ชีวิตดีสังคมดี

'พายุฤดูร้อน' เตือน 66 จังหวัด เจอ พายุฝนฟ้าคะนอง ลมแรง ลูกเห็บตก 8-12 พ.ค. 66

06 พ.ค. 2566

ปภ. แจ้งเตือน 66 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เฝ้าระวังสถานการณ์ 'พายุฤดูร้อน' และคลื่นลมแรง (ฝั่งอันดามัน) ระหว่างวันที่ 8-12 พ.ค. 2566

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 66 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร เตรียมรับมือ 'พายุฤดูร้อน'

 

 

ส่วนภาคใต้เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 8-12 พ.ค.66 กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 (130/2566) ลงวันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 8-10 พ.ค. 2566 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น

 

 

ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้มี พายุฤดูร้อน เกิดขึ้น ในลักษณะของ พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และ ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าบางพื้นที่ และในช่วงวันที่ 8-12 พ.ค. 2566 หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมอ่าวเบงกอล มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็น พายุหมุนเขตร้อน คาดว่าจะเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวเบงกอลตอนกลาง ทำให้ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้มีกำลังแรง และภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มี ฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยในช่วงวันที่ 8-12 พ.ค. 2566 ได้แก่

 

 

พายุฤดูร้อน

 

- วันที่ 8-10 พ.ค. 2566 พื้นที่เฝ้าระวังพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ได้แก่ ภาคเหนือ (ทุกจังหวัด) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ทุกจังหวัด) ภาคกลาง (ทุกจังหวัด) รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

 

- วันที่ 8-12 พ.ค. 2566 พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อ.เมืองฯ เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) ภูเก็ต (อ.เมืองฯ กะทู้ ถลาง) และกระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)

 

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนที่อาจเกิดขึ้นโดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง และและจัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

 

 

ทั้งนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง

 

 

ขณะที่ภาคใต้ได้ประสานให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด

 

 

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ข้อมูลข่าวสาร ประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น เพื่อความปลอดภัน ขณะเกิดพายุฤดูร้อนให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งก่อสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรป้องกันผลิตผลทางการเกษตรที่อาจได้รับความเสียหาย ส่วนชาวเรือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเล ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดและเพิ่มความระมัดระวังการเดินเรือในระยะนี้