เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 32/2565 มีวาระสำคัญดังนี้
1. กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ คฝ. ละเลยให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ กรณี นายมานะ หงษ์ทอง ได้รับบาดเจ็บสาหัสในการสลายการชุมนุม - ให้ สตช. ย้ำถึงหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหรืออันตราย
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายกสมาคมนักกฎหมาย สิทธิมนุษยชน (สนส.) ขอให้ตรวจสอบกรณีนายมานะ หงษ์ทอง วัย 64 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ศีรษะโดยอ้างว่าเป็นผลมาจากการใช้กระสุนยางในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (เจ้าหน้าที่ คฝ.) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 บริเวณแฟลตดินแด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเหตุเกิดขณะที่ นายมานะกำลังเดินทางกลับที่พักอาศัยโดยที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม อาการบาดเจ็บดังกล่าว เป็นผลให้นายมานะต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลากว่าหนึ่งเดือน และกลับมารักษาตัวต่อที่บ้านพักโดยไม่สามารถสื่อสาร เดิน และทำกิจธุระส่วนตัวด้วยตนเองได้
ต่อมา นายมานะได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 โดยมีสาเหตุมาจากอาการแทรกซ้อนของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ผู้แทนโดยชอบธรรมของนายมานะได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลดินแดงแล้ว แต่คดียังไม่มีความคืบหน้า และยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา จึงขอให้ตรวจสอบ
กสม. เห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ คฝ. ผู้ถูกร้อง ในวันดังกล่าว มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิด
สิทธิมนุษยชนต่อนายมานะ หงษ์ทอง หรือไม่ โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล และสิทธิในการที่จะได้รับการเยียวยาโดยรัฐจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น การรับรองสิทธิเช่นนี้ย่อมก่อหน้าที่ให้แก่รัฐที่จะต้องปกป้องคุ้มครองและดำเนินมาตรการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ถูกละเมิดอย่างเหมาะสม โดยที่การเยียวยาหมายความรวมถึงการสืบสวนสอบสวนทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่างชัด สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างเหมาะสมได้ภายในระยะเวลาอันควร
นอกจากนี้ ตามหลักสากลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลการชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปซึ่งอยู่ในพื้นที่การชุมนุมให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ทั้งยังมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในพื้นที่การชุมนุมโดยเร็วที่สุดด้วย
จากการตรวจสอบ แม้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าสาเหตุการบาดเจ็บของนายมานะเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ คฝ. แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงเวลาที่คาดว่า นายมานะได้รับบาดเจ็บ พบเจ้าหน้าที่หลายนายประจำการอยู่ในพื้นที่ โดยบริเวณที่เกิดเหตุมีไฟส่องสว่างชัดเจน ทั้งยังไม่มีสิ่งกีดขวางมาบดบังที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ คฝ. มองไม่เห็นนายมานะซึ่งนอนหมดสติอยู่ที่พื้น และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งหรือประสานไปยังหน่วยแพทย์ให้เข้ามาดูแลรักษา แต่กลับปล่อยให้นายมานะนอนหมดสติอยู่ในบริเวณดังกล่าว
กระทั่งมีประชาชนผ่านมาพบและแจ้งอาสาสมัครทางการแพทย์ให้เข้ามาดูแลช่วยเหลือเอง การเพิกเฉยดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ คฝ. จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงให้นายมานะได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงที พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นนี้นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในสถานการณ์การชุมนุมให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมแล้ว ยังถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากลที่ได้วางมาตรฐานให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บโดยเร็วที่สุด พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ คฝ. ผู้ถูกร้องจึงถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษชน
สำหรับประเด็นการเยียวยา แม้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ทายาทของนายมานะแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 แต่ กสม. มีข้อสังเกตว่า อาจยังไม่เพียงพอและเหมาะสม เพราะนอกจากการชดเชยเยียวยาในรูปของตัวเงินแล้ว ควรรวมไปถึงการสืบสวนสอบสวนเพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การละเมิดสิทธิและเสรีภาพหรือการกระทำความผิดทางอาญาได้รับการคลี่คลายข้อสงสัยและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ดี จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีความที่ทายาทของนายมานะได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ซึ่งนับเป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานพอสมควรแล้ว
กรณีนี้จึงยังไม่อาจถือได้ว่าหน่วยงานของรัฐได้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาให้แก่นายมานะและครอบครัวอย่างเหมาะสมและไม่สามารถประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วได้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้
1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลการชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรืออันตรายต่อผู้ชุมนุมและประชาชนโดยทั่วไป และกำชับให้ดำเนินการจัดหาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่มีความเหมาะสม มาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมอย่างเพียงพอทุกครั้ง และไม่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่การชุมนุมจะร้ายแรงเพียงใด สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ คฝ. ให้ตระหนักถึงหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันดับแรก รวมถึงต้องอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บทุกกรณีด้วย
นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำการสอบสวนกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ คฝ. รายใดทำการแจ้งหรือประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้เข้ามารักษาพยาบาลนายมานะ หงษ์ทอง ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสในพื้นที่การชุมนุมอย่างทันท่วงที โดยหากพบข้อเท็จจริงจากการสอบสวนว่ามีการเพิกเฉยละเลยเกิดขึ้น ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าวตามสัดส่วนของหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องสั่งการไปยังสถานีตำรวจนครบาลดินแดงให้เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนคดีของนายมานะ หงษ์ทอง และนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการคลี่คลายข้อสงสัย และประกันความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน
2. กสม. ประสานการคุ้มครองกรณีเยาวชนหญิงถูกบิดามารดาทำร้ายร่างกาย แนะชุมชน-สังคม ปรับทัศนคติยื่นมือช่วยเหลือเมื่อพบเห็นการกระทำรุนแรงในครอบครัว
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่า ผู้ร้องเป็นลูกพี่ลูกน้องกับผู้เสียหาย ทราบว่า ผู้เสียหายซึ่งอาศัยอยู่กับบิดามารดาในพื้นที่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกบิดามารดาทำร้ายร่างกายด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเกิดรอยฟกช้ำและบาดแผลตามร่างกาย รวมทั้งถูกบังคับให้กู้ยืมเงินผู้อื่นมาใช้จ่ายในครอบครัว ผู้ร้องมีความกังวลว่าผู้เสียหายจะไม่ได้รับความปลอดภัย จึงขอความช่วยเหลือ
กสม. พิจารณาเห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 แต่เนื่องจากการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วด้วยวิธีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงรับไว้เป็นคำร้องและประสานเรื่องไปยังกรมกิจการเด็กและเยาวชน สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ และมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ
ต่อมา เมื่อเดือนมีนาคม 2565 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า ได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงรายและเครือข่ายชุมชน ประกอบด้วย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนันตำบล ฝ่ายรักษาความสงบในหมู่บ้าน ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านบิดามารดาของผู้เสียหายที่จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านยายของผู้เสียหายที่จังหวัดเชียงราย โดยได้ทราบข้อเท็จจริงว่า บิดาและมารดาของผู้เสียหายประกอบอาชีพขับรถรับจ้างและค้าขาย มีบุตรร่วมกัน 3 คน ผู้เสียหายเป็นบุตรสาวคนโต อายุ 15 ปี ทางครอบครัวมีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและหนี้สินนอกระบบที่ค้างชำระจำนวนมาก จากการเจรจา บิดามารดาได้ตกลงให้ผู้เสียหายอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของยายและให้คำมั่นว่าจะเลิกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้เสียหาย ทั้งนี้ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงรายได้มีมติให้ผู้นำชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมเฝ้าระวังเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากได้รับแจ้งว่าบิดามารดามารับผู้เสียหายไปดูแล ให้ตาและยายสามารถแจ้งไปยังผู้นำชุมชนเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน รวมทั้งจะประสานขอรับการช่วยเหลือจากเงินกองทุนคุ้มครองเด็กจังหวัดเชียงรายเพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อไป
ล่าสุด จากการติดตามของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. เมื่อเดือนพฤษภาคมและสิงหาคม 2565 ได้ความว่า ปัจจุบันผู้เสียหายยังคงอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของยาย ซึ่งบิดาเคยติดต่อยายของผู้เสียหายเพื่อขอรับผู้เสียหายไปอุปการะเลี้ยงดูอีกครั้ง แต่ยายของผู้เสียหายไม่ให้ความยินยอม ปัจจุบันจึงไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับผู้เสียหายแล้ว ดังนั้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 จึงมีมติเห็นชอบผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนดังกล่าว และมอบหมายเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ให้คำแนะนำแก่ผู้ร้องว่าหากเกิดเหตุการณ์ตามคำร้องเรียนอีก ผู้ร้องสามารถขอความช่วยเหลือจากสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและการบังคับคดีประจำจังหวัดของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
“กรณีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในอีกหลายกรณีที่เด็กถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว กรณีนี้ยังดีที่ญาติไม่เพิกเฉยและร้องเรียนมายัง กสม. กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม
ยังมีเด็กและผู้หญิงจำนวนมากที่ถูกกระทำความรุนแรงในที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยเพื่อนบ้าน ญาติ ชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไม่สนใจหรือเพิกเฉยเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวภายในครอบครัว
ของผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติกันและหันมายื่นมือให้ความช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรง
ทั้งนี้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 มาตรา 5 ที่กำหนดให้ผู้พบเห็นหรือทราบการกระทำความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย” นางสาวสุภัทรา กล่าว
นางสาวสุภัทรา กล่าวด้วยว่า กสม. อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนอีกหลายกรณีที่เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยในเบื้องต้น กสม. มีความเห็นว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวควรดำเนินการในเชิงระบบด้วยการเชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นและชุมชน โดยอาจให้ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงหรือประสานกับกลไกอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว อสม. คณะกรรมการระดับชุมชน เพื่อให้เหยื่อได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote
ข่าวที่เกี่ยวข้อง