุญของเอ็งแล้วหลานเอ้ย จะมีใครสักกี่คนที่จะได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวงกับราชินีอย่างใกล้ชิดแบบนี้” 

             ตอนนั้นด้วยความเป็นเด็ก ผมยังไม่ได้รู้สึกอะไรกับคำพูดนั้น แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าเป็นบุญของผมอย่างที่สุดที่ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อย่างใกล้ชิด"

             วันเวลาผ่านไป 40 ปี 

             ล่าสุด “ครูต้ำ” ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ในหลวงอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ต่างจากที่แล้วมา ทั้งสถานที่ และอารมณ์ความรู้สึก จากการที่ได้ติดตามข่าวสาร และแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขา ภรรยา และเพื่อนอีกหลายคนตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมลงนามถวายพระพรขอให้พระองค์ท่านทรงหายจากพระอาการประชวร ที่โรงพยาบาลศิริราช เช่นเดียวกับพสกนิกรชาวไทยทุกคนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่แล้วความตั้งใจเดิมต้องสลายสิ้น เมื่อทราบข่าวเป็นที่แน่ชัดว่า พระองค์ท่านเสด็จสวรรคตเสียแล้วในวันที่ 13 ตุลาคม

             "วันที่ 14 ตุลาคม ผมและคณะที่มาด้วยกันได้จับจองพื้นที่บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าตั้งแต่เวลาบ่ายโมง ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีประชาชนที่เดินทางมาอยู่ก่อนแล้วเป็นจำนวนมากที่มาคอยโอกาสสำคัญของชีวิต โดยมีจุดประสงค์เดียวกันคือ ร่วมส่งเสด็จพระบรมศพจากโรงพยาบาลศิริราช สู่พระบรมมหาราชวัง แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ทุกคนก็มีน้ำใจต่อกัน ใครที่เกิดอาการเวียนหัวจะเป็นลม คนที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะควักยาดม ยาลม ที่พกติดตัวมาด้วยคอยดูแลพยาบาลผู้ที่อ่อนแอกว่า บางคนนำพระบรมฉายาลักษณ์มาเป็นจำนวนมากเพื่อแจกจ่ายให้คนที่ยังไม่มี ซึ่งเป็นภาพที่ประทับใจมากในน้ำใจของคนไทยที่แสดงออกถึงความเอื้ออาทรต่อกันในภาวะเช่นนี้

             ขบวนรถยนต์พระที่นั่งเชิญพระบรมศพมาถึงและผ่านจุดที่ผมอยู่เมื่อเวลาประมาณ 16.45 น. พวกเราก้มลงกราบแนบกับพื้นถนน หลายคนร้องไห้ระงมเสียงดังไปทั่วบริเวณ ส่วนผมแม้จะไม่ปล่อยโฮออกมาเหมือนคนอื่น แต่ก็สะอื้นไห้เบาๆ แต่กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ อารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้น บอกไม่ถูกจริงๆ มีทั้งความทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความภาคภูมิใจในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่เกิดในยุคสมัยแผ่นดินของพระองค์ รัชกาลที่ 9 และได้มีโอกาสเดินทางมาเฝ้าส่งเสด็จพระบรมศพพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ของคนไทยทั้งชาติ"

                           “ในหลวง” ในความทรงจำของครูชายแดนใต้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ