ประชาสัมพันธ์

สาธารณสุข เผย อนามัยโลก ค้าน 'วัคซีนพาสปอร์ต' บินตปท.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระทรวงสาธารณสุข เผย องค์การอนามัยโลกค้านใช้ "วัคซีนพาสปอร์ต" เดินทางเข้า-ออกประเทศ จนกว่าจะมั่นใจว่าวัคซีนโควิด-19 ป้องกันแพร่เชื้อได้

วันนี้ (7 ก.พ.64) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport) เป็นแนวคิดที่มาจากพาสปอร์ตหรือหนังสือเดินทางเวลาจะเดินทางไปต่างประเทศ แต่ใช้ในกรณีที่บางประเทศเกิดโรคระบาด ผู้ใดที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วต้องการจะเดินทางไปประเทศอื่น จะต้องมีหนังสือรับรอง

เหมือนเช่นกรณีของประเทศที่มีไข้เหลืองระบาด ที่จะต้องมี “หนังสือปกเหลือง” เวลาจะเดินทางไปประเทศอื่น ซึ่งโรคไข้เหลืองเป็นโรคชนิดหนึ่งคล้ายกับไข้เลือดออก แต่เกิดจากเชื้อไวรัส พบระบาดในแถบอเมริกาใต้ และแอฟริกาใต้ โดยมียุงลายเป็นพาหะ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ถ้าใครที่มาจากประเทศที่มีไข้เหลืองเยอะ ถ้าจะเดินทางไปประเทศอื่นต้องมีหนังสือปกเหลือง ถึงจะเข้าประเทศนั้นได้ เป็นกติกาสากลเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการนำเชื้อไปแพร่ในประเทศอื่น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘พาสปอร์ตวัคซีน’เพื่อนร่วมเดินทางในปีหน้า

 

เช่นเดียวกับกรณีโควิด-19 ถือเป็นโรคติดต่ออันตราย สามารถติดต่อจากการเดินทางข้ามประเทศได้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้สิ่งที่เราใช้ในการป้องกันจากการติดเชื้อจากประเทศต่าง ๆคือใครเดินทางเข้ามาในประเทศจะต้องกักตัว 14 วัน จนพ้นระยะฟักตัวของโรคจึงสามารถเข้าสู่ประเทศได้

ดังนั้นจึงมีคำถามว่า ถ้าเราใช้แบบกรณีไข้เหลือง คือผู้ใดฉีดวัคซีนโควิดแล้วเข้าสู่ประเทศไทยได้ไหม ในกรณีนี้จะพิจารณาว่าถ้าฉีดแล้วมั่นใจว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ปัจจุบันวัคซีนโควิดเป็นวัคซีนที่ยังวิจัยไม่เสร็จ แต่เชื่อว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้พอสมควร หลายประเทศรวมถึงไทยอนุญาตให้ฉีดวัคซีนได้ แต่ถามว่าฉีดแล้วป้องกันได้ 100% ไหมยังไม่ถึงขนาดนั้น ยังไม่มีใครทราบ"

คำถามต่อมาคือ แล้วทั่วโลกจะจัดการกับคนที่ฉีดวัคซีนแล้วคิดว่าปลอดภัยได้อย่างไร หากอยากจะเดินทางข้ามประเทศ ก็ขึ้นอยู่กับกติกาของกฏอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 ขององค์การอนามัยโลก เราก็ได้มีข้อเสนอแนะ หรือซักถามไปที่องค์การอนามัยโลกแล้วว่า

ในเรื่องของการใช้ “วัคซีนพาสปอร์ต” ควรจะเอามาตรการฉีดวัคซีนโควิดมาเพื่ออนุญาตให้คนเข้าประเทศได้หรือไม่ องค์การอนามัยโลกก็แนะนำว่ายังไม่ควรกำหนด ควรมีเอกสารรับรองวัคซีนก่อน เนื่องจากขณะนี้ หลักฐานข้อมูลต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอจะมาสรุปได้ว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะไม่แพร่โรคให้คนอื่น หรือฉีดไปแล้วจะอยู่ได้นานแค่ไหน ฉีดไปแล้วต้องฉีดซ้ำอีกกี่เข็ม เป็นต้น”

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นในหลักการอนาคตก็เห็นตรงกันว่าถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพดีพอ หรือมีการใช้มากขึ้น การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้จึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็มีแนวโน้มที่ดี เพราะเริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิดออกมาเรื่อย ๆ ว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ดี ดังนั้นวัคซีนพาสปอร์ตก็เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ และอาจเป็นไปได้ในอนาคต มาเป็นข้อกำหนดสำหรับเดินทาง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ