คอลัมนิสต์

   "ลูกโอ๊ค" เดินตามรอย? "แม่อ้อ "

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 "คดีโอ๊ค-พานทองแท้ ฟอกเงิน " มาถึงช่วง "หัวเลี้ยวหัวต่อ"สำคัญยิ่ง เมื่อมาถึงขั้นตอนรอ อัยการสูงสุด ชี้ขาดว่าจะอุทธรณ์คดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯยกฟ้องหรือไม่...ทำให้หวนนึกถึง "คดีคุณหญิงอ้อ เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ" ที่จบลงจากการที่อัยการสูงสุดไม่ฎีกาคดี 

      "คดี โอ๊ค- พานทองแท้ ชินวัตร ฟอกเงินแบงค์กรุงไทย"มาถึง"หัวเลี้ยวหัวต่อ" ที่สำคัญยิ่ง  เมื่อมาถึงช่วงที่ "อัยการสูงสุด" จะทำการชี้ขาดว่า จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ที่ยกฟ้อง"พานทองแท้" บุตรชายของนายทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีร่วมกันและสมคบกันฟอกเงินทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้เครือกฤษดามหานครหรือไม่ หลังจากที่ดีเอสไอได้ทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์ของสำนักงานอัยการคดีพิเศษเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา และส่งสำนวนคดีกลับไปให้ อัยการสูงสุด ชี้ขาด ซึ่งหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งออกมาอย่างใดคดีก็เป็นไปตามนั้น
   

     กล่าวคือ ถ้าอัยการสูงสุดไม่อุทธรณ์ คดีของพานทองแท้ ก็จะถึงที่สุดจบลงทันทีตามคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯซึ่งเป็นศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องนายพานทองแท้ แต่ถ้าหาก"อัยการสูงสุด" ตัดสินใจอุทธรณ์ คดีของนายพานทองแท้ ก็จะเดินหน้าต่อไปขึ้นสู่การพิจารณาของศาลสูงคือศาลอุทธรณ์ 

          \"ลูกโอ๊ค\" เดินตามรอย? \"แม่อ้อ \"

     สำหรับคดีนี้แม้ว่าศาลอาญาคดีทุจริตฯจะพิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ แต่ก็ไม่ได้เป็นมติเอกฉันท์ โดยคดีนี้องค์คณะผู้พิพากษามีจำนวน 2 คน และมีความเห็นต่างกันในคดี คนหนึ่งเห็นว่ายกฟ้อง อีกคนให้จำคุกนายพานทองแท้  4 ปี  จึงได้นำความเห็นของผู้พิพากษาคนที่มีผลร้ายน้อยที่สุดกับจำเลยคือยกฟ้องมาเป็นคำพิพากษา (เป็นไปตามหลักกฎหมายที่ว่าเมื่อองค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นแย้งกันเป็น 2 ฝ่าย หาเสียงข้างมากไม่ได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า ยอมเห็นด้วยกับผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า )    
 

      สำหรับความเห็นของผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะคดีนี้ ที่เห็นแย้งว่านายพานทองแท้ จำเลยมีความผิดเห็นควรให้ลงโทษจำคุก 4 ปี มีการบันทึกไว้เป็นความเห็นแย้งท้ายคำพิพากษาด้วย ซึ่งหากอัยการสูงสุด ยื่นอุทธรณ์ ความเห็นแย้งนี้ก็จะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์เช่นกัน

   \"ลูกโอ๊ค\" เดินตามรอย? \"แม่อ้อ \"

   และเมื่อกล่าวถึง "คดีโอ๊ค-พานทองแท้ ฟอกเงินฯ" ก็ทำให้หวนนึกถึง คดีคุณหญิงพจมาน  ณ ป้อมเพชรหรือดามาพงศ์  ใน"คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ" อันลือลั่น
 

    คดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์  เป็นจำเลยที่ 1 ,คุณหญิงพจมาน(อ้อ) ณ ป้อมเพชรหรือดามาพงศ์ อดีตภริยาทักษิณฯ เป็นจำเลยที่ 2 และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลยที่ 3  ในคดีเลี่ยงภาษีบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มูลค่า 546 ล้านบาท 
  
  คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 คนละ 3 ปี และให้จำคุกนางกาญจนาภา เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 2 ปี 

    แต่ต่อมาคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยพิพากษารอลงอาญานายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2 นางกาญจนาภา  จำเลยที่ 3 

  หลังจากนั้นก็มีการลุ้นกันสุดเหวี่ยงว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์  อัยการสูงสุด (ในขณะนั้นปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) จะฎีกาคดีที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน สู่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดหรือไม่

  ปรากฏว่า"จุลสิงห์" ยืนกรานไม่ฎีกาคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกา ทำให้คดีสิ้นสุดจบลงทันที 

   โดยในครั้งนั้น โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด  ได้ออกมาแถลงถึงเหตุผลที่อัยการสูงสุดไม่อุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คุณหญิงพจมานจำเลยที่ 2 และนางกาญจนาภา จำเลย3 มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกระทำผิดกับนายบรรณพจน์จำเลยที่ 1 ในการหลีกเลี่ยงภาษี

     การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่คุณหญิงพจมานจำเลยที่ 2 และนางกาญจนาภาจำเลยที่ 3 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
  
     พร้อมกันนี้สำนักงานอัยการสูงสุดยืนยันว่า ไม่มีการวิ่งเต้นเพื่อให้ไม่ยื่นฎีกาคดีนี้ การทำงานของอัยการสูงสุดพิจารณาที่พยานหลักฐาน เหตุผล และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏในสำนวนคดี 

      ขณะที่ "จุลสิงห์ " ได้ชี้แจงคดีดังกล่าวในเวลาต่อมาหลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากการไม่ฎีกา ว่า  มีตั้งร้อยตั้งพันคดีที่อัยการไม่ฎีกาต่อศาลฎีกา ไม่ใช่มีแต่คดีนี้เท่านั้น เป็นเรื่องปกติ เราใช้ดุลพินิจไม่ฎีกาได้

     "ตัวผมเองเห็นว่า ดุลพินิจของอัยการมีอิสระ และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ใครก็ตามที่อยากอะไรก็แล้วแต่ ผมคิดว่ารบกวนการใช้ดุลพินิจของอัยการ นักข่าวถามว่า ทำไมผมทำตัวเป็นศาลฎีกาเอง และไม่สร้างศรัทธาให้ประชาชน ผมขอตอบว่า ถ้าการสร้างศรัทธาคือการฎีกานั้นคือการเข้าใจผิด ที่จริงการสร้างศรัทธาคือการใช้ดุลพินิจอย่างเที่ยงธรรม ไม่ต้องถามใคร ในเมื่อประชาชนมี 2 ฝ่าย ผมถามใครไม่ได้ ผมต้องนิ่ง และใช้ดุลพินิจอย่างอิสระ ถ้าต้องฎีกาทุกเรื่องแล้วจะมีศาลอุทธรณ์ไปทำไม การสั่งคดีของพนักงานอัยการไม่ต้องถามใคร  การสร้างศรัทธาประชาชนที่ดีคือ สุจริต เที่ยงธรรมไม่ต้องฎีกาทุกเรื่อง  ถ้าคำพิพากษา 2 ศาลจบก็แปลว่าจบ ไม่มีกฎหมายข้อไหนบังคับว่าอัยการต้องฎีกา มีตั้งเกือบครึ่งของคดีที่อัยการใช้ดุลพินิจและถือเป็นเด็ดขาด  ความสำเร็จของอัยการไม่ใช่อยู่ที่การชนะคดีแต่อยู่ที่ความเที่ยงธรรม เมื่อศาลตัดสินแล้ว เคลียร์ก็เคลียร์ เราไม่ใช่ฝั่งตรงข้ามกับจำเลยเสมอไป  ถ้าศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง เราก็ต้องดูว่าเขาหักล้างคำพิพากษาศาลต้นได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ยุติตามนั้น  ดังนั้นจำเลยไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามกับผม ความสำเร็จของผมคือการสั่งคดีโดยเที่ยงธรรม ไม่ใช่ชนะจำเลยเสมอไป อัยการไม่ได้อะไรเลยถ้าจำเลยติดคุก มีคนบอกว่าคดีที่ผมสั่งเสียหายต่อประเทศชาติ เสียหายยังไง "

    ต่อมานายจุลสิงห์ ถูกนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษ นายจุลสิงห์ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฐานเป็นเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณีที่นายจุลสิงห์ ไม่ฎีกาคดีดังกล่าว 
  
   จับตากันต่อไปว่า.. "คดีโอ๊ค-พานทองแท้  ฟอกเงิน"  จะจบลงที่อัยการสูงสุด ไม่ดำเนินคดีต่อ ....เดินตามรอย "คดีคุณหญิงอ้อ  เลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ" หรือไม่ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ