ชั่วโมงนี้ ทุกย่างก้าวของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะถูกสื่อจับจ้องเป็นพิเศษ
วันอังคารที่ 28 ก.ย.2564 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์” เดินไปส่ง พล.อ.ประวิตร ขึ้นรถประจำตำแหน่ง เดินทางกลับ นักข่าวก็ถอดรหัสทุกอิริยาบถ ประคองกันมั้ย กอดกันมั้ย หรือเดินเคียงข้างกันมาเฉยๆ
สื่อบางสำนักเห็นภาพ “พล.อ.ประยุทธ์” เดินมาส่งพี่ใหญ่ ก็พาดหัวข่าว สยบทุกข่าวลือ แต่บางสำนักกลับมองว่า พี่ใหญ่-น้องเล็ก ยังมีระยะห่างกันอยู่
อย่างไรก็ตาม นักข่าวทำเนียบรายงานว่า หลังประชุม ครม. พี่น้อง 3ป. ได้มีการพูดคุยนอกรอบกันต่อที่ห้องสีเหลือง ตึกสันติไมตรี ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์ ได้แยกออกอีกประตูหนึ่ง
เนื่องจากวันนี้ สูตรเกมอำนาจ ไม่ได้มีแค่ “3ป.” หากแต่เป็น “3 ป.+1 ป.” จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ศึกสายเลือดพี่น้อง 3ป.ยังไม่จบ
ป.ตัวใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มีแนวคิดชักธงพลังประชารัฐ โดยไม่มี “ประยุทธ์” ในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะนายกฯประยุทธ์ บอบช้ำจากการถูกถล่มโจมตีสารพัดเรื่อง แถมเรตติ้งก็ลดลงเรื่อยๆ
นักวิเคราะห์การเมืองตั้งคำถามว่า พล.อ.ประวิตร ถือธงนำพลังประชารัฐ เดินหน้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จะเกิดอะไรขึ้น
‘กระแสประยุทธ์’
การเลือกตั้งทั่วไปสมัยที่แล้ว ส.ส.พลังประชารัฐ โดยส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากกระแสความนิยมในตัว “พล.อ.ประยุทธ์” พ่วงด้วยประชานิยมประยุทธ์ หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ยกตัวอย่าง ส.ส.กรุงเทพมหานคร 12 คน ล้วนเป็นคนหน้าใหม่ ที่มากับกระแสความสงบจบที่ลุงตู่ ซึ่งสนามเมืองหลวง เป็นเรื่องของกระแสล้วนๆ บวกกับความผิดพลาดในเชิงยุทธศาสตร์หาเสียงของ ปชป. ที่ประกาศไม่เอาประยุทธ์ ในโค้งสุดท้าย
สนามเลือกตั้งภาคใต้ ก็มีลักษณะคล้ายสนามเมืองหลวง ส.ส.พลังประชารัฐ 14 คน ได้เข้าสภาฯ เพราะคนใต้อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ด้วยคำขวัญทางยุทธศาสตร์ของ ปชป. ที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจ ทำให้คนใต้จำนวนไม่น้อยหันไปเลือกผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่
ส.ส.ภาคกลาง พรรคพลังประชารัฐ เป็นแชมป์ภาคกลาง โดยมี ส.ส.เขต 36 คนจากทั้งหมด 90 คน ซึ่งมีทั้ง ส.ส.บ้านใหญ่ ที่มีฐานคะแนนส่วนตัว บวกกับกระแสรักประยุทธ์
เกือบครึ่งหนึ่งของ ส.ส.พลังประชารัฐในภาคกลาง เป็น ส.ส.หน้าใหม่ ได้รับอานิสงส์จากพล.อ.ประยุทธ์ เช่น เพชรบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสาคร, นครปฐม และนนทบุรี
‘นักเลือกตั้งอาชีพ’
แน่นอน พรรคพลังประชารัฐ มีองค์ประกอบของนักเลือกตั้งอาชีพอยู่กว่าครึ่งพรรค “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ไม่ถนัดการสื่อสารกับคนเหล่านี้ จึงสู้พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตรไม่ได้ ในแง่การบริหารจัดการนักเลือกตั้งร้อยพ่อพันแม่
ส.ส.พลังประชารัฐ สายเหนือ 25 คน ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.เหนือตอนล่าง ได้แก่สุโขทัย, ตาก,กำแพงเพชร, พิจิตร, พิษณุโลก ,นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ส่วนใหญ่เป็น “อดีต ส.ส.” ที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย
สำหรับตอนบน พะเยาก็ถือว่าเป็นฝีมือของ ร.อ.ธรรมนัส ล้วนๆ และลำปางนั้น มาจากเลือกตั้งซ่อม ที่ไม่พรรคเพื่อไทยในสนาม
ส่วน ส.ส.หน้าใหม่ 2 จังหวัดคือ พิจิตร 3 คน และพิษณุโลก 2 คน ได้รับเลือกตั้งจากกระแสความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์
ทำนองเดียวกัน สนามเลือกตั้งภาคอีสาน มีอดีต ส.ส.หลายพรรค ย้ายมาลงสมัครในสีเสื้อ พปชร.เกือบร้อยคน แต่ส่วนใหญ่สอบตก
ส.ส.เขตของพลังประชารัฐ ในภาคอีสาน 12 คน มีลักษณะเบี้ยหัวแตก ได้เข้าสภาฯ เพราะปัจจัยพิเศษบวกฐานเสียงเดิม มีกระแสรักประยุทธ์อยู่บ้าง เป็นคะแนนเสริม
ถ้าคิดแบบธรรมนัส หวังสลัดทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ดัน พล.อ.ประวิตร เป็นแม่ทัพใหญ่ ใช้ยุทธศาสตร์ขอนแก่นโมเดล วาดหวังเป็นพรรคขนาดกลางไว้ต่อรองข้ามขั้ว ตั้งรัฐบาลสมัยหน้า ก็ไม่ง่าย
หากหักลบ ส.ส.นกแลที่มีโอกาสสอบตกสูง บวกซุ้มบ้านใหญ่อาจทิ้ง พล.อ.ประวิตร พลังประชารัฐคงเหลืออยู่ไม่มาก และไร้อำนาจต่อรอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง