คอลัมนิสต์

"ครูวีระ"ชี้ทำไม "เยาวชนปลดแอก" ต้องชุมนุมประท้วง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ครูวีระ" ชื่นชมและขอให้กำลังใจ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ชุมนุมประท้วง บอกเป็น "เรื่องดีมาก" เพราะยืนยันว่าไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เตือนอย่าจาบจ้วงคนไทยรักพระเจ้าอยู่หัว หวังผู้ใหญ่ไม่คิดอะไรร้ายๆกับเด็ก แม้ว่าจะมีเครื่องมืออยู่มากมายก็ตาม

นายวีระ สุดสังข์ นักเขียนอิสระ อดีตครูสอนภาษาไทย และศิลปินอีสาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ใจความว่า

การที่นักเรียน นิสิต นักศึกษารวมตัวกันออกมาชุมนุมประท้วง ถามว่า ดีไหม? ผมตอบทันทีว่า ดีมาก !

การเมืองในหนังสือ การเมืองที่ครูอาจารย์บอกสอนนั้น มันเป็นแค่ความรู้ แต่การลงภาคสนามคือการปฏิบัติจริง เรียนรู้จริงด้วยตนเอง สร้างเป้าหมายและสร้างพลังด้วยตนเอง และยังเป็นการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย มันยืนยันได้ว่า ประเทศไทยมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่สามารถออกมาเดินชูป้ายตามถนนหนทางได้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ตามนัด ม็อบ "เยาวชนปลดแอก" รวมตัว "อนุสาวรีย์ ปชต."

ผิดจากหลายประเทศซึ่งผมมีเพื่อนอยู่ เขาบอกว่า เขาอิจฉาประเทศไทย ไม่พอใจอะไร? เห็นสิ่งใดไม่ถูกต้องก็สามารถชุมนุมเรียกร้องได้ ขับไล่ผู้นำประเทศก็ได้ เราจะหาสิทธิเสรีภาพเหมือนประเทศไทยได้อย่างไร? ขณะเดียวกัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินของประเทศยังไม่ห้ามการชุมนุมประท้วงอีกด้วย

สิ่งที่เด็กๆ(นักเรียน นิสิต นักศึกษา) จะต้องเรียนรู้ก็คือ การวางแผน ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการชุมนุม การเตรียมความพร้อม นับแต่การสรรหาผู้นำในการชุมนุม, เนื้อหาสาระ, การวางตัวบุคคลดูแลความปลอดภัย(การ์ด), การเตรียมสถานที่ เวที เต็นท์ เครื่องเสียง เครื่องมือ อาหาร ยา ห้องสุขา ที่หลับนอน (หากชุมนุมข้ามคืน) การแก้ไขสถาณการณ์นาทีต่อนาที, ชั่วโมงต่อชั่วโมงและวันต่อวัน

สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการสร้างพลังในจิตใจตนเองว่า เข้มแข็ง แกร่ง กล้า มากน้อยแค่ไหน? พร้อมที่จะเป็นจะตาย จะบาดเจ็บได้หรือไม่? (หากมีการปะทะหรือการจากมือที่สาม)

 การสร้างความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวก็สำคัญมาก หากเกาะกลุ่มกันไม่แน่น โอกาสแตกสลายก็มากเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ไม่มีในหนังสือเรียน แม้ใครเล่าประสบการณ์ให้ฟังก็เข้าไม่ถึงจนซึ้งใจ

การชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน นับแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้เด็กๆขานรับกันเป็นทอดๆ เด็กๆจากมหาวิทยาลัยตามหัวเมืองต่างจัดชุมนุมขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งพอจะคาดคะเนได้ 2 ทาง คือ

1.เกิดจากจิตสำนึกอันแท้จริงว่า ต้องการเปลี่ยนแปลง 1.ยุบสภา 2.หยุดคุกคาม 3.แก้ไขรัฐธรรมนูญ

2.เกิดจากกลัวน้อยหน้า สถาบันนั้นจัดชุมนุมได้ สถาบันของเราต้องจัดชุมนุมได้ ถ้าไม่จัดชุมนุมเหมือนสถาบันอื่นๆ สถาบันของเราอาจถูกเหยียดหยามได้ จึงเห็นว่า การชุมนุมหลายสถาบัน ไม่ได้เน้นถึงการยุบสภา, การหยุดคุกถามและเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเป็นการหยิบประเด็นต่างๆมาด่า มาขับไล่ เรียกเสียงปรบมือและสร้างความสนุกสนาน ประมาณว่านี่คือ “แฟชั่นการชุมนุม”

ข้อน่าสังเกต เหตุการณ์ชุมนุมผ่านมาหนึ่งสัปดาห์แล้ว บรราดาสื่อวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์แทบไม่เห็นความสำคัญของเด็กๆ ครั้นจะบอกว่ารัฐบาลควบคุมสื่อได้ทุกสำนักก็เกินจะเชื่อ แม้แต่สื่ออิสระอย่างช่องยูทูบ ซึ่งใครก็สามารถนำเสนอได้ แต่ก็มีน้อยมาก คล้ายๆผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมองเห็นว่า “มันเป็นเพียงการเล่นเกมของเด็ก เล่นเบื่อก็หยุดเล่นไปเอง” ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้จะเป็นการประมาทเด็กๆไปสักหน่อย

แต่ขณะเดียวกัน กระแสต่อต้านเด็กๆก็มีมาก อันเนื่องจาก “จงใจหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ซึ่งปวงชนชาวไทยยังจงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์และไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเด็กๆ

หน่วยความมั่นคงของชาติบ้านเมืองก็นับว่า “ใจดีมาก” นับแต่ไม่ห้ามการชุมนุม, ไม่ใช้ความรุนแรง, แต่ใช้จิตวิทยาในการเดินเข้าหาเด็กๆพร้อมกับอำนวยความสะดวก เด็กๆอาจจะเพลินและได้ใจจนไม่รู้ว่า “ลึกๆแล้วผู้ใหญ่คิดอะไรอยู่” โดยส่วนตัวผมก็ไม่ปรารถนาให้ผู้ใหญ่คิดอะไรร้ายๆกับเด็ก แม้ว่าจะมีเครื่องมืออยู่มากมายก็ตาม

การชุมนุมจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ แต่สิ่งที่เด็กๆได้รับเต็มๆ คือ ประสบการณ์อันล้ำค่าในฐานะผู้นำ ในฐานะคณะกรรมการ ในฐานะผู้ตาม ในฐานะผู้มีส่วนร่วม ฯลฯ ประสบการณ์ครั้งนี้จะผิดถูกอย่างไร? เมื่อเวลาผ่านไป พวกเด็กๆเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประสบการณ์จะบอกเขาเองว่า สิ่งที่ได้กระทำลงไป คือ อะไร? น่าภูมิใจหรือน่าอาย, ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องๆ แล้วจะเป็นบทสรุปในชีวิตทางการเมืองของพวกเขา

ขอให้กำลังใจ

วีระ สุดสังข์

25 กรกฎาคม 2563

\"ครูวีระ\"ชี้ทำไม \"เยาวชนปลดแอก\" ต้องชุมนุมประท้วง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ