
'สทนช.' ติดตามสถานการณ์น้ำ 'เขื่อนลำปาว' เร่งลดผลกระทบ 'น้ำท่วม'
'เลขาธิการสทนช.' ลงพื้นที่ 'เขื่อนลำปาว' พบปริมาณน้ำจุเกิน 25 ล้าน ลบ.ม. สั่งปรับแผนบริหารจัดน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่ ลดผลกระทบประชาชน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ "น้ำเขื่อนลำปาว" และพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ร่วมกับ นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนลำปาว สำนักงานชลประทานที่ 6 จ.กาฬสินธุ์
เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้รับจากผลกระทบฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเขื่อนลำปาวเกินความจุเก็บกัก ซึ่งต้องมีการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เหนือเขื่อน 6 อำเภอ 24 ตำบล 134 หมู่บ้าน และพื้นที่ท้ายเขื่อน 5 อำเภอ 31 ตำบล 199 หมู่บ้าน โดยปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,005 ล้าน ลบ.ม. หรือ คิดเป็นร้อยละ 101 ของความจุที่ระดับเก็บกัก ซึ่งมีปริมาณเกินความจุที่ระดับเก็บกัก 25 ล้าน ลบ.ม.
โดยหน่วยงานในพื้นที่ได้บูรณาการแนวทางการช่วยเหลือเร่งด่วน โดยได้ติดตั้งเรื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด สนับสนุนเรือท้องแบนช่วยเหลือในการเดินทางสัญจรของประชาชน รวมทั้งการบริหารด้านสาธารณสุข ช่วยบรรเทาความเครียดต่อสถานการณ์น้ำท่วมด้วย
ดร.สุรสีห์ สั่งการให้กรมชลประทานปรับลดอัตราการระบายน้ำ เพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมบริเวณท้ายเขื่อนลำปาว และลดปริมาณน้ำที่ไหลลงลำน้ำชีและลำน้ำมูล
จากการคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ช่วงหลังจากวันที่ 8 ต.ค. 66 สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มเบาบางลง ซึ่งจะช่วยไม่ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยาว โดยการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนลำปาว ให้พิจารณาพัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิงมีทางน้ำเข้าออก สำหรับใช้กักเก็บน้ำช่วงน้ำหลาก
ทั้งการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวให้เร็วขึ้น และส่งเสริมอาชีพในการทำประมง เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากต่อไป นอกจากนี้ต้องสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน รับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และต้องเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับรับมือผลกระทบเอลนีโญด้วย