ประชาสัมพันธ์

ศจย. และ สสส. สนับสนุนการสร้างส่วนร่วมของนักวิจัยระดับภูมิภาค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศจย. และ สสส. สนับสนุนการสร้างส่วนร่วมของนักวิจัยระดับภูมิภาค เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการช่วยให้การควบคุมยาสูบในประเทศไทยประสบความสำเร็จได้มากขึ้น

       
ภารกิจการควบคุมยาสูบ นอกจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการเลิกบุหรี่แล้ว อีกหนึ่งภาคส่วนที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการช่วยให้การควบคุมยาสูบในประเทศไทยประสบความสำเร็จได้มากขึ้น นั่นคือ ภาคส่วนวิชาการ การพัฒนานักวิจัย และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบของประเทศ โดยองค์กรที่ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญคือ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการกระจายองค์ความรู้รูปแบบต่าง ๆ ทั่วประเทศ


        

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศจย. ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ 5 แผน เพื่อให้การควบคุมยาสูบครอบคลุมทั้งระบบ ได้แก่ 1.การสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบแก่นักวิชาการ 2.การพัฒนาฐานข้อมูล 3.การผลักดันนโยบายนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ได้จริง 4.การพัฒนางานวิชาการผ่านภาคีเครือข่ายและการทำงานกับหน่วยงานในทุกภูมิภาคที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ และ 5.การพัฒนาสื่อให้เข้าถึงได้ง่าย
       

ทั้งนี้ ศจย. จะเชื่อมต่อกับ ศจย. ภูมิภาค 5 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งจะพัฒนางานวิจัยเพื่อสนับสนุนการควบคุมยาสูบในทุกพื้นที่ โดยมีตัวชี้วัดการทำงานที่สำคัญ เช่น สามารถนำงานวิจัยที่ได้รับการพัฒนาไปผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อควบคุมยาสูบในพื้นที่ และสามารถนำงานวิจัยในระดับภูมิภาคไปใช้ในส่วนกลางได้ด้วย โดยที่หน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ (Node ศจย.ภาคเหนือ) ได้ร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งงานวิจัย Node ศจย. ภาคเหนือ มีความโดดเด่นในด้านข้อมูลของเยาวชนที่สูบบุหรี่ในพื้นที่ และสามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุงช่องว่างของกฎหมายในการซื้อขายบุหรี่ของประเทศได้ โดย สสส. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเงินทุนให้ ศจย. เพื่อใช้ในการสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบระดับประเทศ
       

“การที่ สสส. และ ศจย. ผลักดันงานวิจัยควบคุมยาสูบจากนักวิชาการในระดับพื้นที่เป็นเรื่องที่ดี เพราะนักวิชาการเหล่านี้เป็นผู้ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด สามารถให้คำแนะนำที่ดีเพื่อนำไปสู่การเลิกบุหรี่ได้อย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืน” ดร.วศิน กล่าว
         

ผศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน Node ศจย. ภาคเหนือ กล่าวถึงที่มาในการดำเนินงานควบคุมยาสูบในภาคเหนือว่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่ได้รับทุนวิจัยจาก ศจย. ในการทำวิทยานิพนธ์เพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทำให้เกิดความรู้สึกสำนึกต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งถือว่าได้รับความรู้มากมายจากการเป็นนักวิจัยของ ศจย. จนต่อเนื่องมาเป็น Node ของ ศจย. ภาคเหนือทุกวันนี้
        

Node ศจย. ภาคเหนือก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2557 เริ่มจากการเน้นพัฒนางานวิจัยและวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายในระดับพื้นที่ จากนั้นเริ่มวิจัยในประเด็นที่เป็นช่องว่าง เพื่อตอบโจทย์ของ ศจย. และตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยให้กับเครือข่ายนักวิจัย ทั้งของสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 1-3 ในจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก และนครสวรรค์ ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัดภาคเหนือ
          

สำหรับพันธกิจหลักมี 3 ด้าน คือ 1. พัฒนางานวิจัยและวิชาการ ซึ่งจะทำการวิจัยให้สอดคล้องกับปัญหาเชิงพื้นที่ เป็นงานสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เป็นข้อมูลชี้ชวนให้คนที่อยู่ในพื้นที่ได้เห็นถึงปัญหาของการบริโภคยาสูบ สามารถนำมาเป็นชุดความรู้และโมเดลความสำเร็จจากพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อการลดการบริโภคยาสูบลงได้ เช่น งานวิจัยบ้านปลอดบุหรี่ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่เริ่มจากการสำรวจพบว่า เด็กชั้นมัธยมศึกษามีอัตราได้รับควันบุหรี่มือสองจากที่บ้านกว่าร้อยละ 60 และชี้ให้เห็นว่ามีโมเดลตัวอย่างที่ทั่วโลกสามารถทำให้สำเร็จได้อย่างไร จากนั้นก็ได้รับการต่อยอดจากนักวิจัยนำไปสู่งานที่เป็นรูปธรรมอย่างในปัจจุบัน สามารถผลิตงานวิจัยได้ 15 ชิ้น ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของภาคเหนือ ทั้งการเข้าถึงบุหรี่ การรับควันบุหรี่มือสอง พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และพัฒนาเครือข่าย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในงานวิจัยในระดับประเทศและนานาชาติ
          

2. การพัฒนางานวิจัยเสริมสร้างความร่วมมือ หรือการเสริมสร้างพลังอำนาจที่ไม่ได้ให้เพียงแค่ความรู้เท่านั้น แต่ยังมีหลักสูตรการสอนนักวิจัยที่เข้าร่วม โดยมีเจ้าหน้าที่จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นพี่เลี้ยงในแต่ละพื้นที่ พร้อมสอนเชิงปฏิบัติการ และสนับสนุนการทำงานเมื่อลงพื้นที่ ซึ่งสามารถสร้างเครือข่ายที่มีศักยภาพในพื้นที่ 11 จังหวัด จากทั้งหมด 18 จังหวัด ครอบคลุมนักวิจัยทั้งในสำนักงานควบคุมโรค โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กว่า 109 คน ผลิตงานวิจัยได้ทั้งหมด 21 เรื่อง ทั้งเรื่องปัจจัยการสูบบุหรี่ การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การช่วยประชาชนเลิกสูบบุหรี่ รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่มือสอง และมีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ได้อย่างน้อย 2,000 คน ซึ่งไม่ได้มาจากการสำรวจ แต่มาจากความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงจากการลงพื้นที่ ตัวอย่างเช่น งานวิจัย “รูปแบบการดำเนินงานบ้านปลอดบุหรี่โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในหมู่บ้านของตำบลไทรย้อย” ของ รพ.สต.ไทรย้อย แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการทำโครงการบ้านปลอดบุหรี่ คนที่สูบบุหรี่ต้องออกไปสูบบุหรี่ที่อื่นแทน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการรับควันบุหรี่มือสองของคนในครอบครัว และยังทำให้มีความรู้เรื่องของอันตรายของบุหรี่มากขึ้น มีแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น ทั้งจากคนในครอบครัว และ อสม. ในพื้นที่
        

3. การขับเคลื่อนเชิงนโยบายควบคุมยาสูบ ซึ่งมีหลักสูตรวิชาเลือกของนิสิต คือ “บุหรี่กับสุขภาพ” ซึ่งเคยได้รับการขนานนามจากสื่อว่าเป็นหลักสูตรที่แปลกที่สุดของประเทศไทย แต่หลังจากนี้ จะผลักดันงานวิจัยที่มีอยู่อย่างจริงจัง พร้อมย่อยข้อมูลให้ยากให้ง่ายมากขึ้น โดยขอความร่วมมือจากสื่อมวลชน ในการเป็นวิทยากรเพื่อสร้างเนื้อหาให้ประชาชนได้เข้าใจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมบุหรี่ได้ง่ายมากขึ้น

 

ทั้งนี้ สถานการณ์การบริโภคยาสูบของเยาวชนในภาคเหนือ พบว่ามีการสูบบุหรี่ดัดแปลง เช่น บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่กำลังรุกคืบเข้ามายังกลุ่มเยาวชนอย่างช้า ๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าบุหรี่มวนสำเร็จที่เยาวชนนิยมสูบ คือ บุหรี่เมนทอลหรือบุหรี่ที่มีรสเย็นและราคาไม่สูง มีรูปลักษณ์ที่ทำให้ดึงดูด และยังสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าใกล้บ้าน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเชิงบุคคลพบว่า เยาวชนกว่าร้อยละ 21.7 ยังสูบบุหรี่ภายในบ้านของตนเองเพราะรู้สึกว่าปลอดภัย มากกว่าโรงเรียนและสถานที่อื่น ขณะเดียวกันพบว่า เด็กและเยาวชน ร้อยละ 84 ยังมีความรู้เกี่ยวกับสารพิษในบุหรี่ไม่มากนัก แต่มีทิศทางที่ดีคือ พบว่าร้อยละ 86 ของเยาวชนต้องการที่จะเลิกสูบบุหรี่
         

ปัจจัยที่ทำให้เด็กมาสูบบุหรี่ในบ้านมากขึ้น มาจากการที่ผู้ปกครองเห็นว่าการที่เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ ผู้ปกครองไม่ได้ใส่ใจเพราะไม่เคยมีการพูดคุยเรื่องของบุหรี่ รวมไปถึงในชุมชนยังคงไม่มีความรู้ทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่อย่างเพียงพอ ประกอบกับร้านค้าปลีกยังคงมีความรู้ไม่มากพออีกด้วย ดังนั้น การดำเนินงานของ ศจย. ในระดับภูมิภาค จึงถือว่ามีความสำคัญมากในการทำให้อัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนลดน้อยลง ผ่านการเรียนรู้และเผยแพร่งานวิจัย พร้อมสร้างความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ