คอลัมนิสต์

รักษาศักดิ์ศรีและภาพลักษณ์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักษาศักดิ์ศรีและภาพลักษณ์ : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 24 ม.ค. 2556

               กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้สังคมคาใจ กรณีที่พนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สรุปสำนวนคดีบุกรุกล่าสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมีผู้ต้องหา 8 รายที่เป็นชาวบ้านพรานล่าสัตว์ป่า แต่นายตำรวจยศพันตำรวจโทรายหนึ่งกลับไม่ต้องถูกตั้งข้อหาดำเนินคดี ทั้งที่มีการจับกุมในที่เกิดเหตุพร้อมด้วยซากสัตว์ป่าและอุปกรณ์การประกอบอาหารครบถ้วน ยังมีภาพถ่ายที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ส่งไปประกอบสำนวนด้วยซ้ำ แต่เหตุผลของเจ้าพนักงานสอบสวนระบุว่า ภาพถ่ายไม่ได้ลงวันที่ เวลา ว่าถ่ายเมื่อใด และไม่มีภาพขณะกำลังล่าสัตว์เป็นหลักฐาน จึงไม่สั่งฟ้องพันตำรวจโทรายดังกล่าว จนเกิดเสียงวิจารณ์ไปทั่วว่า คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้รักษากฎหมายบ้านเมืองกระทำการอันเหมาะสมหรือไม่ มีเจตนาเพื่ออย่างไร

               กรณีเช่นนี้มีคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรม เหตุใดเจ้าพนักงานสอบสวนถึงไม่สั่งฟ้อง แต่กลับโยนไปให้อัยการพิจารณาแทน เพราะหลักฐาน พยานต่างๆ ทางพนักงานสอบสวนก็ได้ตรวจสอบแล้ว ทำให้สังคมแคลงใจและคิดไปเป็นอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะในแวดวงตำรวจนั้น ที่ผ่านมาในอดีตต้องยอมรับว่า มีหลายคดีที่พลิกรูปการณ์ไปจากความเป็นจริง เมื่อคดีไปพันกับผู้มีอำนาจหรือมีเส้นสายอิทธิพลหนุนหลัง จากผิดก็กลายเป็นพ้นผิดไปได้ แล้วอย่างนี้กฎหมายจะดำรงความศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร เมื่อผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายเป็นเสียเอง ดังนั้นจำเป็นที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายเกี่ยวข้องต้องลงมาใส่ใจ จัดการปัญหาให้ได้ ก่อนที่ระดับความน่าเชื่อถือจะติดลบมากไปกว่าเดิม จนแทบจะไม่เหลือศักดิ์ศรีอีกแล้ว

              เช่นเดียวกับปัญหาชาวโรฮิงญา ที่หลบหนีจากประเทศพม่าและเข้าเมืองไทยผิดกฎหมาย ซึ่งจำนวนที่เข้าประเทศนับวันมีแต่เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะไทยต้องยึดหลักการมนุษยธรรมในการให้ความช่วยเหลือ แต่ประเทศต้นทางไม่ยินยอมรับชนกลุ่มนี้กลับไป ขณะที่ประเทศที่สามก็ไม่มีแห่งใดพร้อมจะรับชาวโรฮิงญาไปอยู่ในประเทศด้วย ไทยจึงต้องเผชิญปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่ตลอดมา และการตั้งค่ายผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพก็ไม่ใช่ทางออกเช่นกัน เนื่องจากหวั่นเกรงกระทบความมั่นคง และยิ่งซ้ำเติมปัญหาคือ ขบวนการค้ามนุษย์ เข้าไปแสวงหาประโยชน์ ที่มีข้อครหาว่า เจ้าหน้าที่ของไทยเข้าไปเรียกร้องเงินทองจากกลุ่มโรฮิงญา หากินบนความทุกข์ของกลุ่มชนไร้สัญชาตินี้

               ข้อเท็จจริงจากกระแสการกล่าวหาในเรื่องดังกล่าว แม้จะมาจากปากคำของชาวโรฮิงญาเองก็ตาม แต่ต้องมีการสอบสวนอย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย เพื่อให้ความจริงกระจ่าง เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ขบวนการค้ามนุษย์น่าจะเป็นเครือข่ายใหญ่ที่มีทั้งนายหน้าชาวโรฮิงญา ชาวพม่าและเจ้าหน้าที่รัฐของไทยบางกลุ่มร่วมมือกันกระทำ และยังมีเจ้าของบ้านที่ให้ที่พักพิงกักกันด้วย หากการตรวจสอบทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่จะได้ตัวกลุ่มกระทำผิดเหล่านี้ กลัวแต่ว่ามีการลูบหน้าปะจมูกช่วยเหลือกัน และบอกว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่สื่อต่างประเทศนำไปเผยแพร่ ดังนั้นภาครัฐจะต้องเคลียร์ปมสงสัยให้กระจ่าง อย่าให้ประเทศเสียภาพลักษณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ