ข่าว

สธ. เข้ม "เมนูกัญชา" ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวง ฝ่าฝืน เจอโทษ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระทรวงสาธารณสุข เข้ม "เมนูกัญชา" ร้านอาหาร ต้องปฏิบัติตาม ประกาศกระทรวง อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค ฝ่าฝืนเจอโทษ

ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ที่ได้นำกัญชามาใช้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เพื่อยกระดับประกาศกรมอนามัย ที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ ให้มีสภาพบังคับใช้ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 

 

 

                 

​โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพ และการจัดการสุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ ที่นำกัญชา หรือกัญชงมาใช้ทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร เป็นเมนูกัญชาเพื่อจำหน่าย สร้างความปลอดภัยและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ประกอบด้วย

 

  1. แสดงข้อความ หรือป้ายสัญลักษณ์ว่าเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จ 
  2. แสดงรายการอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบในอาหารประเภทปรุงสำเร็จทั้งหมด
  3. แสดงข้อแนะนำความปลอดภัยในการ บริโภคอาหารที่มีการใช้กัญชา หรือกัญชง เป็นส่วนประกอบ โดยแสดงข้อความ ดังนี้

 

  • “บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน”
  • “ถ้ามีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และถ้ามีอาการรุนแรง ให้ปรึกษาหรือพบแพทย์โดยเร็ว”
  • “ผู้ที่แพ้กัญชา หรือกัญชง ควรงดเว้นรับประทาน” “เมื่อรับประทานแล้วเกิดอาการง่วง ซึม ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”

 

ทั้งนี้ กรมอนามัย ยังคงเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใช้กัญชาในการประกอบ ปรุงอาหาร ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หากเจ้าพนักงาน ตามกฎหมาย พบการกระทำที่ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงฯ สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจในการตรวจตราเฝ้าระวัง แนะนำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

 

รวมถึงคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ควรสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่จำหน่ายอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา ในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดในประกาศกระทรวงฯ ฉบับนี้ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

 

โดยก่อนหน้านี้ กรมอนามัย ได้ออกคำแนะนำ การนำใบกัญชามาปรุงอาหาร ทั้งแบบปรุงสด ต้ม นึ่ง และทอด ว่า ใน 1 เมนูควรใช้ 1-2 ใบ โดยคำนวณปริมาณที่ควรได้รับว่า ไม่ควรกินอาหาร และเครื่องดื่มผสมกัญชาเกิน 2 เมนูต่อวัน กรณีที่กินจนหมด แต่หากเป็นกับข้าวหลายเมนู กินแต่ละเมนูอย่างละเล็กน้อย ไม่ได้กินหมดทั้งจานหรือทั้งแก้ว ก็อาจจะกินมากกว่า 2 เมนูได้

 

กัญชา มีสารประกอบกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) อยู่ 2 ชนิดสำคัญ ได้แก่ สาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol)

 

สาร CBD (Cannabidiol) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้

 

  • ลดความวิตกกังวล ผ่อนคลาย
  • ลดอาการปวด
  • ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • ไม่มีผลต่อจิตประสาท และไม่ก่อให้เกิดการเสพติด

 

สาร THC (Tetrahydrocannabinol) หรือ “สารเมา” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

โดยสารนี้จะออกมาพร้อมกับสาร CBD ตอนสกัดกัญชา หากร่างกายได้รับสาร THC มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย

 

  • ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ใจสั่น สติแปรปรวน
  • ประสาทหลอน เกิดภาพหลอน หูแว่ว
  • หวาดระแวง แพนิค
  • ความจำระยะสั้นแย่ลง
  • สมองทำงานแย่ลงโดยกะทันหัน
  • มีผลอย่างมากต่อระบบสมอง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี โดยมีผลทั้งด้านความจำ และปริมาณเนื้อสมองที่จะลดลงถึง 10%
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวช หรือมีประวัติครอบครัว เพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการประสาทหลอนอย่างถาวร สูงถึง 20%

 

อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้จะหยุดการบริโภคไปแล้ว อาการก็อาจจะไม่ดีขึ้น โดยพบว่าสาร THC จะตกค้างอยู่ในกระแสเลือดได้นาน 1-7 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณและความถี่ในการบริโภค

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ