คอลัมนิสต์

แกะรอยเส้นทาง "แก้ รธน." ไฟต์ต่อกฎหมายลูก

แกะรอยเส้นทาง "แก้ รธน." ไฟต์ต่อกฎหมายลูก

23 ก.ย. 2564

แม้ว่า "ร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม" ที่รื้อระบบเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสม แล้วหวนกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้ว แต่ก็ยังมีเส้นทางที่ต้องเดินและสู้กันต่อเพื่อหวังผลในสิ่งที่ต้องการในกฎหมายลูก

 

"ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม"มาตรา 83 และมาตรา 91 ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระที่ 3 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงระยะเวลา 15 วันเพื่อรอดูว่าจะมีใครยื่นเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า"ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม"ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญเพื่อให้ร่างฯตกไปหรือไม่
 

 

ทั้งนี้ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" มาตรา 83 ระบุ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน (จากเดิม 350 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน(จากเดิม 150 คน) 

 

ส่วนมาตรา 91 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง แยกออกต่างหากจากผู้สมัคร ส.ส.เขต

 

 

ทำให้ระบบเลือกตั้งใหม่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. 2 ประเภท จากเดิมใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกทั้ง ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

 

เดิมมีทางพรรคการเมืองเล็กนำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ พยายามรวบรวมรายชื่อ ส.ส. เพื่อยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภาส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

 

แต่ตอนนี้ยงธงขาวไปแล้วเพราะรวบรายชื่อไม่ได้ถึง 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภาหรือของทั้งสองสภารวมกันซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

 

 

โดยพรรคการเมืองเล็กจะไปต่อสู้ในชั้นยกร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. แทน   

 

 

ในขณะพรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบที่ทำให้พรรคเล็กและพรรคขนาดกลางเสียเปรียบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ก็เปลี่ยนใจไม่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยจะไปสู้ในชั้นออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. แทนเช่นกัน

 


 

 

 

ด้าน ส.ว. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา บอกว่า สมาชิกวุฒิสภา( ส.ว.)ไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องที่จะส่ง"ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม"ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สรุปว่า ฝั่ง ส.ว. ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน

 

 

ซึ่งขณะนี้ก็เหลือระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ก็จะครบกำหนดระยะเวลา 15 วัน ในวันที่ 25 ก.ย.นี้แล้ว ดังนั้นแทบจะฟันธงได้ว่า คงไม่มีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเกี่ยวกับ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม"แน่นอน

 

 

ดังนั้นหากไม่มีการส่ง "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" ไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามระยะเวลาที่กำหนด ขั้นตอนต่อไปนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะส่ง"ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม"ไปให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรง
ลงพระปรมาภิไธยและประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ต่อไป

 

 

ส่วนที่มีผู้เสนอให้นายกฯ ส่ง"ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม"ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้นายกฯทำได้ เพราะตามกฎหมายกำหนดว่าต้องใช้วิธีการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.หรือ ส.ว หรือทั้ง ส.ส  และ ส.ว.เท่านั้น

 

อย่างไรก็ตามใน "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" มีบทเฉพาะกาลว่า ระบบเลือกตั้งใหม่ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง2 ใบ จะใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น

 

 

ดังนั้นหากมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ก็ยังใช้การเลือกตั้งแบบเดิม คือบัตรเลือกตั้งใบเดียว ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ระบบส.ส. พึงมีทุกคะแนนเสียงไม่มีตกน้ำอย่างเดิมไปก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไป

 


 


 

 


ไฟต์ต่อกฎหมายลูก

 

เมื่อ "ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" ประกาศใช้ ขั้นตอนต่อไปต้องมีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือกฎหมายลูก ให้สอดคล้องกับ"ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม" ที่กำหนดให้มีส.ส. เขต จำนวน 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ
จำนวน 100 คน และการใช้ระบบเลือกตั้ง 2 ใบ

 

โดย ส.ส. เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ก็คือไม่น้อยกว่า 40 คน เสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

 

 

ส่วน กกต.จะทำเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้สอดรับกับ"ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม"ฉบับใหม่

 

จากนั้นรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว. ก็จะประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือกฎหมายลูก ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน

 

 

ทั้งนี้กฎหมายกำหนดว่า ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา 180วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอต่อรัฐสภา

 

 

ตามเกมทางพรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทยและพรรคการเมืองเล็ก ก็จะมาสู้ในชั้นออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. ที่จะได้รับเลือกตั้ง

 

 

ทั้งนี้มีข่าวว่าพรรคก้าวไกลและพรรคภูมิใจไทยต้องการให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่ประเทศเยอรมนีใช้ โดยเป็นการเอาคะแนนสัดส่วน คือ คะแนนเลือกพรรคมากำหนดจำนวน ส.ส.ทั้งสภา พรรคใดได้คะแนนสัดส่วนเท่าไหร่ ก็จะได้ ส.ส.ทั้งสภาตามสัดส่วนคะแนนนั้น

 

 

ส่วนพรรคการเมืองเล็กต้องการให้ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมหรือ ส.ส.พึงมี เหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ทุกคะแนนเสียงไม่มีตกน้ำ  ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แค่ไหนเพียงไร ต้องรอดูกันต่อไป

 

 

สำหรับตามขั้นตอนการออกกฎหมาย เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายลูกแล้วก็ต้องมีการส่งร่างไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. พิจารณาอีกภายใน 15วัน นับแต่วันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 

 

 

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.ไม่มีข้อทักท้วงภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ก็จะมีการดำเนินการเพื่อประกาศใช้กฎหมายลูกต่อไป

 

 

ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญหรือ กกต.เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ      หรือทําให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ก็ต้องส่งกลับมายังรัฐสภา

 

 

จากนั้นรัฐสภาจะประชุมเพื่อพิจารณาร่างฯอีกครั้งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง โดยรัฐสภามีอํานาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต. ตามที่เห็นสมควรได้ และเมื่อดําเนินการเสร็จแล้วจะมีการดำเนินการเพื่อประกาศใช้กฎหมายลูกต่อไป

 

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ยังถกเถียงกันว่า หากยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับหลังรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้แล้ว จะจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่หากมีการยุบสภาซึ่งประเด็นนี้ยังไม่มีข้อยุติ 

 

 

แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา กกต.จะไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้ง หากยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับ 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง