ชีวิตดีสังคมดี

ขาดแคลนแพทย์ในทัศนะหมอปฏิบัติ VS ผู้บริหารหมอ ณ บ้าน สธ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอลาออก แม้เพิ่งจบใหม่แต่ยื่นใบลาออกจากราชการทั้งน้ำตา บอกเล่าตัดพ้อหลายสาเหตุ คำถาม 108 พุ่งไปที่กระทรวงคุณหมอ (สธ.) ว่าเกิดอะไรขึ้น กระทั้งวันนี้ (6 มิ.ย. 2566) ทนกระแสข้อมูลคลาดเคลื่อนไม่ไหว ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงถึงปัญหาขาดแคลนแพทย์

สาเหตุ "หมอลาออก" จากฝั่งฝ่ายปฏิบัติ โดยแพทย์ชนบท "นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ" ประธานชมรมแพทย์ชนบท บอกว่า บางคนมีหนทางที่ดีกว่า ใช่กว่าก็เป็นทางเลือกชีวิตของหมอ เรื่องรอง คือ ที่พักเก่า สวัสดิการน้อย งานหนัก เงินน้อย เอกชนดึงตัว มีครอบครัว ขอย้ายกลับมาทำงานใกล้บ้าน ทั้งหมด คือ ปัจจัยเสริม แต่ทั้งหมดนี้มีปัจจัยหลักร่วมกันประการหนึ่งคือ "ความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม"

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

 

 

""หมอลาออก" ฟางเส้นท้ายๆ คือ "ความรู้สึก"  รู้สึกไม่เป็นธรรม ทำไมต้องแบกรับคนเดียว พี่หมอ พี่สต๊าฟช่วยงานน้อย เอาเปรียบ ตามไม่เจอ ปรึกษาไม่ได้ แถมบางคนก็ใช้ความอาวุโสดุด่ากินหัว ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่การหมดความอดทน ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม  จึงตัดสินใจลาออก ไม่ใช่ว่า หมอทุกคน ทุกแผนก ทุกโรงพยาบาลเป็นเช่นนี้ แต่ปรากฏการณ์นี้มีอยู่จริง และกว้างขวางพอสมควร หนักบ้างเบาบ้างแล้วแต่แห่ง แต่นี่คือต้นทางแห่งปัญหาที่แท้จริง  งานหนักไม่ว่า ถ้าทุกคนช่วยกัน" "นพ.สุภัทร" อธิบาย

"นพ.สุภัทร" อธิบายต่อว่า ทางออกปัญหานี้ไม่ใช่การผลิตแพทย์เพิ่ม สวัสดิการเงินเพิ่มก็ส่วนหนึ่ง แต่แก้ให้ถูกจุด คือ การบริหารจัดการในโรงพยาบาลที่เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ การมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เข้ามาแก้ปัญหา ไม่ลอยตัว เก่ง รับฟัง ให้สัญญาต่อการเข้ามาแก้ปัญหา ไม่ใช่มาอยู่เป็นทางผ่าน ตั้งใจอยู่นาน ไม่ใช่ถูกย้ายทุกปีสองปี มีระบบประเมินจริงจังด้วย ปัญหาก็จะค่อยๆ คลี่คลาย

 


"เรื่องนี้เรื้อรัง ยากแต่แก้ได้ สธ.ต้องฟังเสียงน้องๆ โดยตรง ไม่ต้องเชื่อแพทย์ชนบท  แก้ให้ตรงจุด จึงได้ผล" "นพ.สุภัทร" กล่าวทิ้งท้าย

 

 

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัด สธ.

 

 

ทว่าความคิดเห็นของ สธ.ที่ตกผลึกร่วมกันระหว่างผู้บริหาร กลับเห็นต่าง โดย "นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน" รองปลัด สธ. ให้สาเหตุหลักๆ "หมอลาออก" ว่า เพราะภาระงานหนัก ต้องทำงานไปด้วย สอนไปด้วย ตามหลักสูตรเพิ่มพูนทักษะ 1 ปี ตัวเลขแพทย์ต่อประชากรไม่สมดุล ปัจจุบันแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,000 คน ทั้งที่ความจริงควรได้ตามองค์การอนามัยโลกกำหนด คือ 3 ต่อ 1,000 คน 

 

 

สถิติอัตรากำลังแพทย์ สธ. (ปี 2566)

 


สธ.ยอมรับเองว่า ปัญหาหมอมีภาระงานหนัก ทำงานหนักล่วงเวลาไปถึง 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พยายามแก้ไขมาตลอด ถึงวันนี้ปัญหาดีขึ้นกว่าเดิมพอสมควร ปัญหาค่อยๆ ถูกแก้ไข กว่าจะผลิตแพทย์ได้ 1 คนต้องใช้เวลาถึง 10 ปี สธ.ประคับประคองกันมาตลอด อย่างเรื่องที่พักหมอที่คุณภาพต่ำมากๆ แต่โชคดีที่ได้งบประมาณเหลือจากบริหารจัดการโควิด 19 มาปรับปรุง 

 


"การที่พยายามจะลดเวิร์กโหลดลงมา แต่ยังทำได้ไม่เต็มที่ ต้องเติมแพทย์มากขึ้น มีการรับรู้ แต่เนื่องจากต้นน้ำน้อย น้ำมันไหลมาน้อยก็ยังแห้งแล้งกันอยู่ เป็นสิ่งที่พยายามสื่อสาร" "นพ.ทวีศิลป์" กล่าว

 


เพื่อหาคำตอบว่า หมอทำงานหนักจริงหรือไม่ สธ.ได้สำรวจการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลจำนวน 65 แห่ง พบว่า ทำงานมากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ถึง 9 แห่ง, มากกว่า 59 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 4 แห่ง, มากกว่า 52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 11 แห่ง และมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 8 แห่ง สธ.พยายามหาคำตอบกับเอกสารชุดนี้ แต่ยังไม่ได้ เพราะมาตรฐานโลกต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตัวเลขนี้ประเทศนั้นๆ ต้องมีแพทย์มากกว่า 100,000 คน

 


"หมอทำงานหนักเพราะหมอมีน้อย ถ้าเพิ่มจำนวนหมอได้ ปัญหาก็ไม่มี แต่ตอนนี้ สธ.มีศักยภาพผลิตหมอได้ปีละ 3,000 กว่าคน ส่วนทางกับความจำเป็น เฉพาะ สธ.เองต้องใช้หมอไม่ต่ำ 2,000 กว่าคน เพื่อให้เพียงพอบริการประชาชนตามสิทธิ 45 ล้านคน แต่เมื่อจัดสรรหมอที่เรียนจบให้คนที่ทำสัญญากับ สธ. ผลิตหมอให้แล้ว เหลือเฉลี่ยในระบบให้สธ.แค่ปีละ 1,800-1,900 คน มากสุด 2,055 คน และปี 2565 ได้มาแค่ 1,850 คน แผนแก้ปัญหานี้คือ ต้องเพิ่มจำนวนแพทย์ให้ได้ตามเป้าภายในปี 2570 อีก 11,000 คน" "นพ.ทวีศิลป์" ระบุ

 

 

การจัดสรรแพทย์ในปีงบประมาณ 2566

 


สำหรับการจัดสรรแพทย์ให้ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ เช่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยในภูมิภาค 6 แห่ง ส่วนราชการ/หน่วยงาน เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงกลาโหม เป็นต้น

 

 

การจัดสรรจะมีคณะกรรมการพิจารณา ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัด กทม. เลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการแพทสภา และคณะแพทยศาสตร์ 20 แห่ง 

 

 

"ไม่เพียงเหตุผลศักยภาพในการผลิตหมอเท่านั้นที่ทำให้ขาดแคลนแพทย์ แต่ด้วยเหตุผลจำนวนคนไข้ที่ถึง 70-80% หรือ 45 ล้านคนของประชากรทั้งหมด สามารถเข้าถึงหมอได้ค่อนข้างง่าย ทั้งจำนวนและเวลา ขณะที่หมอมีแค่ 48% หรือ 24,600 คนเท่านั้น" "นพ.ทวีศิลป์" กล่าวในที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ