ถ้าพูดถึงเพลง “ค่าน้ำนม” คนไทยรู้จักกันดี ร้องตามได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่เว้นลูกเล็กเด็กแดง
แต่บางคนอาจรู้ว่าเพลงนี้มีต้นฉบับเสียง ที่บันทึกครั้งแรกโดยเสียงร้องของ “ชาญ เย็นแข” ตั้งแต่ปี 2492 หากแต่หลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นหลัง อาจไม่รู้เลยว่าเพลงนี้แต่งโดย “ไพบูลย์ บุตรขัน” ครูเพลงที่มีผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จนได้รับการขนานนามให้เป็น “อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของไทย”
แต่ชีวิตของเขานั้น แม้จะรุ่งโรจน์ แต่ก็ร่วงหล่น จนหลายคนอดสะท้อนใจในความอาภัพอับโชคของเขาไม่ได้ จนที่สุด “ไพบูลย์ บุตรขัน” ลาโลกไปด้วยโรคลำไส้ อาเจียนเป็นเลือด และเสียชีวิตเมื่อวันนี้ของ 47 ปีก่อน หรือ 29 สิงหาคม 2515 สิริอายุ 56 ปี
คอลัมน์วันนี้ในอดีตจึงขอรำลึกครูเพลงด้วยประวัติและผลงานของท่านอีกครั้งหนึ่ง
กำเนิดครูเพลง
ครูไพบูลย์ บุตรขัน เดิมชื่อ ไพบูลย์ ประณีต เกิดที่บ้านท้องคุ้ง ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี เป็นบุตรของนายบุตร และนางพร้อม ประณีต โดยต้นตระกูลทั้งฝ่ายบิดาและมารดาเป็นชาวไทยรามัญหรือชาวมอญ
ครอบครัวมีอาชีพทำนา มีฐานะยากจน มีพี่น้อง 3 คน เมื่ออายุได้ 6 ปี บิดาเสียชีวิต จึงได้รับการเลี้ยงดูโดย นายเจน บุตรขัน ผู้เป็นอา และพาไปอยู่ที่อำเภอปทุมวัน กรุงเทพ และได้เปลี่ยนนามสกุลจากประณีต มาเป็น “บุตรขัน”
ครูไพบูลย์ บุตรขัน เริ่มศึกษาชั้นประถมต้นที่จังหวัดปทุมธานี ประถมปลายที่โรงเรียนสตรีปทุมวัน และศึกษาจนจบมัธยม 8 ที่โรงเรียนสวัสดิ์อำนวยเวทย์ กรุงเทพ
จากนั้นศึกษาดนตรีเพิ่มเติมจากครูพิณ โปร่งแก้วงาม ราวปี พ.ศ. 2476-2478 และเรียนวิชาดนตรีและโน้ตเพลงสากลเพิ่มเติมที่สมาคมวายเอ็มซีเอ แถบถนนวรจักร และได้ใช้โน้ตดนตรีประกอบการแต่งเพลงทุกครั้ง ตั้งแต่นั้นมา
หลังจากเรียนจบ ราวปี 2481 ไพบูลย์ บุตรขัน ได้ทำงานเป็นครูสอนภาษาไทยที่โรงเรียนกว๋องสิว แล้วลาออกไปทำงานเป็นช่างไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าสามเสน
แต่จุดเปลี่ยนคือ ตอนที่ครูไพบูลย์ลาออกไปทำงานกับคณะละคร “คณะแม่แก้ว” และ “คณะจันทโรภาส” ของ “พรานบูรพ์” ทำหน้าที่เขียนบทละครวิทยุ และแต่งเพลง ทำให้ได้รับประสบการณ์ทั้งด้านการเรียนรู้ชีวิต-สังคมและเพิ่มพูนความเชี่ยวชาญด้านงานประพันธ์เพลง และบทละคร
งานเพลง
ที่สุด ครูไพบูลย์ บุตรขัน มีผลงานเพลงที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียง ราวปี 2490 จากการชักนำของ “สวัสดิภาพ บุนนาค” ซึ่งเป็นเพื่อนและน้องเขย
เพลงในยุคแรกที่โด่งดัง เช่น เพลง “มนต์เมืองเหนือ” “คนจนคนจร” “ดอกไม้หน้าพระ” “ดอกไม้หน้าฝน” และ “ค่าน้ำนม” และได้รับการยกย่องว่าเป็นงานที่มีคุณค่า และได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน เช่น “โลกนี้คือละคร” (ขับร้องโดยปรีชา บุณยะเกียรติ) “เบ้าหลอมดวงใจ” และ “มนต์รักลูกทุ่ง” (ขับร้องโดยไพรวัลย์ ลูกเพชร) “ฝนเดือนหก” (ขับร้องโดยรุ่งเพชร แหลมสิงห์) “ยมบาลเจ้าขา” (ขับร้องโดยบุปผา สายชล)
ชาญ เย็นแข
นอกจากนี้ยังมี “กลิ่นโคลนสาปควาย” (แต่งขึ้นในปีพ.ศ. 2496 ขับร้องโดยชาญ เย็นแข) เป็นอีกผลงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของของไพบูลย์ บุตรขัน ที่ทางราชการไทยเคยประกาศห้ามเปิดในช่วงการปราบปรามคอมมิวนิสต์
แต่แม้จะมีการห้าม ก็เหมือนยิ่งยุ ปรากฏว่ามีผู้ฟังซื้อแผ่นเสียงไปฟังเป็นจำนวนมาก และเพลงนี้ได้รับยกย่องให้เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่งอีกด้วย
เพราะในอดีตก่อนปี 2500 นั้น เพลงในประเทศไทยยังมิได้แบ่งแยก ยุคสมัยที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกเพลงลูกกรุงและเพลงลูกทุ่งออกจากกันอย่างชัดเจน
ศิลปินอาภัพ
ถ้าจะพูดถึงความอาภัพของครูไพบูลย์ เห็นจะเป็นเรื่องโรคประจำตัว ที่เริ่มเป็นตั้งแต่วัยหนุ่มวัยเพียง 22-23 ปี หรือช่วงที่ทำงานการไฟฟ้าราวปี 2483
ว่ากันว่า มีผู้พบเห็นเขาพันผ้าพันแผลไว้ที่มือรอบนิ้วเหมือนนักมวยพันก่อนสวมนวม และมักเอามือหลบสายตาผู้คน จนเมื่อครูเริ่มแต่งเพลงเป็นอาชีพแล้ว โรคนี้ก็ยังหลอกหลอนไม่ห่างหาย
ก่อนนั้น ช่วงปี 2485 ที่เกิดสงครามเย็น ครูไพบูลย์เก็บตัวรักษาอาการ หารายได้ด้วยการแต่งหนังสือนิทานสำหรับเด็ก แต่ก็ยังไม่พอซื้อหยูกยามารักษาตัว
ช่วงนั้นเขามีแต่ นางพร้อม ประณีต ผู้เป็นมารดาเท่านั้นที่มาดูแล โดยไม่รังเกียจ ทั้งๆ ที่โรคที่เป็นคือโรคร้ายที่ติดต่อกันได้ง่าย
ครูไพบูลย์ซาบซึ้งในพระคุณของมารดา จนกลั่นออกมาเป็นเพลง “ค่าน้ำนม” ในปี 2492 จนช่วงปี 2502 ครูไพบูลย์ทรมานจากโรคจนต้องพึ่งยาเสพติด
แต่ก็ทำให้กลับทรุดลง จนเพื่อนฝูงที่ยังรักกันอยู่ก็มาชักชวนให้ไปรักษาที่ถ้ำกระบอก จ.สระบุรี เมื่อหายดีก็กลับมาพักฟื้นที่บ้านพักในปทุมธานีจนถึงปี 2508 ครูไพบูลย์สูญเสียแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับ
ทั้งนี้นอกจากเพลง “ค่าน้ำนม” แล้ว ครูไพบูลย์ยังมีบทเพลงที่แต่งเพื่อแม่อีก เช่น อ้อมอกแม่, ชั่วดี, ลูกแม่ แต่เพลงค่าน้ำนมนั้นเห็นจะเป็นที่สุดแล้ว เพราะหลังจากแผ่นเสียงเพลงนี้ออกจำหน่าย ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และทำให้ ชาญ เย็นแข จากนักร้องสลับหน้าม่านละครเวที กลายมาเป็นนักร้องแถวหน้าของเมืองไทย
ลาวัณย์ โชตามระ นักหนังสือพิมพ์บันทึกไว้เมื่อ พ.ศ. 2508 ว่า "เป็นประวัติการณ์ที่ว่า พอถึงวันแม่ซึ่งทางการยุคหนึ่งกำหนดให้ถือเอาวันที่ 15 เมษายน ตลอดวัน วิทยุก็จะกระจายเสียงแต่เพลงที่เขาแต่งขึ้น นั่นคือ เพลงค่าน้ำนม "
ตัวดับ-งานอมตะ
ทางชีวิตส่วนตัว ครูไพบูลย์ บุตรขัน สมรสกับ “ดวงเดือน” หรือ จันทิมา บุตรขัน หรือ "ดวงเดือน ดุษณีย์วงศ์" ในปัจจุบัน โดยเธอเป็นนักแต่งเพลง ลูกศิษย์ครูไสล ไกรเลิศ ที่เป็นเพื่อนกัน ทั้งคู่ร่วมงานกันและแต่งงานกันในเดือนธันวาคม 2511 แต่ครูไพบูลย์ก็มาล้มป่วยด้วยโรคลำไส้ อาเจียนเป็นเลือด และจากไปหลังจากนั้นเพียง 4 ปี
ภาพนี้ถูกระบุเพียงว่า ครูไพบูลย์กับคนในครอบครัว หากมิได้ระบุว่าสตรีผู้นี้มีชื่อเสียงว่าอะไร
ทั้งนี้ ช่วงที่พักฟื้นหลังรักษาตัว 15 วัน ครูไพบูลย์ย้ายไปอยู่บ้านของตัวเองที่ศักดิ์ชัยนิเวศน์ และยังแต่งเพลงออกมาอีกมากมาย และทุกเพลงก็โด่งดังเป็นที่ชื่นชอบ จนเสียชีวิตด้วยโรคลำไส้ เมื่อปี พ.ศ. 2515
และหลังจากเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ในปี พ.ศ. 2532 เพลงของครูไพบูลย์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกไทย ถึง 10 เพลง ได้แก่ “ชายสามโบสถ์” (ขับร้องโดยคำรณ สัมบุญณานนท์) “น้ำตาเทียน” (ขับร้องโดยทูล ทองใจ) “บ้านไร่นารัก” และ “เพชรร่วงในสลัม” (ขับร้องโดยชินกร ไกรลาศ)
“ฝนซาฟ้าใส” (ขับร้องโดยยุพิน แพรทอง) “ฝนเดือนหก” (ขับร้องโดยรุ่งเพชร แหลมสิงห์) “บุพเพสันนิวาส” และ “มนต์รักแม่กลอง” (ขับร้องโดยศรคีรี ศรีประจวบ) “มนต์รักลูกทุ่ง” (ขับร้องโดยไพรวัลย์ ลูกเพชร) และ “ยมบาลเจ้าขา” (ขับร้องโดยบุปผา สายชล) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลจากเพลง “หนุ่มเรือนแพ” (ขับร้องโดยกาเหว่า เสียงทอง)
*****************************
และเช่นเคย มารำลึกถึงบรมครูเพลง ผู้สร้างคุณูปการไว้ให้สังคมไทย ด้วยบทเพลงอันมาจากมันสมองและสองมือของเขาผู้นี้อีกครั้ง
ขอบคุณผู้ใช้ยูทูบ T. T.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-26 ส.ค. 2416 รำลึกเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ล้นเกล้า ร. 5
-ดนตรีคลาสสิกน้อมรำลึกสมเด็จพระพี่นางฯ
-3 หมื่น วิ่งตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน รำลึกป๋าเปรม (ภาพชุด)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง