ชีวิตดีสังคมดี

ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ 'พลาสติกรีไซเคิล' ก่อนขยะพลาสติกล้นระบบจัดเก็บ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบที่มีส่วนผสมของ 'พลาสติกรีไซเคิล" สร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศตั้งเป้าลดขยะพลาสติกในประเทศก่อนล้นระบบจัดเก็บไม่ไหว

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนาระบบการรับรองวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของ "พลาสติกรีไซเคิล" ที่ใช้แล้ว (Post-Consumer-Recycled : PCR) เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ เปิดเผยถึงแนวคิดในการส่งเสริมให้เกิดการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น โดยโครงการได้มุ่งเน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าของตราสินค้าและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งด้านความต้องการของตลาด นโยบายทางการค้าของไทยและต่างประเทศ กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์พลาสติก เจ้าของตราสินค้า ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก เพื่อจัดทำระบบการรับรองวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของ "พลาสติกรีไซเคิล"

จากผลสำรวจในปี 2564 ประชากรไทยกว่า 66.17 ล้านคน พบว่ามีขยะมูลฝอยรวมทั้งหมดกว่า 24.98 ล้านตัน ซึ่งเป็นขยะพลาสติกถึง 2.76 ล้านต้น แต่สามารถรีไซเคิลได้เพียง 5 แสนตันเท่านั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศและเดินหน้าเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลขยะพลาสติกให้มากขึ้นจึงดำเนินโครงการดังกล่าว
    

 

 

ทั้งนี้ สถาบันพลาสติกได้ให้บริการตรวจรับรองและมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองแล้ว โดยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องภายในประเทศไทย สามารถขอการรับรองและขอใช้เครื่องหมายรับรองวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ "พลาสติกรีไซเคิล" ในวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ หากผลิตภัณฑ์ผ่านเกณฑ์ตามระบบรับรองจะได้รับหนังสือรับรอง แต่หากไม่ผ่านเกณฑ์ทางสถาบันจะให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อปรับปรุงให้ถูกต้องต่อไป เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติก พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนระบบการจัดการขยะโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ยังสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจในเรื่องสมบัติ "พลาสติกรีไซเคิล" เมื่อมีการปรับเปลี่ยนตัวแปรที่สำคัญ เช่น รอบของการรีไซเคิล และปริมาณสัดส่วนการเติม "พลาสติกรีไซเคิล"

เราต้องการให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการเลือกซื้อสินค้าที่มีการใช้ "พลาสติกรีไซเคิล" เป็นส่วนผสม สอดรับการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงช่วยขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ สำหรับการขยายผลโครงการในอนาคต สถาบันพลาสติกจะพัฒนาระบบการรับรองให้เป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขยายขอบข่ายการรับรองวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิล ที่ผลิตด้วยกระบวนการรีไซเคิลทางเคมี ศึกษาสมบัติข้อมูลเชิงลึกของ "พลาสติกรีไซเคิล" แต่ละชนิดเพื่อขยายผลการรับรองเชิงคุณภาพในอนาคต และสร้างการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการมากขึ้น

 

 

โดยสถาบันพลาสติกจะสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้เกิดการขอการรับรองผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และเครือข่ายสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนำเสนอผลงานในงานส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม TRIUP Fair 2023 เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน นายวีระกล่าว

 

ขยะพลาสติก

 

logoline