คอลัมนิสต์

"อภินิหารกฎหมาย"กับ"รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... โอภาส บุญล้อม 

 

 

 

          เรียบร้อยไปแล้วกับการช่วงชิงทางการเมือง  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย  
    

          แต่ก็เป็น “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ”  เนื่องจากมีเสียง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลรวมเพียง 254 เสียง เกินครึ่งมาเพียง 4 เสียงเท่านั้น

 

 

          และถึงแม้จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ก็เป็น “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” จึงต้องพยายามถูลู่ถูกัง  กระเสือกกระสนไปให้ได้ ซึ่งเป็น “ธรรมชาติ” ของการเมือง
    

          และเมื่อเสียงปริ่มน้ำเกินครึ่งเพียงเล็กน้อย ฝ่ายรัฐบาลก็อย่าเผลอทีเดียว  รัฐบาลอาจพัง ไม่ใช่ว่าเพราะแพ้โหวตในสภาในเรื่องสำคัญเท่านั้น แต่แค่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ป่วยแค่ 4-5 คน ไม่สามารถมาประชุมได้ก็เรื่องใหญ่แล้ว เพราะฝ่ายค้านอาจเล่นเกมประลองกำลังให้นับองค์ประชุมว่าครบหรือไม่ แล้ว “วอล์กเอาท์” ออกนอกห้องประชุม ซึ่งเมื่อส.ส.ในที่ประชุมมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง องค์ประชุมไม่ครบก็ประชุมไม่ได้  กลายเป็น “รัฐบาลเป็ดง่อย” ทำอะไรไม่ได้ 

 

 

 

\"อภินิหารกฎหมาย\"กับ\"รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ\"

 


          อย่างไรก็ตามถ้าฝ่ายค้านทำอะไรที่ไม่มีเหตุผลก็ถูกตำหนิจากสังคมได้เหมือนกัน เพราะการชนะในเกมฝ่ายค้านอาจชูว่า เป็นการชนะของฝ่ายค้าน สามารถทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ แต่ประชาชนจะเบื่อ “สภาล่ม” คนทั่วไปจะสรุปว่า ส.ส.ขี้เกียจ และมองว่าเอาแต่เล่นเกมมากจนเกินไป
     

          แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ในทางปฏิบัติฝ่ายรัฐบาลพลาดไม่ได้ ต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อยู่กันครบเวลาประชุมสภา แต่โอกาสพลาดมีสูง เพราะปกติแล้ว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแทบจะไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดในสภา เพราะว่าปกติสภามีไว้ให้ส.ส.ฝ่ายค้าน พูดอภิปรายมากกว่าฝ่ายรัฐบาลอยู่แล้ว การที่จะให้ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไปนั่งเฝ้าในที่ประชุมเพื่อให้ครบองค์ประชุมตลอดเวลาเป็นไปได้ยาก ดังนั้นนอกจากการใช้ “วิป” แล้ว  การตั้ง “รัฐมนตรี” ที่ี่มี “กลุ่มส.ส.” อยู่ในมือ  ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่จะคุมส.ส.ได้
  

 

 

\"อภินิหารกฎหมาย\"กับ\"รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ\"

 

 

          และยังอาจมี “อภินิหารกฎหมาย” ที่จะคอยค้ำจุน “รัฐบาลลุงตู่” ให้อยู่ได้อย่างมั่นคง 
   

          ประเด็นแรก การให้ ส.ว.ร่วมโหวตกฎหมายทุกฉบับกับส.ส. รวมทั้งพ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ใช่เฉพาะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

 


       

          คงยังจำกันได้ กรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป 1 เสียงจากส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ มาโดยตลอด   ได้เคยเสนอแนะทางออกกรณี “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ของ “ลุงตู่" ว่า หากได้รับเสียงสนับสนุนจากส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มาก อาจบริหารประเทศด้วยความยากลำบาก เพราะจะมีปัญหาในการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ รวมทั้งการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณแผ่นดิน   
   

          ดังนั้น “ไพบูลย์” จึงเสนอให้ 250 ส.ว.ร่วมโหวตกับส.ส. 500 คนได้ โดยนำรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ในบทเฉพาะกาลมาใช้ ซึ่งมาตรา 270 เปิดทางให้ใช้กลไกรัฐสภาหรือให้ส.ว.ร่วมโหวตได้ หากตีความว่าร่างกฎหมายทุกฉบับในช่วง 5 ปีนี้  รวมทั้งร่างพ.ร.บ.งบประมาณ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศทั้งสิ้น 
   

          ทั้งนี้มาตรา 270  บัญญัติว่า ร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ให้เสนอและพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา 
   

 

 

\"อภินิหารกฎหมาย\"กับ\"รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ\"

 

 

          ประเด็นที่สอง  หากเกิดกรณีที่ฝ่ายค้านเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และฝ่ายรัฐบาลแพ้โหวต มีผลให้ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” พ้นออกไป ก็ให้รัฐสภาเสียงข้างมากเลือกกลับมาเป็น “รัฐบาล ประยุทธ์ 3” ได้อีก  
 

          โดยอาศัยรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ที่ระบุว่า ระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ซึ่งก็คือจนถึงปี 2565 ให้ ส.ว.250 คน ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีกับส.ส.ได้ และเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไปแล้วจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกไม่ได้ไปจนถึงตลอดปี ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ที่ระบุว่าญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ให้กระทำได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น
  

          อย่างไรก็ตามในเรื่องของการใช้ข้อกฎหมายหรือ “อภินิหารกฎหมาย” มาอุดช่องโหว่เพื่อไม่ให้รัฐบาลอายุสั้นนั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่าย  อย่างกรณีบทเฉพาะกาลมาตรา 270 “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมาย  ให้ความเห็นไว้ว่า ไม่ใช่ทางออกที่แก้ปัญหาได้หมดจด โดยสามารถแก้ได้บางส่วน แต่ไม่ได้ทั้งหมด จะใช้ได้กับกฎหมายบางฉบับเท่านั้นและแก้ไม่ได้ตลอดไป
  

 

 

\"อภินิหารกฎหมาย\"กับ\"รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ\"

 

 

          โดย “วิษณุ”  ยกตัวอย่างให้เห็นว่า สมมุติว่ามีกฎหมายทั้งหมด 100 ฉบับที่จะเสนอ ถ้ารัฐบาลบอกว่า 30 ฉบับ เป็นกฎหมายปฏิรูป 30 ฉบับนั้น ต้องประชุมร่วมรัฐสภาโดย ส.ว. 250 คน เข้าร่วมโหวตกับส.ส.ได้ ก็จะเหลืออีก 70 ฉบับที่ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปซึ่งต้องเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อน ส.ว.ไม่สามารถเข้าร่วมโหวตได้ และถ้าบอก 70 ฉบับ เป็นกฎหมายปฏิรูปก็เหลืออีก 30 ฉบับที่ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป รัฐบาลคงไม่กล้าบอกว่าทั้ง 100 ฉบับเป็นกฎหมายปฏิรูปแล้วให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา


          ดังนั้นอาจารย์วิษณุจึงเห็นว่ามาตราดังกล่าวถือเป็นทางออกของปัญหาได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยนำมาตรา 270 มาใช้กับกฎหมายทุกฉบับคงเป็นไปไม่ได้ 
  

          อีกอย่างหนึ่งในเรื่อง “ข้อกฎหมาย” นั้น มักมีการ “ตีความ” ต่างกันไป ดังนั้นเมื่อใดรัฐบาลนำมาตรา 270 มาใช้กับร่างกฎหมายฉบับใดของรัฐบาล ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศซึ่งต้องประชุมร่วมกันของรัฐสภา  ก็จะมีการคัดค้านจากฝ่ายค้าน และมีการส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
     

 

 

\"อภินิหารกฎหมาย\"กับ\"รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ\"

 

 

          อย่างไรก็ตามในเรื่องของ “อภินิหารกฎหมาย”  อย่าไปมองข้ามเด็ดขาด เพราะอาจมีการนำมาใช้ไม่ใช่เพียงมาตรา 270 เท่านั้น แต่กับมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญหรือร่างกฎหมายของรัฐบาลด้วย เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น 
  

          ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่จะใช้แก้ปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ” ได้ คือ “งูเห่า” จากพรรคฝ่ายค้าน เพราะในภาวะที่คะแนนเสียง “รัฐบาลปริ่มนํ้า” ลักษณะการเมืองแบบไทยๆ เรื่องการใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัว การใช้เครือข่าย การใช้ระบบพรรคพวกเพื่อนฝูงมีแน่นอนอยู่แล้ว
   

          ส่วนสิ่งที่ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ไม่ควรทำ  สิ่งแรกคือ ไม่เสนอกฎหมายที่สำคัญและมีความเสี่ยงสูงหรือชะลอการเสนอกฎหมายไว้ก่อน เว้นแต่กฎหมายงบประมาณที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนกฎหมายอื่นชะลอไว้จนกว่าจะเห็นว่ามีฉันทามติ คือ พรรคฝ่ายค้านก็ต้องการกฎหมายเหล่านี้ รัฐบาลจึงจะเสนอกฎหมายฉบับนั้นเข้าสภา
   

 

 

\"อภินิหารกฎหมาย\"กับ\"รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ\"

 

 

          ส่วนกฎหมายที่มาจากนโยบายรัฐบาลแล้วมีการโต้แย้งกันมาก รัฐบาลไม่ควรเสนอ เพราะถ้าร่างกฎหมายตกไปรัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ
   

          นอกจากนี้ “มือกฎหมายฝ่ายรัฐบาล” แนะนำว่า รัฐบาลอาจใช้วิธีเลี่ยงในการเสนอกฎหมาย โดยกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน ก็ให้พรรคการเมืองเสนอแทนรัฐบาล เช่น พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอหรือให้พรรคร่วมเสนอ
 

          แต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีการมองว่ารัฐบาลจะอายุสั้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองหลายคนออกมาทำนายว่า  พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งช่วงชิงการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เสถียรภาพของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่น่าจะอยู่ครบวาระ 4 ปี อยู่ได้ 2 ปีก็นับว่าเก่งแล้ว เพราะรัฐบาลจะมีเสถียรภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับเสียงที่จะสนับสนุน ถ้ารวมกันได้ 250 กว่าๆ เกินครึ่งเล็กน้อย  ถือว่ายังมีความเสี่ยง เพราะรัฐบาลที่จะมีเสถียรภาพมั่นคงต้องมีเสียงส.ส.ฝ่ายรัฐบาลประมาณ  270-280 เสียง คือเกินครึ่ง 20-30 เสียง และที่จริงแล้วควรจะต้อง 300 เสียงขึ้นไปด้วยซ้ำ
  

          และหากเรามองลึกลงไปว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้รัฐบาลอายุสั้น  พอสรุปได้ดังนี้้ 
    

          ปัจจัยแรก   โครงสร้างรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองถึง 19 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ  ซึ่งอาจต้องเจอกับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล, การพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ และร่างกฎหมายของรัฐบาล  ซึ่งถ้าร่างกฎหมายสำคัญเหล่านี้ไม่ผ่าน รัฐบาลก็ต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง
   

          และด้วยโครงสร้างที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคและเสียงปริ่มน้ำนี่เอง...พรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำยังอาจต้องเจอกับเกมต่อรองทางการเมืองจากพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งปกติมักจะต้องเจอในช่วง 1-2 ปีหลังจัดตั้งรัฐบาล และทำให้ทนไม่ไหวต้องยุบสภาเลือกตั้งใหม่
  

          ปัจจัยที่สอง  ความขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีมาตั้งแต่ตอนเริ่มจัดตั้งรัฐบาลในเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี และโควตากระทรวง  และเมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้วอาจเกิดภาวะที่พรรคร่วมรัฐบาล “ต่างคนต่างอยู่” ไม่ช่วยกันทำงาน เมื่อพรรคร่วมพรรคใดเสนอโครงการหรือกฎหมาย  พรรคร่วมพรรคอื่นก็จะนิ่งเฉยไม่ช่วยผลักดัน โดยเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของตนและไม่เกี่ยวข้อง 
    

          ปัจจัยที่สาม   โครงสร้างของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีกลุ่มอำนาจอยู่หลายกลุ่มทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและอยู่เบื้องหลัง รวมถึง “กลุ่มสามมิตร” ที่มีส.ส.อยู่ในมือ 20-30 คน หากเกิดการขัดแย้งกันเองภายในพรรคพลังประชารัฐก็จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลแน่นอน


          นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภากดดันรัฐบาลอีก ซึ่งรัฐบาลต้องเผชิญกับการเคลื่อนไหวของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ชั่วคราว จากกรณีถูกกล่าวหาว่าถือครองหุ้นสื่อ ทำให้นายธนาธร ไม่สามารถทำหน้าที่ส.ส.ในที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ได้    


          “รัฐบาลลุ่งตู่” ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศจึงเปรียบเสมือนเดินอยู่บนเส้นด้ายและรอพิสูจน์ฝีมือของพล.อ.ประยุทธ์ ในยามที่ไม่มี ม.44 และคสช.คุ้มครอง อีกต่อไป

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ