คอลัมนิสต์

ส่องน้ำยม "สมศักดิ์" เก๋าเปลี่ยนเกม รอพายุสงบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้ำยมล้นฝั่ง “สมศักดิ์” รอรับนายกฯประยุทธ์ ซุ่มสะสมกำลัง รอพายุในพลังประชารัฐอ่อนแรง ก่อนขยับเปลี่ยนเกม คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ย่างก้าวของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม นับจากนี้มีความน่าสนใจยิ่ง ในภาวะที่พรรคพลังประชารัฐ ตกอยู่ในภาวะอึมครึม

 

 

“สมศักดิ์” ยอมกลืนเลือด ไม่โวยวายที่ถูกปลดจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค และไม่มีตำแหน่งใดๆในคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ชุดปัจจุบัน

 

 

38 ปี บนถนนการเมือง “สมศักดิ์” พานพบความขัดแย้งในพรรคการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่พรรคกิจสังคม, พรรคไทยรักไทย, พรรคมัชฌิมาธิปไตย ,พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังประชารัฐ

 

 

พ.ศ.นี้ “สมศักดิ์” จึงขับเคลื่อนกลุ่มสามมิตร ไปตามสภาพที่เป็นจริง อาจมี ส.ส.อยู่ในการดูแลไม่มากนัก แต่ก็เป็นคนหน้าเดิมๆที่ร่วมหัวจมท้ายในช่วง 10 ปีหลัง

 

 

วันที่ 26 ก.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.สุโขทัย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมสุโขทัย

นัยว่า แกนนำกลุ่มสามมิตร จะประสาน ส.ส.ในจังหวัดสุโขทัย และใกล้เคียงเท่านั้น เพื่อให้ ส.ส.ใกล้ชิดนายกฯ มากขึ้น แต่จะไม่มีการขน ส.ส.ข้ามจังหวัดมาต้อนรับ เพื่อให้มีการเปรียบเทียบเหมือนกรณีเพชรบุรี-อยุธยา

 

‘อดีตวังน้ำยม’

 

เมื่อเอ่ยชื่อ “สมศักดิ์” หลายคนคงจำชื่อกลุ่มวังน้ำยมได้ดี ซึ่งก่อเกิดมาพร้อมกับกลุ่มวังบัวบาน ของเยาวภา วงศ์สวัสดิ์

 

 

ยุคพรรคไทยรักไทย หลังการเลือกตั้ง 2548 มี ส.ส. 376 คน จึงมากมายไปด้วยก๊กก๊วน ไม่ต่ำกว่า 15 กลุ่ม โดยกลุ่มวังน้ำยม สมัยนั้นถือว่าใหญ่ที่สุด มี ส.ส.อยู่ในซุ้มมากกว่า 80 คน

 

 

กลุ่มวังน้ำยม มีสองแกนนำคือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และ สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรองหัวหน้าพรรค โดยมี อนุชา นาคาศัย เป็นแม่บ้าน คอยดูแลบรรดา ส.ส.ในซุ้ม

หลังยุบพรรคไทยรักไทย “สมศักดิ์” นำมาอดีต ส.ส.จำนวนหนึ่งมาตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย เข้าสู่สนามเลือกตั้งปี 2550 แต่พรรคมัชฌิมาธิปไตยถูกยุบ จึงย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย

 

 

ปี 2561 สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อตั้งกลุ่มสามมิตร โดยตัวละครคนหน้าเดิมจากพรรคมัชฌิมาธิปไตย ก่อนจะเข้าร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ

 

 

‘ที่มั่นสามมิตร’

ปัจจุบัน เนื้อแท้กลุ่มสามมิตรของ “สมศักดิ์” มีอยู่ 4 ตระกูลคือ “เทพสุทิน”, “จึงรุ่งเรืองกิจ”, “นาคาศัย” และ “นิติกาญจนา”

 

 

ส่วนที่มั่นการเมืองสุโขทัย กลุ่มสามมิตร มี ส.ส. 2 คน คือ พรรณสิริ กุลนาถศิริ น้องสาวสมศักดิ์ และชูศักดิ์ คีรีมาศทอง อดีตนายกเทศมนตรีตำบลบ้านโตนด อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย

 

 

ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง สมศักดิ์เดินสายหาเสียงในภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ทั้งสิ้น

 

 

กระแสรักลุงตู่ ช่วยให้พลังประชารัฐ ชนะยกจังหวัดที่สนามพิจิตร ได้แก่เขต 1 พรชัย อินทรสุข อดีต ผอ.สำนักกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยพิษณุโลก, เขต 2 ภูดิท อินสุวรรณ์ อดีต ส.อบจ.พิจิตร เขต อ.ทับคล้อ และเขต 3 สุรชาติ ศรีบุศกร อดีตประธานสภา อบจ.พิจิตร

 

 

ส่วนสนามพิษณุโลก พลังประชารัฐชนะ 2 เขตคือเขต 3 อนุชา น้อยวงศ์ อดีต ส.อบจ.พิษณุโลก เขต อ.เนินมะปราง และเขต 5 มานัส อ่อนอ้าย อดีต ส.อบจ.พิษณุโลก เขต อ.นครไทย

 

 

ตอนแรก 5 ส.ส.พิจิตร และพิษณุโลก จะอยู่ในกลุ่มสามมิตร แต่ช่วงหลัง ส.ส.หลายคนแยกไปสังกัดกลุ่มธรรมนัส และกลุ่มหิมาลัย ผิวพรรณ ยังเหลืออนุชา น้อยวงศ์ ที่ยังอยู่กับกลุ่มสามมิตร

 

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสามมิตรก็เป็นแนวร่วมกับกลุ่มกำแพงเพชรสามัคคีของวราเทพ รัตนากร ชนิดไปไหนไปด้วยกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline