ข่าว

เจาะเหตุผลไม่แจ้งข้อหา เจตนาฆ่า ในคดี ลันลาเบล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เจาะเหตุผลไม่แจ้งข้อหา เจตนาฆ่า ในคดี ลันลาเบล คอลัมน์... ล่าความจริง..พิกัดข่าว  โดย... ปกรณ์  พึ่งเนตร

 

 

 

          การทำคดีในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลสูงเช่นนี้ต้องบอกว่าสร้างความหนักใจไม่เฉพาะกับ “สื่อกระแสหลัก” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงตำรวจ ในฐานะพนักงานสืบสวนสอบสวนด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

-ทามไลน์ก่อน "น้ำอุ่น" จนมุมคาปั๊มน้ำมัน
-ญาติลันลาเบล ระบุยังไม่ฌาปนกิจจนกว่าคดีชัดเจน

 

 

          เห็นชัดกับคดี “ลันลาเบล” หลักฐานกระจายมาจากทุกทิศทุกทาง นี่ก็ใหม่ นี่ก็สด นั่นก็ลึก โน่นก็ลับ กลายเป็นว่าข่าวลือหรือข่าวที่พิสูจน์กันเอง นำหน้าการตรวจพิสูจน์อย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไปมาก


          สุดท้ายเจ้าหน้าที่นั่นแหละกลายเป็นจำเลยเพราะทำงานไม่ทันใจสังคม อย่างคดี “ลันลาเบล” ก็เช่นกัน การขออนุมัติหมายจับล่าช้า และการตรวจสอบเนิ่นนานโดยยังไม่แจ้งข้อหา ทำเอาตำรวจโดนถล่มไปไม่น้อย


          อย่างเรื่องข้อหาที่เตรียมแจ้งกับผู้ต้องสงสัยและออกหมายจับ เบื้องต้นมี 3 ข้อหา คือ กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย อนาจารและกักขังหน่วงเหนี่ยว ปรากฏว่าไม่มีข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามที่มีการนำคดี “ลันลาเบล” ไปเทียบกับคดีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16412/2555 ซึ่ง “เนชั่นทีวี” เปิดประเด็นเอาไว้เป็นสื่อแรก


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16412/2555 เป็นคดีที่จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายชายขี่รถจักรยานยนต์พาสาวคนรักซ้อนท้ายไปเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้สาวคนรักตกจากรถและหมดสติ แต่แทนที่จำเลยจะช่วย กลับหลบหนี ทิ้งสาวคนรักสลบอยู่ถึง 8 วัน ไม่ได้แจ้งให้ญาติข้างแฟนทราบ สุดท้ายมีคนมาเจอจึงช่วยไว้ได้


          ศาลพิพากษาคดีนี้ว่าฝ่ายชายมีหน้าที่อันเกิดจากการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนของตนเอง คือพาสาวคนรักไปเที่ยว เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงเกิดหน้าที่ “ต้องช่วยเหลือดูแลตามสมควร” เมื่อไม่ยอมช่วยก็ถือว่า “งดเว้นการกระทำ” ซึ่งมีผลเท่ากับ “กระทำโดยเจตนา” ทำให้แฟนสาวบาดเจ็บสาหัสเกือบตาย จึงผิดฐานพยายามฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล (ศาลมองว่า จำเลยต้องเล็งเห็นผลได้ว่าปล่อยทิ้งไว้จะเกิดอะไร)

 

 


          คดีนี้นักกฎหมายหลายคนมองว่าคล้ายคลึงกับคดีลันลาเบล จึงคิดว่าน่าจะแจ้งข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว “ลันลาเบล” เสียชีวิต โดยความเห็นของคดีนี้กับคดีทิ้งแฟนสาวบาดเจ็บไว้ข้างทาง ก็คือน้ำอุ่นสมัครใจพาลันลาเบลไปคอนโดเอง ถือเป็นการกระทำที่เกิดก่อนหน้า ลันลาเบล เสียชีวิตหลังจากอยู่กับน้ำอุ่นแล้ว


          ฉะนั้นเมื่อน้ำอุ่นไม่ยอมช่วยลันลาเบล เช่น พาส่งโรงพยาบาล แต่กลับอุ้มไปวางไว้บนโซฟาชั้นล่างของคอนโด แล้วรอให้เพื่อนมารับตัวไปแทน ก็อาจเข้าข่าย “งดเว้นการกระทำ” คือ “ไม่ยอมช่วย” ทั้งๆ ที่มีภาระต้องช่วย เพราะพาลันลาเบลมาเอง ฟังแล้วก็ดูมีตรรกะเหตุผลดีพอสมควร


          แต่การที่มีข่าวว่าตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหานี้เพราะมีเงื่อนปมสำคัญอย่างหนึ่ง คือสาเหตุการตาย และ “ช่วงเวลาการเสียชีวิต” ของลันลาเบลว่าเกิดจากน้ำอุ่น และ/หรือเกิดในช่วงที่อยู่กับน้ำอุ่นจริงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า คดีปล่อยแฟนสาวบาดเจ็บไว้ข้างทาง การที่แฟนสาวได้รับบาดเจ็บ เป็นการกระทำของฝ่ายชาย คือขับรถจักรยานยนต์ไปเฉี่ยวชน แต่กรณี “ลันลาเบล” เป็นความมึนเมา ซึ่งยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าน้ำอุ่นเป็นคนบังคับให้ดื่ม หรือมอมเหล้า และจากผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์เบื้องต้นยังไม่พบสารเสพติดในร่างกายลันลาเบลด้วย


          ฉะนั้นการเสียชีวิตของลันลาเบลอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากน้ำอุ่นโดยตรง และตัวน้ำอุ่นเองก็อาจจะอ้างได้ว่าไม่รู้ว่าลันลาเบลกำลังจะเสียชีวิต รู้แค่ว่าเมา เพราะผลตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดก็พบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์สูงกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (แค่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ก็ห้ามขับรถแล้ว)


          ส่วนเรื่อง “เวลาการเสียชีวิต” ซึ่งล่าสุดตำรวจแถลงช่วงเวลากว้างๆ ออกมาแล้ว และน่าจะนำไปสู่การออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องในคดีได้ โดยเฉพาะหาก “ลันลาเบล” เสียชีวิตตั้งแต่ที่บ้านที่จัดปาร์ตี้ ก็ต้องบอกว่าคนที่ร่วมปาร์ตี้ “งานเข้า” แต่หากเสียชีวิตหลังจากนั้น ทว่าสิ้นใจก่อนที่น้ำอุ่นนำร่างไปวางบนโซฟาคอนโดในตอนดึก ก็มีโอกาสที่น้ำอุ่นจะโดนข้อหาเคลื่อนย้ายหรืออำพรางศพด้วย


          เรื่อง “เวลาการตาย” มีการอ้างถึงนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ ยี่ห้อซัมซุง สีชมพู ที่ลันลาเบลสวมใส่ในวันเสียชีวิต เพราะนาฬิกาประเภทนี้มีคุณสมบัติสามารถวัดชีพจรและอัตราการเต้นของหัวใจได้ ฉะนั้นจึงอาจบันทึกได้ว่า ลันลาเบลเสียชีวิตเมื่อไร เบื้องต้นมีขาวว่านาฬิกาหยุดวัดชีพจร ซึ่งหมายถึงชีพจรอาจขาดหายไป หรืออัตราการเต้นของหัวใจต่ำมากจนตรวจวัดด้วยนาฬิกาไม่ได้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น.


          แต่ข้อมูลจากนาฬิกาไม่ใช่คำตอบสุดท้าย พ.ต.อ.ศิรวัฒน์ ดีพอ ผกก.3 บก.ปอท. ยอมรับว่า การตรวจสอบนาฬิกาสมาร์ทวอทช์เป็นส่วนหนึ่งในการไขปริศนาของคดีเท่านั้น ซึ่งต้องนำข้อมูลนี้ไปประกอบกับข้อมูลอื่น โดยเฉพาะผลตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์
  

          คำอธิบายนี้ถือว่าชัดเจน เพราะสมาร์ทวอชท์อาจหยุดทำงานถ้าแบตเตอรี่หมด หรือตัวนาฬิกาอยู่ห่างจากสมาร์ทโฟนเกินระยะทำการ


          นี่คือเงื่อนงำ ข้อมูล ข้อจำกัด และข้อกฎหมายทั้งหมดในคดี “ลันลาเบล” ที่สุดสับสนอลหม่าน และยึดพื้นที่ข่าวทั้งในสื่อกระแสหลักและในโซเชียลมีเดียมานานกว่า 1 สัปดาห์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-นาฬิกาลัลลาเบลบอกเวลาตายอยู่กับใคร
-โฟกัสอีกจุด มือขยับจับใต้ผ้าคลุมลันลาเบล
-จับพิรุธแบบชัดๆ นาทีลันลาเบลลั่นร้องขอชีวิต "ปล่อยกูเถอะ"
-รวยมาจากไหน แฉบ้านปาร์ตี้จ้าง ลัลลาเบล หาเด็กทุกวัน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ