ข่าว

"กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อธิบดีกรมชลประทาน" เผยปีนี้การบริหารจัดการน้ำภาพรวมทั้งประเทศ อยู่ในภาวะปกติ ส่วนที่มีน้ำท่วมหลายพื้นที่ มาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกชุก ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยาขณะนี้ เร่งพร่องน้ำ เพื่อรับน้ำเหนือที่จะมากับฝนตกหนักระหว่างวันที่ 18-24 กันยายนนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศกับ คมชัดลึกออนไลน์ ว่า สถานการณ์น้ำโดยภาพรวม ทั้งประเทศตอนนี้ถือว่ายังปกติ หลังจากมีฝนตกหนัก จนทำให้หลายพื้นที่โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร น้ำท่วมก็ตาม  

 

สำหรับสถานการณ์น้ำในปีนี้พบว่า ปริมาณน้ำแตกต่างจากปี 2554 โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน พบว่าเมื่อปี 2554 มีพายุเข้ามาแล้ว 5 ลูก ขณะนั้นน้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณรวมกันกว่า 2 หมื่นล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีก 3 พันล้าน ลบ.ม.

 

แต่ปี 2565 ยังไม่มีพายุเลย มีหย่อมความกดอากาศต่ำ 3 ครั้ง น้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีรวมกัน 1.3 หมื่นล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีกหมื่นกว่า ลบ.ม. หลังจากนี้ถ้าไปดูปี 2554 มีพายุเข้ามาอีก 3 ลูก แต่หลังจากนี้ของปี 2565 ยังไม่มีพายุ จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด 

"กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
 

  • กรมชลประทาน ระดมเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมขังลงสู่อ่าวไทย

กรมชลประทาน ระดมเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมในเขตรอยต่อกรุงเทพมหานคร  ฝั่งตะวันออกและปริมณฑล ลงสู่ทะเลอ่าวไทย ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด

 

ขณะที่ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยล่าสุดวันนี้ (19 กันยายน 2565) ว่า จากสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลในขณะนี้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นบริเวณกว้างในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเสริมศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนี้ 

"กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ "กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
 

 

 

 

ที่จังหวัดสมุทรปราการ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบ Hydroflow เพิ่มเติม 2 เครื่อง ที่สถานีสูบน้ำนางหงษ์ ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จากเดิมที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ลบ.ม./วินาที ไว้แล้ว 6 เครื่อง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยให้เร็วยิ่งขึ้น

 

ด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้มีการรับน้ำต่อจากพื้นที่น้ำท่วมขังเขตลาดกระบัง ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบ  Hydroflow ขนาด 2 ลบ.ม./วินาที  จำนวน 2 เครื่อง ที่สถานีสูบน้ำท่าไข่ 1 ตำบลท่าไข่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำบางปะกง และระบายออกสู่อ่าวไทยตามลำดับ

 

ส่วนที่จังหวัดนครนายก ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 3 ลบ.ม / วินาที จำนวน 6  เครื่อง  และขนาด 12 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง  รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบ Hydroflow ขนาด 30 นิ้ว อีก 2 เครื่อง ที่บริเวณสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ อ.องครักษ์ ช่วยเร่งระบายน้ำในคลองหกวาสายล่าง ซึ่งรับน้ำมาจากพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครและปทุมธานี ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำนครนายกในลำดับถัดไป ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านกรุงเทพมหานคร และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตจังหวัดปทุมธานี 

 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือจนกว่าจะสิ้นฤดูฝน เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1460 ได้ตลอดเวลา
 

  • เร่งระบายน้ำคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อเตรียมรับน้ำเหนือ 


ส่วนสถานการณ์น้ำล่าสุด วานนี้ (18 กันยายน2565 ) ใน จ.ปทุมธานี กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม บริเวณประตูระบายน้ำกลางคลอง 12-13 เร่งระบายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาอีกในระยะต่อไป

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักเครื่องจักรกล ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 30 นิ้ว จํานวน 2 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำกลางคลอง 12 และ 13 ต.บึงน้ำรักษ์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เพื่อเร่งระบายน้ำไว้รองรับปริมาณฝนที่อาจจะตกลงมาเพิ่มเติมในระยะต่อไป 

 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำบริเวณพื้นที่ตอนบนของกรุงเทพมหานคร ด้วยการระบายน้ำและสูบน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ด้านฝั่งคลอง 12 มาทางคลองรังสิตฯ ฝั่งคลอง 13 เพื่อระบายน้ำส่วนหนึ่งไปลงแม่น้ำนครนายก อีกส่วนหนึ่งระบายลงคลอง 13 ก่อนลำเลียงสู่คลองพระองค์ไชยานุชิต และใช้สถานีสูบน้ำริมคลองชายทะเลสูบระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยตามลำดับ 

 

  • กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่า เตรียมรับมือฝนตกช่วง 18 - 24 ก.ย.นี้   

ขณะที่ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย ช่วงวันที่ 18  และ วันที่ 21 – 24 กันยายน 2565 นั้น

 

คาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนไหลมาสมทบกับแม่น้ำสะเเกกรังและลำน้ำสาขา ลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น

 

ดังนั้น ในระยะนี้ได้เตรียมการพร่องลดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยารองรับน้ำเหนือ กรมชลประทาน จึงมีความจำเป็นต้องปรับปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเป็นอัตราประมาณ 1,990 ลบ.ม./วินาที ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. ของวานนี้ (18 กันยายน 2565) หลังจากนั้นจะคงอัตราเดิมอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยกรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา และปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบน เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

  • กรมชลประทาน เร่งผลักดันน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง 

ขณะที่สถานการณ์น้ำในภาคอีสาน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2565 กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำกว่า 170 เครื่อง เร่งผลักดันน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล-ชีตอนบน และเตรียมรับน้ำหลากในระยะต่อไป

 

โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกชุกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำมูล ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูล ลำน้ำสายหลัก และสายรอง เพิ่มสูงขึ้นจนเอ่อล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่ง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่

อ.เมืองยาง จ.นครราชสีมา


อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์


อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์


อ.ราษีไศล อ.ศิลาลาด อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ 


อ.วารินชําราบ อ.เดชอุดม อ.นาจะหลวย อ.นาเยีย อ.น้ำยืน อ.ดอนมดแดง อ.ตระการพืชผล และ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี

 

ปัจจุบันแนวโน้มระดับน้ำในแม่น้ำมูลช่วงตอนบนเริ่มลดลง กรมชลประทาน ได้เร่งระบายน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 6 เครื่อง เร่งผลักดันน้ำในลำตะคองลงสู่แม่น้ำมูลให้เร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันน้ำในลำตะคองยังอยู่ในลำน้ำและยังไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน พร้อมกันนี้ได้ยกบานระบายที่เขื่อนพิมายทุกบานให้พ้นน้ำ และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 34 เครื่อง เร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูล

 

ส่วนที่ จ.ศรีสะเกษ ได้แขวนบานระบาย ที่เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ เร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูล ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่ปลายทางที่ จ.อุบลราชธานี ที่ได้มีการแขวนบานระบายที่เขื่อนลำโดมใหญ่ เขื่อนปากมูล เช่นกัน 

พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 140 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งผลักดันน้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขง ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนแก่พี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งเตรียมรองรับปริมาณน้ำหลากที่อาจจะเกิดจากฝนตกหนักลงมาอีกในระยะต่อไป

"กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ "กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

  • กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเขื่อนกิ่วลม-กิ่วคอหมา ลดผลกระทบชาวลำปาง

ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ ล่าสุดพบว่าปริมาณเริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่ จ.ลำปาง กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำในเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง หลังมีปริมาณน้ำเหนือไหลลงอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบน ควบคุมการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำวัง รักษาระดับน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดลำปางว่า ปัจจุบัน เขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 158.29 ล้าน ลบ.ม. หรือ 92% ของความจุอ่างฯ ยังคงมีแนวโน้มปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯอย่างต่อเนื่อง

 

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้ปรับการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำวัง ในเกณฑ์ 100-150 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้อยู่เกณฑ์ควบคุม ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำวังท้ายเขื่อนกิ่วคอหมา ยังคงสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำวังได้รับผลกระทบ ก่อนที่ปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่เขื่อนกิ่วลมในลำดับต่อไป

 

ด้านเขื่อนกิ่วลม ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 62.74 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของความจุอ่างฯ เนื่องจากต้องรองรับน้ำจากเขื่อนกิ่วคอหมาและระดับน้ำเหนือเขื่อนกิ่วลมเริ่มลดลง จึงได้ปรับลดการระบายน้ำลงในอัตรา 260 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำวังท้ายเขื่อนกิ่วลม มีแนวโน้มลดลง หากไม่มีฝนตกในพื้นที่คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

 

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนนี้

"กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ "กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

  • เดือนกันยายน มีน้ำไหลเข้าอ่างฯขนาดใหญ่มากกว่า 5,000 ล้าน ลบ.ม. 

ส่วนในภาพรวม เฉพาะเดือนกันยายน มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กว่า 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)  กรมชลประทานเดินหน้าบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าให้ได้มากที่สุด

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 52,119 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 23,978 ล้าน ลบ.ม.

 

เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,914 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 9,957 ล้าน ลบ.ม.  

 

"กรมชลประทาน" เผยปีนี้ สถานการณ์น้ำทั้งประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่
เพิ่มเพื่อน Line: https://lin.ee/qw9UHd2
Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/


เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8  สาขา Popular Vote ได้ที่นี่   

 (https://awards.komchadluek.net/#)
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ