แนวคิดสวนทาง
กลุ่ม 10 มกรานั้น ก่อตั้งโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ที่เคยดำรงตำแหน่งช่วงปี 2522) กับ วีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคในขณะนั้น
เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์
ที่มาของชื่อกลุ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2530 ณ โรงแรมเอเชีย ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค
โดยกลุ่มแรกได้เสนอชื่อ “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์” กับอีกกลุ่มที่เสนอชื่อ “พิชัย รัตตกุล” หัวหน้าพรรคในขณะนั้น เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป
ทั้งสองกลุ่มนี้มีแกนนำ กลุ่มแรกเป็น วีระ มุสิกพงศ์ กลุ่มหลังเป็น “ชวน หลีกภัย” ทั้งนี้ส่วนตัววีระเองก็ได้ลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรค แข่งกับ “พันโทสนั่น ขจรประศาสน์” (ยศขณะนั้น) ในครั้งนั้นด้วย
วีระ หรือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ในปัจจุบัน
แต่แล้วปรากฏว่าทั้งเฉลิมพันธ์และวีระพ่ายแพ้ต่อ พิชัย รัตตกุล ส่งผลให้เสธจากแดนชาละวันได้เป็นเลขาธิการพรรค โดยการเมืองไทยเวลานั้น อยู่ในยุคสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งทาง พิชัย รัตตกุลเอง ก็ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอยู่ก่อนแล้วในคณะรัฐมนตรีชุดที่ 44 เช่นเดียวกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอยู่เช่นกัน
พิชัย รัตตกุล
ที่สุดกลุ่มก้อนในพรรคที่สนับสนุนฝ่ายเฉลิมพันธ์ ก็ได้แยกย้ายออกจากพรรคไป ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมีความไม่พอใจการบริหารงานของพิชัย หัวหน้าพรรค มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วในหลายประการ
เช่น ไม่เห็นด้วยที่พิชัยสนับสนุน พิจิตต รัตตกุล ลูกชายของตนเองที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งซ่อมเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร (แทนที่ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ ที่ถึงแก่กรรมไปด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรม) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพลังงาน ด้วยเห็นด้วยพรรษาทางการเมืองของพิจิตตนั้นยังน้อย หรือการที่เสนอรายชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรีอีกหลายคนที่่ทางกลุ่มเห็นว่าไม่เหมาะสม เป็นต้น
แต่อีกส่วนหนึ่งก็เพราะเมื่อไปด้วยกันไม่ได้ จะทำยังไงก็ไปไม่ได้!
แตก-ย้าย
ช่วงเวลานั้น พรรคประชาธิปัตย์ นับเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเปรม นอกเหนือจาก พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎร
แต่ดูเหมือนว่า “กลุ่ม 10 มกรา” จะไม่สามารถไปในทิศทางเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ได้อีกแล้ว ที่สุด ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2531 เพื่อลงมติโหวตกฎหมายสำคัญพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่รัฐบาลหมายมั่นผลักดัน
ปรากฏว่ากลุ่ม 10 มกรา ได้ใช้พลังที่มี หรือ ส.ส.ในกลุ่มถึง 32 คน ยกมือสวนมติพรรค สวนมติรัฐบาล ไปรวมพลังกับฝ่ายค้าน
คนไทยอ่านถึงตรงนี้ อาจนึกเปรียบเทียบกับเหตุการณ์งูเห่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ที่แน่ๆ เหตุการณ์ในวันนั้น ส่งผลต่างกว่าปัจจุบันอยู่
กล่าวคือ แม้ผลการลงมติฝ่ายค้านจะพ่ายแพ้ด้วยคะแนน 183-134 เสียง และกฎหมายดังกล่าวเดินหน้าไปได้ แต่รมต.พรรคประชาธิปัตย์ 16 คน ก็แสดงสปิริตด้วยการลาออกต่อ พล.อ.เปรม เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531
มากไปกว่านั้น คือ นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ประกาศยุบสภาในวันเดียวกันนั้นเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคการเมือง ยังไม่ยอมรับรู้ความคิดเห็น หรือมติของสมาชิกฝ่ายข้างมากในพรรคของตน อันเป็นการขัดต่อวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก”
ระหว่างนั้นเมืองไทยเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป ในวันที้ 24 กรกฎาคม 2531
ผลคือพรรคชาติไทย โดย พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง 87 ที่นั่ง รองลงไปคือพรรคกิจสังคม 54 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 48 ที่นั่ง ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียง “เกินครึ่ง” ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีทั้งหมด 357 เสียง
ยังผลให้ แกนนำของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งลำดับแรก 5 พรรค คือ พรรคชาติไทย, พรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์, พรรครวมไทย และ พรรคประชากรไทย ได้หารือกันถึงการจัดตั้งรัฐบาล
การหารือนี้สรุปว่าไปเชิญพล.อ.เปรม กลับมานั่งนายกฯ ต่อ แต่นายกฯ 5 สมัย 8 ปี 5 เดือนของคนไทย ตอบมาว่า “ผมพอแล้ว” ปิดฉากเปรมาธิปไตย คนไทยได้นายกฯ เป็น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ
อ่าน การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ แต่...“ผมพอแล้ว!” https://www.komchadluek.net/news/today-in-history/335921