ข่าว

คลื่นใต้น้ำกระเพื่อม โยกย้ายแต่งตั้ง"ตุลาการ"สะเทือน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปมร้องเรียนของอดีต"ผู้พิพากษา"ถึง"ประธานศาลฏีกา" จะมีผลให้การพิจารณาแต่งตั้ง"ตุลาการ"ครั้งนี้เป็นไปด้วยโปร่งใสหรือไม่

ตอนนี้บัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปีในหลายหน่วยงานกำลังดำเนินการ บางหน่วยงานเรียบร้อย บางหน่วยงานมีปัญหาไม่ทำตามหลัก Put the Right Man on the Right Job  จนเกิดการร้องเรียนและฟ้องร้องกันระนาว..

 

ปัญหาแบบนี้มีทุกคราว และดูท่าแล้วจะคลายปมกันยาก หากผู้บริหารไม่เร่งคลายล็อกปมร้อนให้กระจ่าง

 

ตัวอย่างร้อนๆ จากกระทรวงมหาดไทย ช่น  พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ลงนามเสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารและผู้ว่าราชการจังหวัดหลายอัตรา ตั้งแต่ความพยายามที่จะโยกนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาเป็นปลัดมหาดไทย แทนนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดมหาดไทยที่เกษียณภายในเดือนกันยายนปีนี้ แต่ด้วยแรงต้านของคนในกระทรวงทำให้ต้องเกิดรายการเบรกหัวทิ่ม แต่ไม่วายในการโยกย้ายผู้ว่าราชการในหลายตำแหน่ง ก็เป็นการโยกย้ายแบบผิดฝาผิดตัว

คลื่นใต้น้ำกระเพื่อม โยกย้ายแต่งตั้ง"ตุลาการ"สะเทือน วีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศร ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าสมุทรสาคร

 

ดังปรากฎข่าว ชาวปัตตานีขึ้นป้ายคัดค้านการย้ายนายนิพันธ์ บุญหลวง ผวจ.น่านซึ่งเหลืออายุราชการอีกหนึ่งปี ให้มานั่งเป็นพ่อเมืองปัตตานีแทนนายราชิต สุดพุ่ม หรือแม้แต่กรณี   วีระศักดิ์  วิจิตร์แสงศรผวจ.สมุทรสาคร ที่ตัดสินใจยื่นใบลาออกด้วยการให้เหตุผลปัญหาทางสุขภาพแต่ก็ยังเปิดความในใจอย่างมีนัยยะถึงนักการเมืองไม่เห็นค่าตนเองทั้งที่ขอย้ายไปเป็นพ่อเมืองจังหวัดอื่น เป็นต้น

 

แม้แต่แวดวงตุลาการยามนี้ ก็ยังเกิดปัญหาดังกล่าวเพราะบุคลากรในแวดวงตุลาการและสังคมคงทราบว่า มีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(กต.)และกรรมการกต. รวมทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) โดยนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนาญการพิเศษ  และอดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา โดยขอให้ตรวจสอบข้าราชการศาลยุติธรรมบางคนที่มีพฤติกรรมส่อผิดกฎหมายและแนวปฏิบัติของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการใช้แอพลิเคชั่นไลน์”ล็อบบี้หาเสียงการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ”ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

คลื่นใต้น้ำกระเพื่อม โยกย้ายแต่งตั้ง"ตุลาการ"สะเทือน ชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา

ไทม์ไลน์ของเรื่องนี้ที่น่าจะมีผลกระทบในแวดวงตราชั่ง และอาจเป็นหนึ่งในพายุของฝ่ายเคลื่อนไหวทางการเมืองยามนี้ที่ชูการปฏิรูปรอบด้าน โดยกระบวนการยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของคนกลุ่มนี้ที่มองว่า  ความโปร่งใสและยุติธรรมในสังคมนั้นยังมีข้อคลางแคลงใจ

 

หากพายุดังกล่าวในแวดวงตราชั่งโดนชูเป็นประเด็นในการชุมนุมครั้งต่อไป ย่อมไม่ส่งผลดีกับสถาบันตุลาการ เพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นหลักการสำคัญในการรักษาความถูกต้องและคลายปัญหาให้สังคม    หากสังคมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในกระบวนการภายในที่มีข้อเคลือบแคลง ตรงนี้จะมีผลกับ”ศรัทธาจากสังคม”

 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่15 เม.ย.2564 นายชำนาญ ทำหนังสือถึง  “นางเมทินี  ชโลธร ประธานศาลฎีกา”  เรื่อง “ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมาย กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ข้าราชการตุลาการกระทำผิดวินัย กรณีหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ” ตามมาตรา 36 (3) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543   โดยมีหลักฐานคือภาพถ่ายหน้าจอแอพลิเคชั่นไลน์  ประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริงเพราะปรากฏว่า มีการฝ่าฝืนต่อการดำเนินการตามกฎหมายและแนวปฏิบัติของศาลยุติธรรม โดยนายชำนาญอ้างว่าพบผู้ที่ฝ่าฝืนสามรายคือ

คลื่นใต้น้ำกระเพื่อม โยกย้ายแต่งตั้ง"ตุลาการ"สะเทือน

นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา

 

รายที่ 1 ผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ไลน์ว่า “J29 Anuruk “ ในไลน์กลุ่มชื่อ "สภาตุลาการ"จำนวนห้าครั้งคือครั้งที่1  เมื่อวันที่ 4ก.พ.2564  ,ครั้งที่ 2 วันที่9 ก.พ. ,ครั้งที่ 3 วันที่16ก.พ., ครั้งที่ 4 วันที่ 9มี.ค. ,ครั้งที่ 5 วันที่ 17มี.ค. และวันที่ 31มี.ค. 

 

รายที่ 2 ผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ไลน์ว่า” S.tany “ในไลน์กลุ่ม "ศาลฎีกา"จำนวนสามครั้งคือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10ม.ค.2564 , ครั้งที่ 2 วันที่ 6ก.พ. และ เมื่อวันที่ 16ก.พ.,ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9มี.ค.

 

รายที่ 3 ผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ไลน์ว่า "rlek" ในไลน์กลุ่มชื่อ "Legal mind"จำนวนห้าครั้งคือ ครั้งที่1 วันที่ 9 ม.ค.2564 ,ครั้งที่ 2 วันที่16ม.ค.,ครั้งที่ 3 วันที่16ก.พ., ครั้งที่ 4 วันที่16ก.พ.  ,ครั้งที่ 5 วันที่ 9มี.ค.

 

เอกสารร้องเรียนของนายชำนาญ ระบุว่า   การกระทำของผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ทั้ง 3 ราย ทั้งที่รู้ว่า พ.ร.บ.ระเบียบฯ มาตรา 17 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ให้ถือว่าการกระทำใด ๆอันมีลักษณะเป็นการหาเสียง เพื่อให้ข้าราชการตุลาการ ลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการใด ๆ เป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ ซึ่ง ก.ต. มีมติเห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงเลือกกรรมการหรืออนุกรรมการใดๆ ตามพ.ร.บ.ระเบียบฯ

 

ทั้งยังออกประกาศคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เรื่อง แนวทางพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียงลงวันที่ 3 ต.ค.2557 ใช้บังคับแล้ว ดังนั้นหลักเกณฑ์และระเบียบดังกล่าวจึงเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับจริยธรรมของข้าราชการดุลาการตามที่ ก.ต. กำหนด ซึ่งมาตรา 62 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯบัญญัติให้ข้าราชการตุลาการต้องยึดถือและปฏิบัติตาม การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามย่อมเป็นการกระทำความผิดวินัย

 

แปลว่าคนในแวดวงตุลาการน่าจะทราบดีจากการร้องเรียนคราวนี้ว่า”บุคคลทั้งสามคือใครและมีตำแหน่งแห่งหนอยู่ที่ใด...และทำไมต้องออกมาขยับตามที่นายชำนาญร้องเรียน รวมทั้งควรดูเจตนาเพ่งเล็งผลและประสงค์ต่อผลแบบใดในวันนี้และวันหน้ากับการล็อบบี้หาเสียงทั้งที่ส่อว่าจะเกิดความผิด”

จากนั้นวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา   นายชำนาญ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน ป.ป.ช.  เรื่อง”เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด...” โดยเชื่อมโยงกับการร้องเรียนประธานศาลฎีกาเรื่อง"ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมาย กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ว่า ข้าราชการตุลาการกระทำผิดวินัย กรณีหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ"  ที่ยื่นเรื่องในช่วงสงกรานต์และยังไม่มีความชัดเจนใดๆจากสำนักงานศาลยุติธรรม

 

แต่ตอนนั้นคนวงในแวดวงตุลาการทราบกันแล้วว่า  หนึ่งในสามรายที่นายชำนาญร้องเรียนให้ตรวจสอบนั้น เป็นกต.ชุดปัจจุบัน และก.ต.ชุดปัจจุบันจะมีส่วนในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมประจำปีนี้ด้วย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ล่าสุด เมื่อวันที่13ส.ค.ที่ผ่านมานายชำนาญทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(กต.) และกรรมการกต.เรื่องคัดค้านการแต่งตั้ง”นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล”   รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็น”ประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ “

คลื่นใต้น้ำกระเพื่อม โยกย้ายแต่งตั้ง"ตุลาการ"สะเทือน

นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล  รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์

 

โดยมีใจความสำคัญว่า.....ตามที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเสนอบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการวาระ1ต.ค.2564 (บัญชี4) ลำดับที่115 (นายอนุรักษ์)ไปดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์นั้น  ตนได้มีหนังสือร้องเรียนลงวันที่15เม.ย.2564 ถึงประธานศาลฎีกาขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกรณีมีเหตุควรสงสัยว่าข้าราชการกต.ทำผิดวินัยกรณีหาเสียงให้กต.ลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา36(3) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ปรากฏว่ามีผู้ใช้โปรไฟล์ไลน์ J29Anurak และภาพถ่ายนายอนุรักษ์เป็นหนึ่งในผู้โพสต์ข้อความในไลน์สภาตุลาการ อันมีลักษณะหาเสียงให้นายไผทชิต เอกจริยกรและนายจำนง เฉลิมฉัตรในการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ

ใจความหลักของหนังสือร้องเรียนระบุว่า  แต่ประธานศาลฎีกายังไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอันเป็นการเข้าลักษณะการหาเสียงตามประกาศคณะกรรมการศาลยุติธรรมเรื่องแนวทางการพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียง วันที่3ต.ค.2557 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา17วรรคสี่ และมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา17และมาตรา62 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอนุรักษ์เป็นกต.ที่ต้องควบคุมและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนจริยธรรมของกต.

 

“มาตรา37วรรคสามแห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯ ประกอบกับข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561 ข้อ9ยังกำหนดหน้าที่ของกต.เกี่ยวกับการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา36 (1)(2)(3) ที่ระบุว่าการวินิจฉัยของกต.ให้ถือเป็นที่สุดรวมทั้งมาตรา41 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯระบุว่ากรณีข้อสงสัยการพ้นตำแหน่งของกต.ผู้ทรงคุณวุฒิบัญญัติให้กต.เป็นผู้ชี้ขาด ดังนั้นมีกฎหมายกำหนดหน้าที่โดยตรงของนายอนุรักษ์ซึ่งเป็นกต.ในขณะนั้นในการดูแลกระบวนการเลือกตั้งกต.ผู้ทรงคุณวุฒิให้ถูกกฎหมาย อีกทั้งมาตรา17วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯ และข้อบังคับของปรานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561 ข้อ29 ระบุชัดเจนถึงการไม่ให้หาเสียงเพื่อให้กต.ลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลที่จะวินิจฉัยคือกต.

 

ดังนั้นนายอนุรักษ์ซึ่งเป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลอุทธรณ์ในขณะนั้นย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิในขณะนั้น   แต่ปรากฏว่านายอนุรักษ์พบว่าผู้พิพากษาหลายรายโพสต์ข้อความให้มีการลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิให้ผู้สมัครรายหนึ่งรายใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและจริยธรรม นายอนุรักษ์กลับไม่ห้ามปรามและนายอนุรักษ์กลับเข้าร่วมด้วยในการหาเสียงให้นายไผทชิตและนายจำนง การกระทำที่ผิดวินัยของนายอนุรักษ์ที่มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา17วรรคสี่แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา172 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ”ใจความในหนังสือร้องเรียนของนายชำนาญ ระบุ

“ย่อมเป็นการไม่เหมาะสมที่กต.จะให้ความเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายอนุรักษ์ให้ดำรงตำแหน่งประธาน แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ ที่ยังมีคดีอยู่ที่สำนักงานปปช. และยังคัดค้านนายไผทชิตและนายจำนง กต.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมลงมติในครั้งนี้ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในเรื่องนี้”บางส่วนของหนังสือร้องเรียนของนายชำนาญ

ข้อมูลข้างต้นที่มีการพาดพิงนายอนุรักษ์นั้น สื่อมวลชนได้เปิดพื้นที่สัมภาษณ์นายอนุรักษ์เพื่อให้พื้นที่ชี้แจง แต่นายอนุรักษ์ตอบว่า”ไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูล ไม่ขอพูดเรื่องดังกล่าว”

และเรื่องราวข้างต้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นเลขาธิการศาลยุติธรรมและโฆษกศาลยุติธรรมยังไม่ให้ความกระจ่างกับสังคม

เรื่องนี้สอดรับกับกระเเสข่าวซึ่งสำนักข่าวแห่งหนึ่งรายงานไม่นานมานี้ว่านายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา ”  รองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) ได้ประกาศลาออกกลางที่ประชุม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2564 ที่ผ่านมา เพราะไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของ อ.ก.ต. เสียงข้างมาก ในการแต่งตั้งผู้พิพากษารายหนึ่ง ให้ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (หน.ฎีกา) ทั้งที่ถูกร้องเรียนว่ามีส่วนเข้าไปพัวพันกับการแทรกแซงกระบวนการต่อสู้คดีข้อพิพากษาที่ดินจำนวน 46 แปลง ระหว่างบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งกับคู่กรณี ซึ่งมีคดีฟ้องร้องกันจำนวนหลายคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จนกระทั่งบริษัทต้องยอมจ่ายเงินชดเชยจำนวน 400 ล้านบาท! โดยเรื่องนี้ทราบว่าดีเอสไอส่งสำนวนให้ปปช.ดำเนินการต่อแล้ว

กรณีที่นายชำนาญ  รวิวรรณพงษ์  ร้องเรียนนั้น  ต้องมองให้ลึกว่า นายอนุรักษ์”ถือเป็นหนึ่งในกต.ที่มีส่วนร่วมพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมด้วย” และในปีนี้นายอนุรักษ์ได้”ขยับตำแหน่ง”ทั้งที่การร้องเรียนให้ตรวจสอบการ ล็อบบี้หาเสียงตามที่นายชำนาญระบุนั้น “ยังไม่มีผลสรุป”

ผลสรุปของสองเรื่องร้อนนี้ จะออกมาคือมีมูลและไม่มีมูล

โดยทั่วไปการแต่งตั้งโยกย้ายของแทบทุกวงการต้องพิจารณาคุณสมบัติให้รอบด้าน หากมีข้อร้องเรียนที่ไม่ชอบมาพากล หลายวงการจะ”ไต่สวนให้แน่ชัดก่อนที่จะมีบทสรุปในพิจารณาการแต่งตั้งโยกย้ายในหน่วยงานนั้นๆ”

คลื่นใต้น้ำกระเพื่อม โยกย้ายแต่งตั้ง"ตุลาการ"สะเทือน

 

ดังนั้น การร้องเรียนของนายชำนาญ  พบว่า  วันที่พบว่ามีการกล่าวอ้างว่านายอนุรักษ์ล็อบบี้หาเสียง วันนั้นนายอนุรักษ์ทำหน้าที่รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์  แต่ผลการประชุมพิจารณาบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการวาระ1ต.ค.2564  มีมติให้นายอนุรักษ์ไปดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์

ภาวะแบบนี้ในวงการตุลาการนับว่าไม่กระจ่าง.....เพราะยังไม่มีการตรวจสอบข้อร้องเรียนของนายชำนาญเลย  จุดนี้ผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรมต้องเร่งขยับให้เรื่องยุติโดยเร็ว

สมมติว่า หากวันข้างหน้าผลสรุปจากข้อร้องเรียนออกมาในทางที่ไม่เป็นคุณกับนายอนุรักษ์  ต้องชี้แจงว่า มูลเหตุจูงใจคืออะไร,  การขยับตำแหน่งในคราวนี้จะมีผลอย่างไรกับผู้พิพากษาท่านอื่นๆที่อาจพลาดตำแหน่งที่นายอนุรักษ์ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้,  และจะมีบทสรุปอย่างไรกับข้อกล่าวหาของนายชำนาญที่มีต่อนายอนุรักษ์

 

หรือหากผลสรุปออกมาในทางที่เป็นคุณกับนายอนุรักษ์ มลทินต่างๆจะสลายไป เพราะอายุราชการของนายอนุรักษ์นั้นจะมีถึงปี2568 และน่าจะมีโอกาสก้าวหน้าในแวดวงตุลาการได้อีก

 

เมื่อรวมกับการไขก๊อกของนายประสิทธิ์จากตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.)ที่ต้องพิสูจน์มูลเหตุจูงใจในการเคาะรายชื่อใครบางคนที่มีข้อร้องเรียนให้ขยับตำแหน่งโดยที่ยังไม่มีความกระจ่างในข้อร้องเรียนนั้น

 

ตรงนี้คือบทพิสูจน์ของผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อคลายความกระจ่างของบุคลากรในวงการตราชั่งเพื่อเรียกศรัทธาจากทั้งวงในและวงนอกให้กลับคืนมาโดยเร็ว...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ