วันนี้ในอดีต

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ แต่..."ผมพอแล้ว!"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"24 กรกฎา ชาวประชาต้องไปเลือกตั้ง  24 กรกฎา ชาวประชาต้องไปเลือกตั้ง" ใครจำเพลงนี้ได้บ้าง และจำได้ไหมว่าหลังเลือกตั้ง เกิดอะไรขึ้น!!

          30 ปีก่อนของวันนี้ หรือตรงกับวันที่ 24 ก.ค.2531 หลายคนอาจจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 17 ของประเทศไทย จากเพลงรณรงค์เลือกตั้ง ครั้งที่ทำให้ลูกเล็กเด็กแดงได้ยินได้ฟังและอาจจดจำท่อนสร้อยของเพลงได้ดีมาจนถึงทุกวันนี้ คือ

          "...24 กรกฎา ชาวประชาต้องไปเลือกตั้ง  24 กรกฎา ชาวประชาต้องไปเลือกตั้ง..."

         จะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งปีนั้น จะเป็นปีแรกๆ ที่ประเทศไทยเรามีเพลงรณรงค์เลือกตั้ง และยังคงมีมีจนถึงุทกวันนี้ เพียงแต่อาจไม่มีใครจำได้ดีเท่ากับหนนั้น

         อย่างไรก็ดี ความสำคัญของวันเลือกตั้งเมื่อ 30 ปีก่อนนี้มิได้อยู่แค่เพลงรณรงค์ แต่ครั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด เนื่องจาก นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน 2531 เนื่องจากมีการขัดแย้งกันภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลทำให้เสียงในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มาทางรัฐบาลทั้งหมดและไปค้านรัฐบาลด้วย

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์  แต่..."ผมพอแล้ว!"

         สำหรับผลการเลือกตั้ง แม้หลายคนจำได้ดีว่า ที่สุดคนไทยได้ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) เป็นนายกรัฐมนตรีในปีนั้น แต่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์หลายประการทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งขอนำมาทบทวนเล่ากันอีกครั้ง

         กล่าวคือ หลังเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งชี้ว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ “พรรคชาติไทย” แต่หัวหน้าพรรคคือ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ แรกเริ่มเขาไม่ได้แสดงตนว่าจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

         จากข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกันว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏว่า พรรคชาติไทย โดย พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยเสียง 87 ที่นั่ง รองลงไปคือ พรรคกิจสังคม มี 54 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 48 ที่นั่ง ซึ่งชัดเจนว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียง “เกินครึ่ง” ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีทั้งหมด 357 เสียง

         ยังผลให้ แกนนำของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งลำดับแรก 5 พรรค คือ พรรคชาติไทย, พรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์, พรรครวมไทย และ พรรคประชากรไทย ได้หารือกันถึงการจัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์  แต่..."ผมพอแล้ว!"

         ที่สุด ทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่า พล.อ.เปรม มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ พวกเขาจึงเข้าพบกับ พล.อ.เปรม ถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์ ในเวลาค่ำของวันที่ 27 ก.ค.

         แต่ พล.อ.เปรมได้ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อ โดยว่ากันว่า ท่านได้กล่าวว่า “ผมพอแล้ว” ให้เหตุผลว่า

         ระยะเวลารวมทั้งหมด 8 ปี 5 เดือน ที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเพียงพอแล้ว อีกทั้งบ้านเมืองก็มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับที่น่าพึงพอใจ พล.ต.ชาติชาย ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปีเดียวกัน และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปีเดียวกัน

         ที่สุด พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงได้ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล โดยในส่วนของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกฯไปแล้ว ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ในเวลาต่อมาไม่นาน

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์  แต่..."ผมพอแล้ว!"

ภาพโดย พรชัย กิตติวงศ์สกุล สำนักข่าว AFP       

          อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่ง หลายคนยังเชื่อกันว่า สาเหตุที่ พล.อ.เปรมไม่ยอมรับเก้าอี้นายกฯ อีก นั่นเพราะช่วงเวลานั้น ซึ่งเรียกได้ว่า หลังอยู่ในอำนาจถึง 8 ปี หลายคนสัมผัสได้ถึงการที่ประชาชนมิได้ให้ความนิยมนายกฯ เปรมเท่ากับที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้น

          นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ 99 คน เข้าชื่อถวายฎีกาคัดค้านไม่ให้ พล.อ.เปรม ขึ้นเป็นนายกฯสมัยที่ 4 จนเกิดมีคำว่า “ฎีกา 99” ในช่วงนั้น ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป ซึ่งว่ากันว่า สิ่งนี้เองที่นำไปสู่การตัดสินใจประกาศว่า “ผมพอแล้ว” ต่อสาธารณชนในปี 2531

         อนึ่ง หลายคนคงไมลืมเช่นกันว่า สภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้อยู่ในอำนาจมาจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็ถูกคณะทหารที่เรียกตัวเอง "คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ" หรือ คณะ รสช. ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล ล้มรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับล้มรัฐสภาไปด้วยในทันที

//////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

สถาบันพระปกเกล้า 

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=24_%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2531

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ