ประชาสัมพันธ์

เยาวชนปลื้ม "มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางฯ" ร่วมสืบสานงานวัฒนธรรมพื้นถิ่น จัดครั้งแรกในเมืองไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เยาวชนปลื้ม "มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางฯ" ร่วมสืบสานงานวัฒนธรรมพื้นถิ่น จัดครั้งแรกในเมืองไทย

 

จบลงไปแล้วอย่างสวยงาม “งานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ”  จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง ภายใต้แนวคิด “๕ สายน้ำวัฒนธรรม แห่งลุ่มแม่น้ำภาคกลาง” โดย ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เป็นประธานในพิธีเปิด “งานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” ซึ่งมี พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน นายประกอบ วงศ์มณีรุ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี  ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และนางสาวสรียา บุญมาก ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานราชบุรี) ร่วมในพิธีเปิดงานฯ ณ วัดขนอน (หนังใหญ่) อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ที่ผ่านมา

 

 


ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคกลาง จัดงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง “วิถีวัฒนธรรมแห่งสายน้ำ ประตูสู่สยามประเทศ” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย  ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้เปิดเวทีให้เครือข่ายพิพิธภัณฑ์ภาคกลางจัดงานนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดขนอน เพื่อให้คนทำพิพิธภัณฑ์ได้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้  และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย ภายในงานได้จัดให้มีการแสดงนิทรรศการมีชีวิต มีพิพิธภัณฑ์ 30 แห่งในภาคกลาง รูปแบบการจัดงานได้แบ่งออกเป็น 5 ลุ่มน้ำ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก-ลพบุรี แม่น้ำท่าจีน แมน้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี มาร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวท้องถิ่นผ่านนิทรรศการ การเสวนา การสาธิต การแสดงจากเครือข่ายท้องถิ่นภาคกลาง และมิวเซียมชอป ที่นำผลิตภัณฑ์และสินค้าจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ฯ มาจำหน่าย เป็นต้น ซึ่งการจัดงานตลอดทั้ง 3 วัน มีผู้เยี่ยมชมงานทั้งสิ้นกว่า 5 พันคน

 


“ซึ่งตลอดทั้ง 3 วัน มีผู้เยี่ยมชมงานทั้งสิ้นกว่า 5 พันคน ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี มีผู้สนใจงานวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์จากชาวจังหวัดราชบุรี จังหวัดใกล้เคียง และ กรุงเทพฯ เดินทางมาชมงานมากมาย โดยศูนย์มานุษยฯ คาดหวังว่าหลังจากงานในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชาวเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง จะจับมือกันร่วมสร้างความเข้มแข็งให้ยั่งยืนในอนาคตต่อไป” ดร.นพ.โกมาตร กล่าว
 

 

เยาวชนปลื้ม \"มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางฯ\" ร่วมสืบสานงานวัฒนธรรมพื้นถิ่น จัดครั้งแรกในเมืองไทย

 

“แม่ถนอม คงยิ้มละมัย” อดีตครูเกษียณวัย ๗๘ ปี ผู้บุกเบิกและก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ปานถนอม จากลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี  1 ใน 30 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่นำเสนอเรื่องราวของ “ไทยทรงดำ” หรือ “ลาวโซ่ง” ร่วมแสดงถึงความหลากหลายที่งดงามภายในงานนี้ด้วย แม่ถนอม หนึ่งในนักสู้เพื่อการปกป้องและสืบต่อจารีตประเพณีไทยทรงดำอย่างเข้มแข็ง ได้บอกเล่าถึงการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ ว่า เกิดขึ้นภายใต้เจตนารมณ์ที่ต้องการให้คนได้เห็นแก่นแท้ของไทยทรงดำว่าเป็นอย่างไร ตอนนั้นไทยทรงดำอาจทำอะไรที่ไม่อยู่ในกรอบจารีตกันนัก แต่การจะนำเสนอแล้วให้คนยอมรับก็ต้องเริ่มจากตนเองคือ เคารพและยึดมั่นในจารีตประเพณีไทยทรงดำอย่างจริงจังเพื่อเป็นแบบอย่างที่ถูกต้อง 


“การยึดมั่นในจารีตถือเป็นหัวใจสำคัญของการต่อในสู้เรื่องนี้ ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่สุดของชีวิตเพราะเป็นผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาทำงานเพื่อดูแลปกป้องวัฒนธรรมของตน ด้วยความรักและเคารพในสิ่งที่บรรพชนสั่งสอนไว้ซึ่งมันล้ำลึกและมีความหมาย อย่างท่ารำของผู้หญิงที่ต้องปัดมือออก เพราะมีนัย คือ การตระหนักและระแวดระวังตัวว่าเป็นหญิงอย่าให้ใครมาจับต้องหน้าอก ผู้ชายต้องสาน “กะเหล็บ” (เป็นภาชนะปากกลมทรงสูง คล้ายโอ่งใส่น้ำดินเผา แต่มีก้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า) ได้ก่อนจึงค่อยออกเรือน เพราะกะเหล็บเป็นงานฝีมือที่ยาก ต้องใช้ความใจเย็น สุขุม และมานะพยายาม ชายใดสานกะเหล็บได้สำเร็จถือเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำครอบครัวได้ ส่วนผู้หญิงต้องปักผ้าเปียวได้ก่อน แสดงถึงฝีมือ ความขยัน และความเป็นแม่ศรีเรือน เพราะการทอผ้าเปียวต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน” แม่ถนอม กล่าวถึงจารีตไทยทรงดำ อย่างภูมิใจ

 

เยาวชนปลื้ม \"มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางฯ\" ร่วมสืบสานงานวัฒนธรรมพื้นถิ่น จัดครั้งแรกในเมืองไทย

 


เด็กหญิงสุติกานติ์ ชูจิตต์ (กานต์)อายุ14 ปี และเด็กหญิงจิราพร พ่วงรอด (ฟ้าใส) อายุ15 ปี เยาวชนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ไทยทรงดำ ตัวแทนจากพิพิธภัณฑ์ปานถนอม (เพชบุรี) ที่มีโอกาสได้มาร่วมทำกิจกรรมภายในงานครั้งนี้บอกเล่าถึงความรู้สึกว่า “รู้สึกภูมิใจ ดีใจและสนุกมากที่ได้มาร่วมงานครั้งนี้ ได้มาแชร์ประสบการณ์ เรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีซึ่งการและกัน  ที่สำคัญเราได้มีโอกาสนำเสนอวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความเป็นอัตลักษณ์ของเรา ให้คนอื่นได้เห็นผ่านการละเล่น สิ่งของเครื่องใช้ ที่นำมาจัดแสดงนิทรรศการฯ เราได้มองเห็นถึงวัฒนธรรมอันหลากหลายของแต่ละพื้นที่ โดยมีพวกเรา “กลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ” ก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในนั้น เพราะนอกจากพวกเรา ก็ยังมี กลุ่มไทยพวน กลุ่มชาวมอญ ฯ ซึ่งหากจำลองเป็นแผนที่ประเทศไทยแล้ว 1 ในพื้นที่เหล่านั้นก็มีกลุ่มของพวกเราอยู่ร่วมด้วย พวกเราในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ จะสืบสาน อนุรักษณ์ประเพณีและวัฒนธรรมของ “ไทยทรงดำ”  ตลอดไป ”
 

 

เยาวชนปลื้ม \"มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางฯ\" ร่วมสืบสานงานวัฒนธรรมพื้นถิ่น จัดครั้งแรกในเมืองไทย

 

อีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจ เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ จากลุ่มน้ำแม่กลอง (ราชบุรี) โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เดิมคือ โรงเรียนตัวอย่างวัดสัตตนารถปริวัตร  ต่อมาในพ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินยังโรงเรียนเพื่อมาทำพิธีเปิดอาคารเรียนหลังแรก และพระราชทานนามว่า “เบญจมราชูทิศ” จึงมีหลักฐานแสดงประวัติความเป็นมาของโรงเรียนเป็นจำนวนมาก เพื่ออนุรักษ์ให้หลักฐานเหล่านั้นยังคงสภาพและทรงคุณค่า เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ภายในสถานศึกษา (School Museum) พัฒนาเป็นห้องพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเมื่อปลาย พ.ศ. 2522 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกภายในโรงเรียน 


โดยการจัดแสดงนิทรรศการฯ ได้นำเสนอเรื่องราว ธงประจำกองลูกเสือมณฑลราชบุรี ผืนธงจัตุรัส พื้นธงสีน้ำเงินแก่ ยอดใบหอก กลางธงมีรูปฉลองพระบาทวางบนพานทอง ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลาพร้อมแพรแถบ เพื่อให้ลูกเสือทุกคนระลึกว่า มณฑลนี้เป็นมณฑลสำคัญทางทิศตะวันตกของกรุงเทพฯ และลูกเสือทุกคนก็มีความจงรักภักดีเพื่อทำการฉลองพระเดชพระคุณ จึงพระราชทานเครื่องหมายนี้เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระองค์อยู่เสมอ ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ2467 เนื่องในการเสด็จทอดพระเนตรการประลองยุทธเสือป่าและลูกเสือ 

 

เยาวชนปลื้ม \"มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางฯ\" ร่วมสืบสานงานวัฒนธรรมพื้นถิ่น จัดครั้งแรกในเมืองไทย


ด้าน นายภานุรัตน์ อรุณรัตน์ ศิษย์เก่าโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตัวแทนจาก เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ (ราชบุรี)  กล่าวว่า “ผมเป็นศิษย์เก่าจากที่นี่ อยู่ชมรมโบราณคดีมาก่อน ครั้งนี้มีโอกาสได้กลับมาช่วยทางโรงเรียนและน้องๆ หน้าที่คือช่วยนำเสนอ พาชม บอกเล่าเรื่องราวของเบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ ให้กับประชาชน เด็กนักเรียนจากโรงเรียนอื่น รู้สึกภูมิใจมากๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกระบอกเสียงที่แนะนำในสิ่งที่หลายคนไม่ทราบ บางท่านที่เป็นชาวราชบุรี หรือนักเรียนในโรงเรียนฯ บางคนยังไม่ทราบว่าโรงเรียนมีพิพิธภัณฑ์ก็มีครับ การที่ เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์  ได้มาเป็น 1 ใน 30 พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลาง และได้ร่วมงานมหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางในครั้งนี้  ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ว่า โรงเรียนฯ เรามีพิพิธภัณฑ์ที่มีประวัติความเป็นมา และวัตถุโบราณอันทรงคุณค่าที่หายากนำมาให้ชม เราภูมิใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์และได้ให้ความรู้ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรื่องราว ความรู้ ของแต่ละพิพิธภัณฑ์ที่มาร่วมจัดแสดงในงานนี้ครับ”


นายธนัชย์ดนัย ยงพิศาลภพ (น้องเซฟ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปี 6 โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ชมรมโบราณคดี กล่าวว่า “พวกเรามาในนามของชมรมฯ ก็รู้สึกภูมิใจที่ได้มาร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ อย่างน้อยก็ได้พัฒนาความสามารถของตัวเอง ทางด้านที่เป็นการเป็นภัณฑารักษ์ คือการได้นำชมในสิ่งต่างๆ ภายในนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ฯ ของเรา  รวมถึงยังได้เรียนรู้ ได้เจอสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นวัฒนธรรมที่มีทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น  ซึ่งยังมีอีกหลายด้านหลายๆ มุมที่เรายังไม่รู้ เราจะได้มาศึกษาเพิ่มเติมและก็นำไปปรับใช้ได้ อาจจะเป็นความรู้ที่นำมาใช้ในการศึกษา คือมันเป็นวัฒนธรรมของเรา มันเป็นประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเรา มันเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศเรา เพราะมันสามารถบ่งบอกได้ถึงความเป็นมา มันมีเนื้อเรื่อง มันมีที่มาที่ไป ที่น่าสนใจและน่าศึกษาค้นคว้า”

 

เยาวชนปลื้ม \"มหกรรมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นภาคกลางฯ\" ร่วมสืบสานงานวัฒนธรรมพื้นถิ่น จัดครั้งแรกในเมืองไทย


น.ส.รพีพรรณ ศรีนิล (น้องมิ้นท์) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ชมรมโบราณคดี อีก1 ตัวแทนจาก เบญจมราชูทิศพิพิธภัณฑ์ บอกว่า “รู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์ต่างๆ มีเอกลักษณ์ และสิ่งที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งของเดียวกัน เหมือนบางทีจะเป็นแบบหม้อเหมือนกัน แต่ลายที่จะแตกต่างกันหายาก แต่ละที่ก็จะมีจุดที่น่าสนใจ บางอย่างเราก็ยังไม่เคยเห็นเลย และก็ได้มาเห็นในงานนี้ พอเราได้มาเห็นในส่วนของพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ทำให้เราอยากไปสถานที่จริงด้วย เพื่อศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่าพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแต่ละที่นั้นมีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร


“ประเทศเรามีเรื่องราวที่ยาวนาน อย่างแม่น้ำแต่ละสาย ถ้าเรามองดูเราจะรู้ว่าเรื่องราวแต่ละอย่างเป็นยังไง ทำให้เราคิดว่าประเทศเรามีอะไรที่น่าศึกษามากขึ้น ของพวกนี้จะมีเสน่ห์ของตัวมันเอง ถ้าเราได้ศึกษาเรื่องพวกนี้เราจะเห็นว่ามันมีค่าแล้วก็น่าอนุรักษ์ไว้มากกว่าที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าๆ ก็อยากให้ทุกคนหันมาดูแลสนใจเกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีโบราณที่มีค่าอย่างนี้ค่ะ”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ