คอลัมนิสต์

พรรคทหารชื่อ'ชาติประชาธิปไตย'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พรรคทหารชื่อ'ชาติประชาธิปไตย' : มนุษย์สองหน้า  โดยแคน สาริกา

             ถ้าพูดถึง “พรรคทหาร” ในอดีต สื่อมวลชนรุ่นหลังมักจะคุ้นกับพรรคสามัคคีธรรม และเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 น้อยคนนักที่จะรู้จักพรรคทหารยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

             นับจากปี 2516 เป็นต้นมา “พรรคชาติประชาธิปไตย” ถือว่าเป็นพรรคทหารพรรคแรก ที่มีส่วนผสมแบบแปลกๆ

             ย้อนไปเมื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และคณะ ก่อรัฐประหาร ปลายปี 2520 พร้อมกับขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

             เดือนเมษายน 2522 มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ที่ได้ชื่่อว่า “กึ่งประชาธิปไตย” หมายถึงทหารยังกุมอำนาจ และมีนักแต่งตั้งในรัฐสภาเป็นฐาน

             ดังนั้น ที่ประชุมรัฐสภาจึงเสนอชื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

             วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 พล.อ.เกรียงศักดิ์ประกาศลาออกกลางสภา เนื่องมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ำมันตามราคาตลาดโลก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อน

             ต่อมา ส.ว.สายทหาร-ข้าราชการ ร่วมกับพรรคการเมือง เลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

             ปี 2524 พล.อ.เกรียงศักดิ์ตัดสินใจเดินหน้าไปบนถนนสายเลือกตั้ง และแสดงความเป็น “ทหารประชาธิปไตย” โดยการตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคชาติประชาธิปไตย”

             สำหรับพรรคชาติประชาธิปไตย มี พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นประธานที่ปรึกษา

             องค์ประกอบพรรคทหารของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ มี 2 ส่วน คือ นักเลือกตั้งรุ่นเก่า กับคนรุ่นใหม่

             นักเลือกตั้งรุ่นเก่า เช่น วงศ์ พลนิกร อดีต ส.ส.หนองคาย, ประโยชน์ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี และประยูร สุรนิวงศ์ อดีต ส.ส.อุดรธานี

             คนรุ่นใหม่ นำทีมโดย ปราโมทย์ นาครทรรพ, น.ต.ฐิติ นาครทรรพ และนิตินัย นาครทรรพ ซึ่งเคยร่วมกับนักวิชาการหัวก้าวหน้า จัดตั้งพรรคพลังใหม่มาก่อน

             “ปราโมทย์” ได้ดึงอดีต ส.ส.พรรคพลังใหม่ และผู้นำครูประชาบาลมาเป็นสมาชิกพรรคชาติประชาธิปไตย

             นอกจากนี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคพลังใหม่ ก็โดดมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติประชาธิปไตย

             กลางปี 2524 สมพร จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด เสียชีวิตลง จึงมีเลือกตั้งซ่อม พล.อ.เกรียงศักดิ์ตัดสินใจลงสนามเลือกตั้ง ในสีเสื้อชาติประชาธิปไตย

             “ปราโมทย์” ระดมครูประชาบาลในอีสานมาช่วย “นายทหารใหญ่” หาเสียงอย่างเต็มที่ ประสานกับทีมงาน ส.ส.อีสานหลายสิบคน ด้วยการหาเสียงทุกรูปแบบ พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.ร้อยเอ็ด พร้อมกับสร้าง “ตำนานโรคร้อยเอ็ด” อันลือลั่น

             ฤดูเลือกตั้ง 2526 พรรคชาติประชาธิปไตยส่งครูบ้านนอกลงสมัคร ส.ส.หลายคน และได้แจ้งเกิดเป็นผู้แทนฯ หน้าใหม่อย่าง ชิงชัย มงคลธรรม และเวียง วรเชษฐ์

             ดร.อาทิตย์ลงสมัคร ส.ส.ที่บ้านเกิด ฉะเชิงเทรา ปรากฏว่าพ่ายแพ้ แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ยังได้เป็น ส.ส.ร้อยเอ็ดอีกสมัย

             พรรคชาติประชาธิปไตยส่งผู้สมัครลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้งคือ ในปี 2529 ได้ ส.ส.มาจำนวนไม่มากนัก และปี 2531 พรรคมิได้ส่งสมาชิกลงรับสมัครเลือกตั้ง ศาลฎีกาจึงมีมติยุบพรรคชาติประชาธิปไตยเมื่อ 17 เมษายน 2532

             คนไทยมักจดจำเรื่องของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ กับโรคร้อยเอ็ด โดยมองข้ามประเด็น “หัวหน้าคณะรัฐประหาร” เลือกที่จะเล่นการเมืองตามกรอบกติกาประชาธิปไตย

             พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน คือหัวหน้าคณะรัฐประหารอีกคนหนึ่งที่จัดตั้งพรรคการเมือง และไม่ประสบความสำเร็จเหมือน พล.อ.เกรียงศักดิ์

             บทเรียนของนายทหารรุ่นพี่ คงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดได้ว่า ควรจะตั้งพรรคการมือง หรือจะขี่ม้าขาวเข้าสภา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ