ชีวิตดีสังคมดี

แก้ 'PM2.5' เหมือน 'สิงคโปร์' ใช้กม.เอาผิดเพื่อนบ้านปล่อยมลพิษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมออกโรงแนะรัฐแก้ PM2.5 รุนแรงอันดับ 1 ของโลก เชียงใหม่คละคลุ้งทั่วจังหวัด 24 ชม. ดูสิงคโปร์เป็นบทเรียน ถ้าไม่รีบปีหน้าสภาพอากาศหนักหน่วงกว่าปีนี้

78 วัน "PM2.5" (ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน) ไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย เชียงใหม่วันนี้ (7 เม.ย. 2566) ปริมาณค่า "PM2.5" สูงอันดับ 1 ของโลก หมอกควันและฝุ่นพิษ PM2.5 คละคลุ้งทั่วจังหวัดตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ว่าราชการประกาศขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้ Work from Home ทางผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ออกมาเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ติดตามได้จากรายงาน "คม ชัด ลึก"

"รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช" ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายถึงปัญหาฝุ่นพิษ "PM2.5" ข้ามพรมแดนในปี 2566 ว่า ปีนี้นับว่าสาหัสอย่างมาก สูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 6 ปี รองจากปี 2563 ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นเลย และมีแนวโน้มจะหนักขึ้นอีก ขนาดปีนี้โชคดีที่ยังมีปรากฎการณ์ลานีญาซึ่งมีฝนช่วยไว้ตอนต้นปี แต่ปีหน้าจะไม่โชคดีอีกแล้ว ปรากฎการณ์เอลนีโญจะทวีกำลัง ภัยแล้งจะทวีความรุน "PM2.5" แรง ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหา ปีหน้าฝุ่นพิษ "PM2.5" ข้ามพรมแดนจะยิ่งหนักหน่วงกว่าปีนี้ เพื่อให้การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างรวดเร็วและยั่งยืน จึงขออนุญาตเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหา เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา 

ภาพแสดงปริมาณค่า PM2.5

 

 

มาตรการแก้ปัญหา "มลพิษ" ข้ามพรมแดน พิจารณาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือมาตรการที่ประเทศไทยสามารถทำได้เองไม่ต้องรอประเทศอื่นๆ และส่วนที่ 2 คือมาตรการที่ต้องทำร่วมกันระหว่างประเทศ

 

  • มาตรการที่ต้องเร่งทำภายในประเทศไทย

1. เร่งออกกฎหมายอากาศสะอาดที่มีประเด็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนเหมือนกับสิงคโปร์ ที่สามารถเอาผิดกับเจ้าของแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษนอกประเทศไทย หรือบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง
2. ตั้งหน่วยงานหลักซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน
3. ตั้งหน่วยงานสืบสวนสอบสวนมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน
4. เร่งติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับการรับซื้อสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการเผาทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเก็บภาษีเพิ่มหรือดำเนินมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่น ห้ามนำเข้าประเทศ ฟ้องบริษัทเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมลพิษ

 

 

ภาพแสดงปริมาณค่า PM2.5 วันที่ 7 เม.ย. 2566

 


5. ให้องค์ความรู้พร้อมเงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในการปรับตัวไปสู่การไม่เผากับประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมส่งเสริมการสร้างตลาดสำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและเศษใบไม้ในป่า จะไม่มีใครเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหากสามารถนำไปขายได้
6. ผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียว โดยการนำเงินกู้ออกจาก “อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ” ไปสู่ “อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” 
7. กำหนดเงื่อนไขการป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นพิษ "PM2.5" ในระดับอันตรายในนโยบายและสัญญาสินเชื่อของภาคการเงินธนาคารของไทย

 

 

  • สิ่งที่ต้องเร่งทำระดับอาเซียน

1. ประเทศสมาชิกอาเซียนควรยกระดับความเข้มข้นในความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเร่งจัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อควบคุมมลพิษข้ามพรมแดนของอาเซียน The ASEAN Coordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control (ACC) เพื่อลดต้นทุนในการทำธุรกรรมของแต่ละประเทศอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผลกระทบภายนอกระหว่างประเทศ (International Externality) ACC นับว่ามีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในระดับภูมิภาค จำเป็นต้องหาแนวทางที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในภูมิภาค
a. ติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
b. สร้างเวทีระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจถึงปัญหาและให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 
c. สร้างเวทีระหว่างประเทศเพื่อแบ่งปันความรู้เพื่อยกระดับการรับรู้ของสาธารณชน
d. จัดทำฐานข้อมูลกลางของอาเซียนด้านผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพของประชาชนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้สร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของมลพิษจากหมอกควันต่อสุขภาพ

 

 

 

2. ควรส่งเสริมการแก้ไขปัญหา "มลพิษ" ทางอากาศในลักษณะที่เป็นแบบ sub-region (ไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) เพื่อให้การแก้ปัญหาทำได้ง่ายขึ้นเพราะยิ่งจำนวนประเทศมากขึ้นยิ่งเจรจายากขึ้น การแก้ไขในลักษณะภูมิภาคจะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมจากการเจรจาตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม

 



"จริงๆ มีมาตรการอื่นๆ อีกที่ไทยเราสามารถทำได้ แต่คิดว่าถ้าผลักดันมาตรการที่เสนอข้างต้นไปก่อนจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีในระดับหนึ่ง ร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน และสุขภาพที่ดีของประเทศเพื่อนบ้านเราด้วยครับ ข้อเสนอแนะนี้ได้จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้ประเมินแผนที่นำทางการแก้ปัญหา "มลพิษ" ทางอากาศในอาเชียน ร่วมกับเพื่อนอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ประสบการณ์สอนและวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรและสิ่งแวดล้อม และร่วมเขียนสมุดปกเขียวอากาศสะอาดกับทางทีมบูรณาการข้ามศาสตร์ของเครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย" รศ.ดร.วิษณุ กล่าว

 

 

หนังสือออกประกาศโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

 

 

ด้าน "นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงนามในประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจัดระบบการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ในส่วนภารกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน เนื่องด้วยจังหวัดเชียงใหม่ มีสถานการณ์หมอกควัน และฝุ่น "PM2.5" ในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมามีค่าเกินค่ามาตรฐาน (อยู่ระหว่าง 112-398 มคก/ลบ.ม) และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จึงได้ออกประกาศฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

 


โดยขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจัดระบบการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ในส่วนภารกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน และหากจัดประชุมให้พิจารณาประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ส่วนสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ร้านอาหาร ขอให้พิจารณาให้บริการห้องปรับอากาศเป็นอันดับแรก เพื่อลดผลกระทบจากหมอกควันและ "PM2.5"

 


นอกจากนี้ ขอความร่วมมือให้บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ พิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือทำงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อกิจการของบริษัทห้างร้าน หรือสถานประกอบการ เพื่อลดการออกนอกเคหสถาน สำหรับกลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ขอให้ลดหรืองดการออกนอกบ้าน

 

 

พร้อมทั้งให้หน่วยงานของรัฐ พิจารณาเปิดบริการห้องปลอดฝุ่นให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ไม่มีห้องปลอดฝุ่น ให้พิจารณาหยุดการเรียนการสอน และสวนสาธารณะในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐ ให้พิจารณาปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งประกาศนี้ใช้ในวันที่ 7 เม.ย. ปี 2566 หากสถานการณ์ฝุ่นละออง ยังไม่คลี่คลายจะได้ออกประกาศให้ประชาชนทราบโดยเร็วต่อไป

 

 

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.ลาว) และเมียนมา เบื้องต้นได้ข้อตกลงร่วมกันจะแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ภายใต้โครงการ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” 

 

 

  • ข้อตกลง “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” 

1. C (Continued Commitment) มุ่งปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ. 2017
2. L (Leveraging Mechanisms) ไทยจะส่งเสริมความร่วมมือทุกระดับ ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่อินโดนีเซียด้วย
3. E (Experience Sharing) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อควบคุมปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน
4. A (Air Quality Network) ส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค 
5. R (Effective Response) นายกรัฐมนตรี เสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศประชุมหารือในบ่ายวันเดียวกัน เพื่อต่อยอดผลของการประชุมระดับผู้นำ

 


ข้อมูล: FB @Witsanu Attavanich

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ