คอลัมนิสต์

ความล้มเหลวของรัฐบาลสู้ 'โควิด-19'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'วิกฤตโควิด-19'  ทำให้รัฐบาลต้องตกอยู่ใน 'ภาวะวิกฤต'ตามไปด้วย เพราะมีหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา 'โควิด-19'  ทั้งเรื่อง หน้ากากอนามัย-ผีน้อย-ขาดมาตรการเชิงรุกเอาแต่ตั้งรับ-ล่าช้ากว่าสถานการณ์

    "วิกฤตโควิด-19"  ทำให้รัฐบาลต้องตกอยู่ใน "ภาวะวิกฤต"ตามไปด้วย แม้ว่าจะเพิ่งสอบผ่านอภิปรายไม่ไว้วางใจไปอย่างง่ายดาย แต่แทบไม่มีความหมายเมื่อมาเจอกับ "โควิด-19"  ที่ไม่เพียง เป็นแค่'เชื้อโรค'ที่คุกคามมนุษย์โลก รวมทั้งคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีผลฉุดรั้งให้เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว ทรุดหนักลงไปอีก  ห้างสรรพสินค้า  ร้านอาหาร  แทบร้าง เช่นเดียวกับถนนหนทางแทบโล่งรถเบาบางไปเยอะมาก อาจเป็นเพราะพิษภัยจาก' โควิด- 19' และภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่  
     ที่ผ่านมาการควบคุมการระบาดของ 'โควิด -19'  ยังทำได้ดีในระดับหนึ่ง มีผู้เสียชีวิต 1 คน  และอาการหนักอีก 1คน  ด้วยการทำหน้าที่อย่างดีของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข  แต่ไม่ใช่ฝีมือของ"รัฐบาล" อย่างแท้จริง 

    แต่ล่าสุด( 12 มี.ค. 63 )สถานการณ์ไม่ค่อยสู้ดีนัก เมื่อพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 11 ราย เป็นการติดเชื้อแบบ"กลุ่มก้อน"ครั้งแรก  และขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 70 ราย
   หากประมวลความล้มเหลวที่ผ่านมาของรัฐบาลในการแก้ปัญหา' โควิด - 19'  มีอยู่หลายเรื่อง 
 1.การบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ไม่มีประสิทธิภาพ
   -เกิดภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งรวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ที่ไม่มีหน้ากากอนามัยที่เพียงพอต้องมีความเสี่ยงสูงกับการติดเชื้อจากโรคนี้, ในส่วนของประชาชนก็ไม่สามารถเข้าถึงการ
จำหน่ายหน้ากากอนามัยอย่างเท่าเทียมกัน ทั่วถึง ด้วยราคาที่เป็นธรรม และไม่มีการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับคนยากจนที่ไม่มีเงินซื้อ  
    - หน้ากากไม่พอใช้เพราะเหตุใด หน้ากากหายไปไหน  ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลจนถึงทุกวันนี้
   -เกิดการกักตุน ฉวยโอกาส แสวงหากำไร จากการขายหน้ากากอนามัย มีการประกาศขายหน้ากากอนามัยตามเพจต่างๆ เกินราคาที่ทางการควบคุมมานานแล้ว แต่ไม่มีการดำเนินการจากทางการ ปล่อยปละละเลย เพิ่งมาตื่นดูแลเรื่องนี้ ก็ช่วงหลังๆแล้ว 
   -เกิดข่าวฉาวพันไปถึงคนติดตามรัฐมนตรี ว่ามีเอี่ยวเกี่ยวกับการกักตุนหน้ากากอนามัย ฉวยโอกาสขาย ฟันกำไร
   - ครม.อนุมัติงบกลาง 225 ล้านบาท ให้ผลิตหน้ากากผ้าจำนวน 50 ล้านชิ้น โดยให้ประชาชนในท้องถิ่นที่ได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ผลิต ทำให้มีคำถามว่า หน้ากากผ้าที่ผลิตออกมาจะได้มาตรฐานป้องกัน โควิด-19 ได้หรือไม่  

ความล้มเหลวของรัฐบาลสู้ \'โควิด-19\'
2. การตรวจสอบ-คัดกรอง แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายที่เดินทางกลับไทย หรือที่เรียกว่า" ผีน้อย"ล้มเหลว  
    -ปล่อยให้มีการหลุดรอด "การกักตัว"  14 วันจากทางการไว้รอดูอาการก่อน   ปรากฏจากข่าวที่ " ผีน้อย"  ที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยก็แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา บางคน เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ก็ไปเที่ยวตามจังหวัดซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต ไปกินอาหาร ดื่มกาแฟ จนทำให้ร้านอาหาร ร้านกาแฟ คาเฟ่   ต้องถึงกับปิดร้าน "บิ๊กคลีนนิ่ง "  กันยกใหญ่ 
     -นอกจากนั้นเมื่อ "ผีน้อย" ล็อตใหญ่จากประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงจำนวน 200 คน  กลับมาถึงเมืองไทย ก็มีการหลุดรอดการกักตัวจากทางการอีกประมาณ 70-80 คน
      -ตัวเลข " ผีน้อย " ที่หลุดรอดการกักตัวจากทางการเมื่อกลับถึงไทย จนถึงขณะนี้ยอดจำนวนของ "ผีน้อย"  เป็นจำนวนเท่าไหร่ ยังไม่มีการสรุปออกมา และคนเหล่านั้นอยู่ที่ไหนบ้าง ทางการได้ตามหาตัวครบหมดหรือยัง และได้มีการกักตัวครบกำหนดแล้วหรือไม่ 

   3. มีแต่ "ตั้งรับ"ขาดมาตรการ 'เชิงรุก ' ในการป้องกัน

    ไม่มีการ'สุ่มตรวจ' ประชาชนทั่วไป แต่รอให้'คนที่มีอาการไข้' เดินเข้าหาหมอ

               ความล้มเหลวของรัฐบาลสู้ \'โควิด-19\'

    4. มาตรการของรัฐบาลที่ออกมามักจะช้ากว่าสถานการณ์ก้าวหนึ่งเสมอ
  อย่างกรณีชาวต่างชาติ ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้าในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งนักท่องเที่ยว และคนที่เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่ผ่านมาเข้าได้โดยง่าย ไม่มีการกักตัว หรือคัดกรอง หรือ จำกัดเที่ยวบิน หรือจำกัดวีซ่าในการเข้าประเทศ ทางการเพิ่งมาไหวตัวออกมาตรการต่างๆที่เข้มงวดเหล่านี้กับชาวต่างชาติในช่วงระยะหลังนี้ ซึ่งชาวต่างชาติที่ปล่อยเข้ามาได้โดยง่ายก่อนหน้านี้ มีจำนวนมากที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อสู่คนไทยได้

   5.การให้ข้อมูลข่าวสารของทางการ ยังไม่ตรงกัน อาทิ ข้อมูลจากศูนย์ฯของกระทรวงสาธารณสุข กับข้อมูลของศูนย์ที่รัฐบาลตั้งขึ้น บางครั้งก็ไม่ตรงกัน เข้าลักษณะต่างคนต่างทำ  

       แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่คนในชาติต้องช่วยกันให้กำลังใจกัน ในการสู้กับภัยต่อมนุษยชาติครั้งใหญ่นี้ แต่ในส่วนของ 'รัฐบาล' แนวร่วมกองเชียร์ที่เคยมี ก็หายหน้ากันไปเยอะเพราะผิดหวังและเข้าทำนอง 'เชียร์ไม่ขึ้น' กับความล่าช้าของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ 

    ช่วงค่ำของวันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 เป็น'แพนเดมิก' (pandemic) หรือ'ระบาดทั้งโลก'ไปเรียบร้อยแล้ว 
     ต่อสถานการณ์ 'แพนเดมิก'ของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เกิดขึ้นแล้ว จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ และกำหนดยุทธศาสตร์ภาพรวมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสงครามโรคระบาดครั้งนี้ใหม่ เพื่อให้สังคมไทยทั้งสังคมตื่นตัวในการรับมือวิกฤตนี้ทั้งกรณีฉุกเฉินและกรณียืดเยื้อร่วมกัน

      อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :ไขข้อสงสัย ระยะหลังทำไมติดเชื้อเพิ่ม-เจอรวด11 รายยังไม่เฟส

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ