คอลัมนิสต์

ย้อนอดีตมองปัจจุบันเดินเกมบีบ"ประยุทธ์" ลาออก หรือ ยุบสภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ่านใจ"ประยุทธ์"กับกลเกมเกียกกาย"ลาออกหรือยุบสภา" จะเกิดขึ้นจริงไหม...พลิกย้อนดูจุดจบของผู้นำไทยคู่ฟ้าในอดีต ล้วนเดินเกมภายใต้สถานการณ์บีบเค้นอย่างไร /เจาะประเด็นร้อน โดย อสนีบาต

หลายพื้นที่เมืองไทยกำลังประสบปัญหาฝนตก "น้ำท่วม" จนรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-กลุ่มการเมือง-ภาคประชาสังคมลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านกันแบบไม่เว้นวัน  

 

เป็นสัญชาตญาณ"คนการเมือง"ที่ต้องไปดูแลมวลชน  หากใครไม่สัมผัสพื้นที่  คือ ความแปลกและสุ่มเสี่ยงหมดลุ้นเข้าสภาหินอ่อนในการหย่อนบัตรเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้า


นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดชัยภูมิ

 

ยามนี้จะพบตามหน้าสื่อถึงกระแสข่าวและแรงปั่นจากหลากวิธีที่กำลังลดทอน-ด้อยค่าการบริหารราชการแผ่นดินของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า"ล้มเหลว"รวมทั้งรอยแยกในพรรคพลังประชารัฐที่คล้ายว่าแบ่งฝ่ายระหว่างปีกพลเอกประยุทธ์+พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กับขั้วพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพปชร.

 

ภาพที่สังคมพบคือ การที่ผู้แทนฯพปชร.แบ่งฝ่ายในการรอรับแกนนำ 3 ป.ในการลงพื้นที่แบบชัดแจ้ง  จนฝ่ายตรงข้ามหยิบไปขย้ำ 

 

"การลดทอนราคาทางการเมือง"นั้นไม่แปลกหากจะมาจากขั้วตรงข้ามรัฐบาล เพราะทุกยุคสมัยก็เกิดเหตุแบบนี้ อยู่ที่ภูมิต้านทานของสร.1ว่าจะยืนระยะไหวไหม..และจะพลิกเกมกลับชิงจังหวะอย่างไร

แต่"การด้อยค่าจากคนกันเอง"นั้น  ส่อให้เห็นรอยร้าวของพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล และหลายคราวทำให้เหตุยุบสภาบังเกิด จนวันนี้บางพรรคยังหารันเวย์กลับมาเป็นเบอร์ 1 ตึกไทยคู่ฟ้า(จากการเลือกตั้ง)ไม่ได้ -บางพรรคสูญพันธุ์ไปแล้ว

 

นายกฯลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จ.ชัยภูมิท่ามกลางเสียงเชียร์ "ลุงตู่" สู้ๆ

 

หากใครมีโอกาสสวมบทสร.1เหมือน "พลเอกประยุทธ์"จะเลือกการลาออกหรือยุบสภา(ครบวาระ/ก่อนครบวาระ)กันดี

 

ย้อนหลังการเมืองไทย เอาเฉพาะหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 พบคำตอบของผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งว่า ปลายทางของสร.1แต่ละชีวิตนั้นจบลงอย่างไรบนถนนการเมือง 

 

รัฐบาล"ชวน หลีกภัย "ผู้แทนฯมือหนึ่งของจ.ตรังและหัวหน้าพรรคสีฟ้าคนที่ 5 ชนะเลือกตั้งครั้งแรกและครั้งเดียวคือหลังเหตุพฤษภาทมิฬ (รัฐบาลชวน 1 ทำหน้าที่วันที่ 23 กันยายน 2535 - 13 กรกฎาคม  2538)   โดยช่วงปลายรัฐบาลเจ้าของฉายามีดโกนอาบน้ำผึ้ง โดนมรสุมแจกที่ดินสปก.4-01ให้คนรวย และก่อนการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล (กรณีการแจกเอกสารสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.4-01) พรรคพลังธรรมถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล  

 

ทำให้ ชวน หลีกภัย ตัดสินใจตราพระราชกฤษฎีกา"ยุบสภา" ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2538  ก่อนที่จะมีการลงมติศึกซักฟอก 1 ชั่วโมง 30 นาที และในช่วงอภิปรายฯคราวนั้นอย่าลืม"กระจงวิ่งในป่าละเมาะ ณ ไข่มุกแห่งอันดามัน" อันลือลั่นจากคนโตอีสานใต้  

 

และเมื่อพรรคสีฟ้าได้คัมแบ็กตั้งรัฐบาลชวน2 เมื่อวันที่  9 พฤศจิกายน  2540  จากภาวะ"ชาวนากับงูเห่าภาคแรก"     อายุของครม.ชวน2 นั้นลากได้สามปีจนยุบสภาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2543 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคม 2544  พบว่าพรรคไทยรักไทยชนะพรรคสีฟ้าจนกลายเป็นคู่แค้นทางการเมืองมาจนถึงวันนี้  

 

กล่าวโดยสรุป การเลือกตั้งวันที่ 23 กันยายน 2535 คือการชนะด้วยระบบเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของปชป.

 

 

รัฐบาล"บรรหาร ศิลปอาชา"  แห่งเมืองสุพรรณ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2538  นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทยและยังนั่งเก้าอี้มท.1ไปด้วย   เพื่อสยบแรงกระเพื่อมในพรรคชาติไทย เพราะสองบิ๊กจาก สองก๊วนคือ "เสนาะ เทียนทอง" แห่งกลุ่มวังน้ำเย็นกับ วัฒนา อัศวเหมจากขั้วปากน้ำ ต่างอ้างสิทธิในเก้าอี้รมว.มหาดไทย ทำให้เจ้าของฉายาเติ้งเสี่ยวหาร นั่งควบสร.1-มท.1เอง โดยส่งเสนาะไปเป็นรมว.สาธารณสุข 

 

ส่วนวัฒนาไปนั่งรมว.แรงงานฯ จนเป็นรอยร้าวในพรรคปลาไหล ต่อมาวันที่ 18-20 กันยายน 2538  พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจว่าการบริหารประเทศของบรรหารไร้ประสิทธิภาพ(สื่อมวลชนตั้งฉายาให้รับบาลนี้ว่า"ครม.ยี้") และยังเจอประเด็น"ปมสัญชาติ"ในศึกซักฟอก  ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้ขอให้มังกรเมืองสุพรรณลาออกจากตำแหน่งภายใน 7 วัน  

 

ตอนนั้นบรรหารรับปาก  แต่สุดท้ายตัดสินใจ"ยุบสภา" เมื่อวันที่ 27 กันยายน  2539 แทน และจัดให้มีการเลือกตั้งในลำดับต่อไป  จากนั้นพรรคชาติไทยลดขนาดเป็นพรรคขนาดกลาง จนโดนยุบพรรคแล้วแจ้งเกิดใหม่ในนามพรรคชาติไทยพัฒนาในวันนี้ โดยดูวี่แววแล้วโอกาสกลับไปเป็นแกนนำรัฐบาลอีกคราวนั้น..ยากยิ่ง
 

รัฐบาล"พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ"  ผลการเลือกตั้งส.ส.วันที่ 17 พฤศจิกายน  2539 (การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 19) พรรคความหวังใหม่  ได้ส.ส. 125 ที่นั่ง จึงตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ หลัง"พ่อใหญ่จิ๋ว"นำทัพลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งที่สามด้วยแคมเปญ "ได้เวลา กินดี อยู่ดี" ส่งผลให้ "บิ๊กจิ๋ว" รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ควบกับรมว.กลาโหมต่อจากมังกรเมืองสุพรรณ  

 

ช่วงนั้นสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกบานปลายและฟองสบู่แตก เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียจากวิกฤตต้มยำกุ้ง เกิดเหตุการณ์ประท้วงทั่วไทยเพราะวิกฤตศรัทธาผู้นำที่ลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เจ้าของฉายาขงเบ้งแห่งกองทัพบกโดนสังคมบีบให้"ลาออก" ส่งผลให้ครม. คณะที่ 52 สิ้นสุด  เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน  2540  

 

ตอนนั้นขั้วพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เสนอชื่อ "พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ" หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ซึ่งเป็นแคนดิเดต 3ช.ในการฟอร์มรัฐบาลใหม่ขึ้นมา (3ช.ในยามนั้นคือ พลเอกชวลิต ,พลเอกชาติชาย,ชวน หลีกภัย) สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่สุดท้ายพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ พ่อบ้านพรรคปชป.ในตอนนั้นสามารถหักด่านเสนาะ   เทียนทอง อดีตรมว.มหาดไทย ในฐานะผู้จัดการรัฐบาลและเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ที่ผลักดัน"น้าชาติ"แทน"บิ๊กจิ๋ว"ในการคัมแบ็กไทยคู่ฟ้า

 

ถัดจากนั้นพรรคดอกทานตะวันลดระดับเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและยุบพรรครวมกับพรรคไทยรักไทยจวบจนเลือนหายจากบันทึกการเมืองไทย และการลาออกของ "บิ๊กจิ๋ว"ในครั้งนั้นเสมือนเป็นบทเรียนของคนการเมืองทุกชีวิตว่า"หากมีอำนาจแล้ว ยุบสภาดีกว่าลาออก"

 

ทักษิณ ชินวัตร  หรือ โทนี่ วู้ดซั่ม อดีตนายกฯและผู้ต้องหาคดีทุจริตหลายคดีที่หลบหนีการจับกุมไปอยู่ต่างประเทศ

 

รัฐบาล"ทักษิณ ชินวัตร" ผลการเลือกตั้งวันที่ 4 มกราคม 2544 กระแส"ทักษิณฟีเวอร์"ทำให้"พรรคไทยรักไทย"ในฐานะพรรคน้องใหม่ชนะเลือกตั้งและเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล การทำงานสี่ปีเต็ม ทำให้"อัศวินควายดำ"ได้คะแนนนิยมแบบทะลักจุดแตก แม้ช่วงต้นจะเจอมรสุมซุกหุ้นให้เป๋ไปบ้างแต่เมื่อพ้นมลทินความอหังการ์แบบ "เศรษฐีเหลิงลม" ตามที่สื่อทำเนียบฯมอบฉายาให้  ที่มักปะ-ฉะ-ดะแทบทุกฝ่ายในสังคมแต่ได้ใจชาวบ้านและเมื่อมีการเลือกตั้งวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2548 เกิดขึ้นกับการหาเสียง"จังหวัดไหนเลือกทรท.ดูแลพิเศษ จังหวัดไหนไม่เลือก รอไปก่อน  "ทำให้ทรท.ได้ส.ส.สองระบบ(ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ) ราว 377 คน จนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้"ทักษิณ"ติดลมบนจนดำเนินการหลายสิ่งหลายอย่างที่หมิ่นเหม่ผิดกฎหมายและขัดความรู้สึกสังคม เมื่อภาวะหลายอย่างที่คาบเกี่ยวผลประโยชน์ทับซ้อนปรากฏจนเกิดการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง   นายกรัฐมนตรีในตอนนั้นประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และส่อเค้าการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และท่าทีของคนหน้าเหลี่ยมที่ชักเข้า-ชักออกทางการเมืองและน็อตหลุดหลายครั้งจนเกิดวาทะผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญแทรกแซงการเมือง และเกิดเหตุยึดอำนาจโดย คมช.วันที่ 19 กันยายน 2549 ที่เป็นส่วนหนึ่งให้"โทนี่ วู้ดซั่ม" ต้องไปปักหลักคุมการเมืองที่ต่างแดนจนถึงยามนี้  และในห้วงที่คมช.ยึดอำนาจนั้นพรรคไทยรักไทยโดนยุบพรรค ด้วยสาเหตุจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549

 

รัฐบาล"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"  อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่  7 ได้ทำหน้าที่ประมุขฝ่ายบริหาร เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้เจ้าของฉายาโฆษกเทวดาในอดีต  ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่27   โดยเป็นสร.1 ต่อจากสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (สมชายเป็นนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมต่อจากสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน)  ซึ่งพรรคพลังประชาชนมีความวุ่นวายในช่วงก่อนและหลังตั้งรัฐบาล เช่น "ยงยุทธ  ติยะไพรัช" ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองหัวหน้าพรรค  โดนกล่าวหาทุจริตเลือกตั้งส่งผลให้พรรคโดนยุบ ส่วน"สมัคร"มีความผิดในการจัดรายการอาหาร"ชิมไป บ่นไป"ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ เพราะหลังจากเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว "สมัคร"ยังคงได้รับค่าตอบแทนในการเป็นพิธีกรที่มีลักษณะเป็นทรัพย์สินจากเอกชน   จึงเป็นการรับจ้างการทำงานตามความหมายของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ทำให้เกิดตัวเก็ง 3ส.คั่วเก้าอี้สร.1ต่อจากสมัคร( คือ สมชาย,สมพงษ์ อมรวิวัฒน์,นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี) ในตอนนั้น"งูเห่าภาคสอง"เกิดขึ้นอีกจากการขยับของ"สุเทพ  เทือกสุบรรณ" พ่อบ้านพรรคสีฟ้าที่ทาบทาม"เนวิน ชิดชอบ" แกนนำแก๊งออฟโฟร์จากค่ายพลังประชาชนให้สวิทช์ขั้ว     เพราะเนวินผิดหวังคนแดนไกลที่ไม่ดันสมัครให้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งและไปหนุนสมชายแทน  

 

โดย"เนวิน"ระดมส.ส.พลังประชาชนกว่ายี่สิบคนมาขึ้นพรรคภูมิใจไทยและหนุน"อภิสิทธิ์"ได้เป็นสร.1  โดยคนโตอีสานใต้ได้กล่าววาทะ "มันจบแล้วครับนาย" อันลือลั่น....และตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร โดยตอนนั้นมีการพาดพิงว่า 3ป.ในวันนี้คือคีย์แมนในวันนั้นที่ดีลพรรคสีฟ้าจับมือกับพรรคสีน้ำเงิน โดยมีการลือกันว่า"บิ๊กป้อม"จะเป็นผู้ทรงบารมีทางการเมืองอีกคนหนึ่ง และเมื่อมีการยุบสภาวันที่ 10 พฤษภาคม   2554 เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม   2554 หลังจากทราบผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้งอีกคราว(อภิสิทธิ์เเพ้สมัคร/ยิ่งลักษณ์/พลเอกประยุทธ์)

 

ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร อดีตนายกฯ น้องสาวทักษิณ เป็นอีกหนึ่งผู้นำหญิงหนีตามพี่ชายไปอยู่ต่างแดนจากคดีทุจริต

 

รัฐบาล"ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร"  นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมหญิงคนแรกของเมืองไทย ใช้เวลาหาแต้มตามบท"นารีขี่ม้าขาว" เพราะกระแสคนเสื้อแดงที่กำลังมาแรง เหตุเพราะที่นปช.ประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์สองปีติดต่อกันจนเกิดเหตุรุนแรง

 

"นายกฯปู"สังกัดพรรคเพื่อไทย (พรรคลำดับที่สามของพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน)ลงสมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อันดับ1 เริ่มงานด้วนยโยบายรับจำนำข้าว/แท็บเล็ตนักเรียน/กองทุนสตรีฯลฯ 

 

เริ่มโดนโจมตีว่ามีพฤติกรรมทุจริตเอื้อพวกพ้องจากนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าวตั้งแต่ปีการผลิต 2554-57  มีคดีกว่า 1,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท รวมทั้งการลักหลับผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จนเกิดมวลชน กปปส.ขับไล่"นายกฯปู" มีแนวร่วมออกมาเดินขบวนขับไล่กลายเป็นมวลมหาชนประชาชนล้านคน ทำให้นายกฯปูประกาศ"ยุบสภา"  เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556  และให้มีการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่การเลือกตั้งครั้งนั้นโมฆะ เพราะเกิดการประท้วงและหลายพรรคบอยคอต  รวมทั้งยังมีความปั่นป่วนตามมาเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้"ยิ่งลักษณ์"พ้นจากการรักษาการ สร.1ในวันที่ 7 พฤษภาคม  2557 เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยมิชอบ จนเกิดภาวะสูญญากาศทางการเมืองเริ่มมีการตอบโต้กันของฝ่ายหนุน-ฝ่ายไล่นายกฯปู วันที่ 20 พ.ค.2557  

 

เมื่อเวลา 03.00 น.  ได้มีประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/ 2557 เรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457  ลงนามโดย "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผบ.ทบ.ในตอนนั้นและวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2557 มีการเจรจาของฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองแต่ตกลงกันไม่ได้

 

พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผบ.ทบ.จึงประกาศยึดอำนาจในช่วงเวลา 16.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม2557 จนเป็นบ่อเกิดของคสช.และแม่น้ำห้าสายรวมทั้งพรรคพลังประชารัฐที่หนุนพลเอกประยุทธ์ให้เป็นแคนดิเดตนายกฯจากการเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2561 เเม้พรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.อันดับหนึ่ง เเต่ พปชร.กลับได้สิทธิการตั้งรัฐบาลเพราะดีลกับพรรคอื่นๆได้เกิน250ส.ส.เเละเกิดตำนานงูเห่าภาคสาม/การเเจก กล้วย

 

เห็นได้ว่า บรรดาผู้นำทางการเมืองในอดีตต้องเผชิญแรงต่อต้านอันเป็นผลจากการบริหารงานไม่เป็นสัปปะรด  ขณะที่บางรายแสดงให้เห็นพฤติกรรมเจตนาทุจริตกอบโกยผลประโยชน์ชาติให้ตนเองและพวกพ้องในที่สุดก็เกิดแรงต้านครั้งรุนแรง ไม่สามารถ "เอาอยู่" ที่จะรักษาบัลลังก์ทำเนียบรัฐบาลต่อไปต้องตัดสินใจล้างกระดานประกาศ "ยุบสภา" เป็นส่วนใหญ่  

 

ทว่า กรณีของพล.อ.ประยุทธ์ ตรงกันข้ามกับเหล่าอดีตผู้นำที่มีบาดแผลอื้อฉาวนัก

 

ถึงกระนั้นวาระการดำรงตำแหน่งกำหนดไว้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ  ขณะเดียวกัน มรสุมรุมกระหน่ำจากนักการเมืองรอบตัวถาโถมโหมเข้าใส่พล.อ.ประยุทธ์ จากทุกทิศทุกทาง ให้ยืนระยะไปได้ไกลขนาดไหน  ถึงที่สุดแล้วต้องมีคำตอบในไม่ช้าเช่นกันว่า จะ"ยุบสภาหรือลาออก" 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ