คอลัมนิสต์

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้เป็นวันครบกำหนด " มหาเศรษฐี" ตอบรับจดหมายนายกฯขอความร่วมมือระดับชาติร่วม "ทีมไทยแลนด์ " เอาชนะวิกฤติ " โควิด -19 "  มาดูกันมีใครบ้างตอบรับมาแล้ว... 

     หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้มีจดหมายเปิดผนึกไปถึง  20 มหาเศรษฐีของไทยเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อขอความร่วมมือระดับชาติ หรือ "ทีมไทยแลนด์"เพื่อเอาชนะ"โควิด-19" ไปด้วยกันทั้งประเทศ และในจดหมายระบุให้ตอบกลับภายในสัปดาห์หน้า  ซึ่งหากนับตามนี้ ก็คือ วันนี้ ( 1 พ.ค. ) เป็นวันสุดท้ายแล้ว  จากการตรวจสอบรายชื่อมหาเศรษฐีไทยที่ตอบกลับนายกฯร่วมมือฝ่าวิกฤติ"โควิด-19 " มีทั้งสิ้น  16 รายชื่อ ดังนี้      

   มหาเศรษฐีอันดับ 1 ควักกว่า 700 ล้านสู้"โควิด-19'  เสนอแก้ปัญหาน้ำ ด้วยโครงการปลูกน้ำช่วยเกษตรกร

-   มหาเศรษฐีอันดับ 1" ธนินท์ เจียรวนนท์" ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)  ตอบจดหมายมายังนายกฯ ระบุว่า เครือซีพีและบริษัทในเครือได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน พนักงาน และอีกหลายภาคส่วนแล้วหลายโครงการ ทั้งนี้งบประมาณรวมในโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 701.6 ล้านบาท
    ทั้งนี้ ซีพีขอนำเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งโครงการที่น่าสนใจคือ โครงการปลูกน้ำ โดยเน้นว่าประเทศไทยไม่เป็นเพียงอู่ข้าวอู่น้ำของคนไทย แต่ได้พัฒนาจนกลายเป็นผู้นำการผลิตอาหารให้แก่ชาวโลกอีกด้วย แต่อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่รวดเร็วและรุนแรงได้บั่นทอนทรัพยากรน้ำอันเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการสร้างผลผลิตการเกษตร  ปัญหาทรัพยากรน้ำจึงจำเป็นต้องถูกแก้ไขเป็นการเร่งด่วนที่สุด
       นอกจากความท้าทายที่เกิดขึ้นจากปัจจัยน้ำที่ได้กล่าวไปแล้ว ผลิตผลข้าวก็มีปัญหาในตัวเอง คือ ในตลาดโลกการผลิตข้าวมีปริมาณมากกว่าความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่องมาเป็นหลายทศวรรษหลังการยุติของสงครามเย็น ทำให้ราคาข้าวตกต่ำมาโดยตลอดเฉพาะประเทศที่สามารถพัฒนาการปลูกข้าวไปสู่อุตสาหกรรมข้าวครบวงจร คือสามารถบริหารจัดการผ่านสหกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการตั้งแต่ต้นทางคือปลูกข้าวบนพื้นที่ๆเป็นแปลงติดกันขนาดใหญ่มาก ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีชั้นสูงแทนแรงงานคน ก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลงได้อย่างมากจนสามารถแข่งขันทำกำไรในราคาที่ตกต่ำได้
       แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศไทย ที่ยังใช้วิธีดั้งเดิมผ่านชาวนาเกษตรกรรายย่อย ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักและต่อเนื่องโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้ภาครัฐบาลมีความจำเป็นต้องนำวิธีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เช่น การประกันราคาข้าว การจำนำข้าว และการพักชำระหนี้ ซึ่งมิใช่การแก้ปัญหาจริงแต่เป็นเพียงการซื้อเวลาการแก้ปัญหาออกไป แม้การจะแก้ปัญหาโดยการกำหนดให้ชาวนาเปลี่ยนไปปลูกพืชมูลค่าสูงอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ไม้ผลและไม้ยืนต้น แต่ก็ต้องใช้เวลารอผลผลิตหลังปลูกไม่ต่ำกว่า 3 ถึง 5 ปี ระหว่างนั้นชาวนาจะมีรายได้เลี้ยงชีพอย่างไร? ปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้กล่าวมานี้จะถูกแก้ไข ผ่านแผนยุทธการถ่าย“ปลูกน้ำ” ซึ่งซีพีได้ทำการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมของเกษตรกรไทยให้มากที่สุด จึงถือได้ว่า โครงการที่เสนอมานี้เป็นเพียงส่วนเสริม ในการบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน 


     -มหาเศรษฐีอันดับ 2   เสนอแผนทุ่ม 300 ล้าน ช่วยประเทศ

 -มหาเศรษฐีอันดับ 2  นายเฉลิม อยู่วิทยา และ "ครอบครัวอยู่วิทยา"ทั้งนี้ในหนังสือตอบรับ ได้ระบุถึงสิ่งที่"ครอบครัวอยู่วิทยา"ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และบริจาคเงินให้แก่สถานพยาบาลที่มีความจำเป็นเร่งด่วน อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลอื่นๆ ที่มีความต้องการทั่วประเทศ รวมมูลค่ากว่า 70 ล้านบาท และยังได้บริจาคอาหาร, น้ำดื่ม, ถุงยังชีพ, แอลกอฮอล์เจล และหน้ากากผ้า ให้แก่ชุมชนต่างๆ และประชาชนที่ตกงานขาดแคลนรายได้ทั้งที่อาศัยอยู่ใน กทม.และต่างจังหวัด ตั้งแต่เดือน มี.ค.เป็นต้นมา ในขณะที่ได้ดูแลสวัสดิภาพของกลุ่มพนักงานบริษัท ให้มีความมั่นคงควบคู่ไปด้วย

    ส่วนสิ่งที่กำลังจะดำเนินการ  "ครอบครัวอยู่วิทยา" จะให้การสนับสนุนเงินทุนเบื้องต้นจำนวน 300 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีแรกเพื่อทำโครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา อาทิ สถาบันอาศรมศิลป์และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในการสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้กับคนที่มีเป้าหมายชีวิตเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการฝึกปฏิบัติวิธีการสร้างแหล่งอาหารเพื่อดูแลตนเองและครอบครัวจาก 100 คนแรกที่ผ่านการบ่มเพาะ จะออกไปแบ่งปันให้กับคนอื่นอีก 100คน ก่อนที่จะขยายออกไปสู่อีก 100 ชุมชนใกล้เคียง ด้วยโมเดลการพึ่งพาตนเองแบบนี้จะนำพาคนไทย 1 ล้านคนให้รอดพ้นจากความอดอยากที่เผชิญอยู่ได้

    "จะสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร เพื่อให้ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการที่เรากำลังจะทำได้มีกิน มีใช้ ไม่ขัดสน และสามารถพึ่งตนเองได้ในภาวะวิกฤต รวมถึงอาจจะมีกำลังเหลือไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป โครงการ “พึ่งตน เพื่อชาติ” ยังจะแสดงให้เห็นว่า ยิ่งแบ่งปันยิ่งแลกเปลี่ยนมากขึ้นเท่าใด เศรษฐกิจชุมชนซึ่งถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศก็จะยิ่งมีความมั่นคง และเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น และเสนอให้รัฐบาลผลักดันวาระแห่งชาติในการยกระดับทุนมนุษย์ของประเทศไทยให้สูงขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต อาทิ การให้มีโรงงานผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มากเพียงพอ, การจัดตั้งคลังอาหารและเวชภัณฑ์แห่งชาติ และการปลูกฝังการหาเลี้ยงชีพแบบพึ่งพาตนเอง เป็นต้น

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

- มหาเศรษฐีอันดับ 3 เจริญ สิริวัฒนภักดี  เครือไทยเบฟเวอเรจ   ตอบรับคำเชิญนายกฯแล้วเช่นกัน  แต่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงแผนงานต่อสาธารณชน

 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาหลังเกิดวิกฤติ'โควิด-19' บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของตระกูลสิริวัฒนภักดี   บริจาคเงิน 24 ล้านบาท พร้อมอาหารเครื่องดื่มผ่านสภากาชาดไทยเพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และได้มีการบริจาคแอลกอฮอล์ให้แก่สภากาชาดไทยและศูนย์ปฏิบัติการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ

-มหาเศรษฐีอันดับ 5    สารัชถ์ รัตนาวะดี   บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์  ตอบรับคำเชิญนายกฯแล้วเช่นกัน  แต่ยังไม่มีการเปิดเผยถึงแผนงานต่อสาธารณชน

 ที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤติ 'โควิด-19' บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ของตระกูลรัตนาวะดี บริจาคเงิน 34 ล้านบาทให้ 5 โรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลรามาธิบดี 20 ล้านบาท, โรงพยาบาลตำรวจ 5 ล้านบาท, โรงพยาบาลราชวิถี 4 ล้านบาท, สถาบันบำราศนราดูร 4 ล้านบาท และสถาบันโรคทรวงอกอีก 1 ล้านบาท

มหาเศรษฐีอันดับ 6 ทุ่ม 1.4 พันล้าน ฝ่า'โควิด-19'

- มหาเศรษฐีอันดับ 6    อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา   บ. คิง เพาเวอร์ จำกัด  กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ส่งเอกสารโครงการต่างๆ ตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการสนับสนุนช่วยเหลือจากเหตุการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 รายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้

     โครงการเพื่อสังคมที่จะดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2563-2565 จำนวนเงิน 749 ล้านบาท แบ่งเป็น

 

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

  ด้านสาธารณสุข ภายใต้โครงการส่งมอบตู้อบเด็ก, สนับสนุนมูลนิธิก้าวและโครงการกระเป๋ายังชีพเพื่อบรรเทาทุกข์   

  ด้านเยาวชน สนับสนุนโครงการล้านลูก ล้านพลัง สร้างฝันเด็กไทย, โครงการ 100 สนามฟุตบอล, มอบทุนการศึกษา และทุนการศึกษาภายใต้มูลนิธิ วิชัย ศรีวัฒนประภา

   ด้านอาชีพ สนับสนุนโครงการ ฟ็อกซ์ ฮันท์ และคิง เพาเวอร์ คัพ และโครงการประกวดวงดนตรีดุริยางค์เครื่องเป่านานาชาติ แห่งประเทศไทย

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "
     

    สำหรับโครงการเพื่อสังคม โครงการใหม่ ปีงบประมาณ 2563-2565 งบประมาณ 719.5 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการพัฒนาสังคมในด้านชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน โครงการเพื่อสนับสนุนทางการแพทย์ และ โครงการเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทย

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "
    นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาทิ กองทุนเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว, การจัดคลัสเตอร์กลุ่มจังหวัดเพื่อการท่องเที่ยว, จัดเตรียมประกันภัย "โควิด-19" สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

เช็คลิสต์รายชื่อมหาเศรษฐีตอบรับนายกฯช่วยวิกฤติ "โควิด-19 "

 

 - มหาเศรษฐีอันดับ 7" ร่วมบริจาคกว่า 100 ล้านบาท ผ่านโครงการ “TOA ไม่ทิ้งกัน” สู้ภัย "โควิด-19" 

   มหาเศรษฐีอันดับ 7   ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ  บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด    ตอบรับคำเชิญนายกฯ พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านโครงการ “TOA ไม่ทิ้งกัน” สู้ภัยโควิด-19 ทั้งในส่วนของการช่วยเหลือในโครงการที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และการจัดทำแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมเป็นจำนวนเงินมากกว่า 100 ล้านบาท

  สำหรับแผนการดำเนินงานเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง 
  คือ 1.แนวทางช่วยแหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนแบบเร่งด่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยการแจกจ่ายถุงยังชีพ (ข้าวสาร น้ำดื่ม ไข่ไก่ น้ำยาล้างจาน) ให้แก่ชุมชน 10 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ และในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการรับซื้อพืชผลผลิตจากเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาในระยะสั้น จากการที่ไม่สามารถนำผลผลิตออกสู่ตลาดได้
     2.แนวทางช่วยเหลือประชาชนในระยะยาว ช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 เพื่อให้ความรู้ และเสริมสร้างอาชีพให้ประชาชนผู้ว่างงาน โดยการจัดตั้งโครงการ “พลิกวิกฤติ สร้างโอกาส สร้างอาชีพ กับ TOA” จัดอบรมหลักสูตรวิชาชีพช่างทาสี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างงานให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือว่างงาน ให้มีช่องทางในการหารายได้ใหม่ๆ เปิดรับสมัครรอบละ 50 คน/สัปดาห์ จำนวน 400 คน ซึ่งจะเปิดรับสมัครทั้งหมดจำนวน 8 รุ่น โดยผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรจะได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงช่วยเหลือรายวันตลอดระยะเวลาการอบรม เป็นจำนวนเงินวันละ 400 บาท พร้อมรับใบประกาศนียบัตรรับรองหลักสูตรจากบริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) รวมเป็นจำนวนเงินสนับสนุน 2,000,000 บาท (อาจมีการปรับเพิ่มได้ตามความเหมาะสม หากมีผู้สนใจมาสมัครเป็นจำนวนมาก) โดยจะนำผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเหล่านี้ ไปดำเนินการทาสีปรับปรุงแหล่งชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป

- มหาเศรษฐีอันดับ 8 ทุ่ม 100 ล. สู้ ' โควิด-19'

   มหาเศรษฐีอันดับ 8 ' เพชร  โอสถานุเคราะห์'  ประธานคณะกรรมการบริหาร และ CEO บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ในนาม “มูลนิธิโอสถานุเคราะห์” ได้ตอบจดหมาย ระบุว่า มูลนิธิโอสถานุเคราะห์ ภายใต้ความร่วมมือกันของสมาชิกตระกูลโอสถานุเคราะห์ ทั้งสายตรงและที่สมรสกับสายสกุลอื่น จึงได้ตกลงจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับจัดทำโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ซึ่งรายละเอียดของโครงการจะมีการหารือภายในเพื่อให้
เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและแจ้งให้ทราบต่อไป

  -มหาเศรษฐีอันดับ  10 ชูชาติ เพ็ชรอำไพ  ผู้บริหารและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC  ตอบรับคำเชิญนายกฯ   เรื่อง "การให้ความร่วมมือระดับชาติเพื่อเอาชนะโควิด-19" ความว่า 

   ตามที่ได้รับหนังสือจากนายกฯ ลงวันที่ 20 เมษายน 2563 ตามรายละเอียดแจ้งแล้วนั้น โดยบริษัทฯ ซึ่งดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยโดยมีทะเบียนรถเป็นประกัน ตามใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมจำนวน 4,389 สาขา มีจำนวนพนักงานกว่า 10,000 คน และมีจำนวนลูกค้ากว่า 2.5 ล้านคน โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าประกอบอาชีพเกษตรกร พนักงานโรงงาน รับจ้างทั่วไป และผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ

ภายใต้สภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ กระผมตระหนักดีถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางบริษัทได้เริ่มดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปแล้ว ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังต่อไปนี้

1.สิ่งที่บริษัทได้ดำเนินการไปแล้ว

 1.1 การให้ความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการช่วยเหลือลูกค้า

กระผมและบริษัทได้เข้าร่วมหารือถึงแนวทางและมาตรการช่วยเหลือลูกค้ากับธนาคารแห่งประเทศไทย และได้เริ่มดำเนินการในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2563 เป็นต้นมา ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือมีดังต่อไปนี้

               1) มาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้า เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นไป

                   2) มาตรการลดค่างวดลง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 ของค่างวดปกติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ดำเนินการแล้ว

                   3) มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ(ไม่มีหลักประกัน)สำหรับลูกค้าที่มีประวัติการชำระดีลง 6 เปอร์เซ็นต์ เป็นคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องลงทะเบียน ดำเนินการแล้ว

           โดยมาตรการเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระค่างวดดีเสมอมาที่ต้องแบกรับภาระ ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระค่างวดในสภาวะวิกฤต ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากผลกระทบดังกล่าวแล้ว 142,147 คน

       1.2 การร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อสู้โควิด-19 จำนวน 60 ล้านบาท

         กระผมและครอบครัว ได้ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น จำนวน 60 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย 2.โรงพยาบาลศิริราช 3.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 4.โรงพยาบาลรามาธิบดี 5.สถาบันบำราศนราดูร 6.โรงพยาบาลราชวิถี และ 7.โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยทำการส่งมอบเงินบริจาค เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ณ กระทรวงสาธารณสุข

       อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากมาตรการข้างต้นที่กระผมได้เริ่มดำเนินการไปแล้วนั้น ต่อมากระผมได้รับหนังสือจากท่านนายกรัฐมนตรี ขอให้กระผมดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาอันเนื่องมากจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มเติม กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 จึงเสนอโครงการมาดังต่อไปนี้

    2.โครงการที่บริษัทกำลังจะดำเนินการเพิ่มเติม

    2.1 การจัดสรรและแจกจ่ายถุงยังชีพ จำนวน 200,000 ถุง มูลค่า 60 ล้านบาท

     ประชาชนชาวไทยจำนวนมากต้องประสบกับปัญหาการว่างงานในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น กระผมขอร่วมสมทบความช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาในการดำรงชีพ ด้วยการจัดสรรและแจกจ่ายถุงยังชีพ จำนวน 200,000 ถุง ซึ่งถุงยังชีพจะประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ ได้แก่ น้ำปลา ปลากระป๋อง น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 200,000 ถุง มูลค่าถุงละ 300 บาท รวมเป็นเงิน 60 ล้านบาท โดยแบ่งถุงยังชีพมอบให้ดังนี้

                 2.1.1 มอบผ่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 53,000 ถุง เพื่อนำไปมอบให้ประชาชนตามชุมชนต่างๆ จำนวน 600 ชุมชน ทั่วกรุงเทพมหานคร

                 2.1.2 มอบผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศนำไปมอบให้กับประชาชนที่เดือดร้อนตามรายชื่อจังหวัดดังต่อไปนี้

              โดยประสานกับบริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (ห้างสรรพสินค้า Big C) เพื่อกำหนดวัน, เวลา และสถานที่ในการส่งมอบถุงยังชีพต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งมอบได้ภายในไม่เกินวันที่ 25 พฤษภาคม 2563

            2.2 การบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย ผ่านสาธารณสุขจังหวัดจำนวน 50 ล้านบาทจังหวัดสุโขทัย แต่เดิมประสบกับปัญหาขาดแคลนทั้งอาคารสถานที่ เครื่องมือ เวชภัณฑ์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ความขาดแคลนดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรง ดังนั้น กระผมจึงขอมอบเงินบริจาคให้กับโรงพยาบาลในสังกัดจังหวัดสุโขทัยรวมถึงสถานีอนามัย ผ่านสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำไปใช้ซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อสู้กับโควิด-19 รวมไปถึงใช้สำหรับสร้างอาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลอำเภอบ้านด่านลานหอย รวมเป็นเงิน มูลค่า 50 ล้านบาท โดยกำหนดมอบผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในไม่เกินวันที่ 25 พฤษภาคม 2563

     2.3 การเปิดพื้นที่อาคารสำนักงานสาขาทุกแห่งของบริษัทฯ ให้เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตร และ OTOP

ที่ทำการบริษัทมีรูปแบบเป็นอาคารพาณิชย์ขนาด 1 คูหา,2 คูหา และ 3 คูหา ตามขนาดของธุรกิจ โดยหน้าอาคารเป็นพื้นที่ว่างเปล่า บริษัทฯพร้อมเปิดพื้นที่หน้าอาคารสำนักงานสาขาของบริษัทฯ ซึ่งมีจำนวน 4,389 แห่ง ซึ่งอยู่ในย่านชุมชนทั่วประเทศ ให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนสามารถนำสินค้าเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ OTOP มาวางจำหน่ายที่หน้าสำนักงานสาขาได้ ผู้ที่มีความประสงค์สามารถแจ้งความจำนงค์ผ่านสาขาได้ทันที

       2.4 การเป็นศูนย์การกระจายความช่วยเหลือให้แก่ประชาชน

      กระผมมีความยินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง ในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในทุกด้านด้วยการใช้เครือข่ายสาขาของบริษัทฯทั้ง 4,389 สาขาที่กระจายในแหล่งชุมชนทั่วประเทศ และมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐาน สามารถเป็นช่องทางการกระจายการเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนต่างๆ ให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจะทำให้การกระจายความช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

      2.5 นโยบายการจ้างงาน และความปลอดภัยสำหรับพนักงาน

         นอกจากนโยบายหลักดังกล่าว กระผมขอยืนยันในนโยบายการรักษาการจ้างงานและดูแลความปลอดภัยของพนักงานกว่า 10,000 คนของบริษัทฯให้สามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึงได้รับสวัสดิการที่สมควรได้อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงานและครอบครัวได้มั่นใจว่า บริษัทฯจะไม่ทอดทิ้งพนักงาน โดยบริษัทไม่มีนโยบายลดจำนวนพนักงาน ลดชั่วโมงทำงานหรือเลิกจ้างพนักงานแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกัน บริษัทมีนโยบายรับพนักงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1,000 คน เพื่อรองรับการเปิดสาขาในอนาคต
        3.ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
       นอกเหนือจากมาตรการดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นนโยบายเชิงจุลภาคในการช่วยเหลือประชาชนแล้ว กระผมขออนุญาตนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงมหาภาคว่าด้วยนโยบายของทางภาครัฐในการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของตราสารหนี้ภาคเอกชน: Corporate Stabilization Fund (BSF) เพื่ออุ้มตลาดตราสารหนี้โดยการรับซื้อตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่มน่าลงทุน (Investment Grade) ที่ถึงกำหนดไถ่ถอน ทั้งนี้กระผมมีความเห็นว่า ผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มดังกล่าวอาจไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดตราสารหนี้อย่างรุนแรงเท่ากับผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มที่ต่ำกว่าระดับ Investment Grade ซึ่งในที่นี้รวมทั้งตราสารหนี้ที่ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลงมาจากระดับ Investment Grade ด้วย ซึ่งหากตราสารหนี้กลุ่มดังกล่าวเกิดการผิดนัดชำระหนี้ จะก่อให้เกิดความผันผวนที่แท้จริงในตลาดตราสารหนี้ อันส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของสถาบันการเงินและประเทศต่อไป จึงขอให้กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของตราสารหนี้ภาคเอกชน: Corporate Stabilization Fund (BSF) ที่จัดตั้งขึ้นนั้นให้การช่วยเหลือครอบคลุมถึงผู้ออกตราสารหนี้ที่ต่ำกว่าระดับ Investment Grade ด้วย

       กระผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยทรัพยากรและศักยภาพที่กระผมและบริษัทฯมีในปัจจุบันจะสามารถช่วยเหลือภาครัฐในการแก้ไขปัญหาด้านความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประเทศไทย และประชาชนชาวไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

  - มหาเศรษฐีอันดับที่ 11 ทุ่ม 100 ล้าน แก้วิฤติแล้งหลัง' โควิด-19' 

   มหาเศรษฐีอันดับที่ 11 นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ  อดีตประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด ในฐานะผู้สร้างความมั่งคั่งจากการเป็นเจ้าของผู้ก่อตั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส และผู้ถือหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการ ที่มีโรงพยาบาลในสังกัดราว 43แห่ง เสนอว่า ปัญหาที่ประเทศไทยเราจะต้องพบเจออีกต่อจาก"โควิด-19 "ก็คือ ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ จึงอยากจะช่วยรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยเฉพาะที่จังหวัดสุโขทัย  เหตุที่ต้องเป็นจังหวัดสุโขทัยก็เพราะใต้ดินมีน้ำจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้เพื่อการเกษตรกรรมได้ 
     และ"หมอปราเสริฐ" พร้อมที่จะออกเงินให้ 100 ล้านบาท เพื่อขุดน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้  เมื่อแต่ละจังหวัดมีน้ำใช้เพียงพอ เกษตรกรก็สามารถจะจับปลาไปขาย และมีน้ำไว้ทำนาปรัง
       วิธีการนี้"หมอปราเสริฐ" คิดว่า  เป็นประโยชน์กว่าการเอาเงินไปให้รัฐบาล หรือโรงพยาบาลที่คนบริจาคจำนวนมากอยู่แล้วแต่การเตรียมการหลัง "โควิด-19" หยุดแพร่ระบาด น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 
       
    - มหาเศรษฐีอันดับที่ 12 ทุ่มกว่า 46 ล้านบาท สู้"โควิด-19"

    มหาเศรษฐีอันดับที่ 12   ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และ กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์  บอกว่าตื่นเต้นดีใจมาก หลังจากเปิดอีเมลล์ผ่านมือถือได้รับจดหมายรับเชิญจากนายกรัฐมนตรี  ส่วนการให้ข้อเสนอต่อนายกฯ ต้องขอหารือร่วมกับคณะผู้บริหารของบริษัทบี.กริม.และ คณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย เพื่อให้ได้แผนที่เหมาะเป็นยุทธศาสตร์ให้รัฐบาลใช้เป็นแนวทางทั้งในระยะสั้นและระยาว ที่จะฝ่าวิกฤติ "โควิด -19  "
         และบอกว่าที่ผ่านมา บี.กริม ได้จัดตั้งโครงการ “บี.กริม ปันน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19” อนุมัติงบประมาณบริจาคเบื้องต้นไปแล้วรวมกว่า 46 ล้านบาท ผ่านการสนับสนุนในรูปแบบเงินบริจาค และปัจจัยสิ่งของจำเป็น เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ ประกันชีวิต และถุงยังชีพ เป็นต้น

        มหาเศรษฐีอันดับที่ 14 ทุ่มเงิน 70 ล้านบาท มอบประกันชีวิตให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 'โควิด-19' จำนวน  3.8 แสนคน  และอสม.1 แสนคน

       มหาเศรษฐีอันดับที่ 14 "คีรี กาญจนพาสน์" และกลุ่มบริษัทบีทีเอส มอบเงิน 60 ล้านบาทในโครงการ “นักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19” จัดทำประกันชีวิตให้แพทย์ พยาบาล และบุคคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ รวม 3.8 แสนคน และกลุ่มบีทีเอสยังสนับสนุนเงินอีก 10 ล้านบาท ให้กับกลุ่ม อสม.  อาทิ ผู้ช่วยพยาบาล, นักรังสีเทคนิคและเทคนิคการแพทย์ ประมาณ 100,000 คน เพื่อจัดทำประกันชีวิตให้บุคลากรกลุ่มนี้ด้วย 

  มหาเศรษฐีอันดับที่ 18  สมโภชน์ อาหุนัย   บมจ.พลังงานบริสุทธิ์   ผนึกพันธมิตรเปิดตัว “กลุ่มช่วยกัน” รวมพลังสมอง เทคโนโลยี เงินทุน และ กำลังคนช่วยเหลือคนไทยสู้วิกฤตไวรัสโควิด-19 ใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองและรักษา แสดงพิกัดจุดเสี่ยง พร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการเตรียมนำชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 Rapid Test ผลงานวิจัยของ ม.สงขลานครินทร์ ที่มีคุณภาพระดับสากลมาใช้ เร่งตรวจให้มากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนแผนแบบบูรณาการ ป้องกัน ควบคุม เยียวยา ช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมเตรียมลุยติดตั้งเครื่องกำจัดไวรัส เพิ่มห้องปลอดเชื้อในโรงพยาบาล และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีจังหวัดฉะเชิงเทรานำร่อง “Chachoengsao Model”  ก่อนขยายไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้าง “Chachoengsao Model” ฟื้นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศ

  - มหาเศรษฐีอันดับที่ 20 "ศุภลักษณ์ อัมพุช "  เดอะ มอลล์ กรุ๊ป ตอบรับจดหมายนายกฯแล้วเช่นกัน( รายละเอียดตามนี้  )
   -มหาเศรษฐีอันดับที่ 21    ทุ่ม 150 ล้าน

    มหาเศรษฐีอันดับที่ 21  "ประยุทธ มหากิจศิริ"  บ.พีเอ็ม กรุ๊ป   ทุ่ม 150 ล้านบาท 

     พร้อมกับ เสนอ     1.บริจาคทุนสร้างหอปฏิบัติธรรมให้โรงพยาบาลเพื่อสนับสนุนสุขภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกัน โควิด-19 และสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรเพื่อคุณภาพและผลิตผลทางการเกษตร รวมเป็นเงิน 150 ล้านบาท 
                      2. สิ่งที่จะทำเพิ่มเติมในโครงการต่างๆ ประกอบด้วย โครงการที่ 1 การรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรลำพูน ซึ่งสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ 1,000 ครัวเรือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน และการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรวิสาหกิจชุมชนหรือเกษตรแปลงใหญ่ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ประมาณ 5,000 ครัวเรือนเป็นระยะเวลา 6 เดือน

                 โครงการที่ 2 การจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาประสิทธิภาพผลผลิต ทั้งในด้านการเพาะปลูกพืชผล นอกฤดูกาลเพาะปลูก และการหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ เช่นการปลูกพืชผลปลอดสาร เป็นโครงการนำร่องในวิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดลำพูน จำนวน 1,000 ครัวเรือน

                โครงการที่ 3 เปิดพื้นที่ด้านหน้าถนนมิตรภาพ ทางเข้าเมาน์เท็น ครีก กอล์ฟรีสอร์ท แอนด์ เรสซิเดนซ์ สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อน นำสินค้าต่างๆ มาวางจำหน่ายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในช่วง"โควิด -19 "เป็นเวลา 8 เดือน        
                โครงการที่ 4 การเปิดแพลตฟอร์มการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ภายใต้ www.411estore.com และแอพลิเคชั่น 411ให้ประชาชนชาวไทยที่มีผลิตภัณฑ์ต่างๆโพสต์ขายของได้ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่าย เป็นเวลา 6 เดือน 

       โครงการที่ 5 โครงการ P8 สู้ภัยโควิด -19 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมสมุนไพรจากลำไยสกัดเข้มข้นเพื่อสุขภาพมีสรรพคุณในการช่วยฟื้นฟูร่างกาย ตลอดจนเป็นแหล่งวิตามินซี มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและต่อต้านไวรัสช่วยแก้อ่อนเพลียและช่วยผ่อนคลายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด -19 ที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งหวังว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้บุคคลที่ต้องทำงานอย่างหนักเป็นแนวหน้ามีสุขภาพที่ดี และมีความพร้อมในฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน

       -มหาเศรษฐีอันดับที่ 22 "ฉัตรชัย แก้วบุตตา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ SAWADและกลุ่มศรีสวัสดิ์   อาสาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบผ่านสาขาศรีสวัสดิ์ 4 พันแห่งทั่วประเทศ
      

     หลายตระกูลมหาเศรษฐีช่วยสังคมอยู่แล้วหลังเกิด "โควิด-19"
    
   - มหาเศรษฐีอันดับ 4 กลุ่มเซ็นทรัล โดยตระกูลจิราธิวัฒน์ มอบเงิน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่า 30 ล้านบาท ให้แก่ 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และสนับสนุนห้องพักของโรงแรมเซ็นทราราแกรนด์แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ให้ผู้บริหารและอาจารย์แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยทั่วไปของโรงพยาบาลตำรวจพักฟรีเป็นต้น

  -มหาเศรษฐีอันดับ 9  บมจ. ไทยประกันชีวิต  มอบสัญญาประกันชีวิตกลุ่ม “โครงการนักรบเสื้อขาวสู้ภัย COVID-19”   ให้กับแพทยสมาคมฯเพื่อให้ความคุ้มครองประกันชีวิต สำหรับแพทย์และพยาบาลที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ทุนประกันรายละ 5,000,000 บาท  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับแพทย์-พยาบาลที่ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่

  - มหาเศรษฐีอันดับ 15 บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด (สิงห์) บริจาคเงิน 50 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลช่วยบุคลากรทางการแพทย์สู้ COVID-19รวมทั้งในด้านของการรักษาและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วย เช่น เครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆที่จำเป็น

- ฤทธิ์ ธีระโกเมน  มหาเศรษฐีอันดับ 19 ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะผู้บริหาร มอบเงิน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) สมทบทุนการพัฒนาชุดคัดกรอง COVID-19 แบบรวดเร็ว ผ่านทางคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

   นอกจากนี้ยังมี "ปลิว ตรีวิศวเวทย์" บริษัท ช.การช่าง ที่เคยติดมหาเศรษฐีอันดับที่ 50 ของไทย ทำจดหมายถึงนายกฯ แสดงความประสงค์ช่วยวิกฤติ "โควิด-19" เช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ