คอลัมนิสต์

ไฟแล้งลาม จับตา KNUแนวรบตะวันตกไม่เปลี่ยน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตา "มหาอำนาจ" แทรกแซงศึกในเมียนมา โฟกัสกะเหรี่ยง "เคเอ็นยู" ย้อนยุคสงครามตัวแทน คอลัมน์... ท่องยุทธภพ โดย... ขุนน้ำหมึก


++
วันที่ 8 มี.ค.2564 พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พร้อมคณะลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยทหารในพื้นที่ตามปกติ แต่การข่าวในเชิงลึกระบุว่า ผบ.ทบ.มาติดตามการเตรียมสถานที่รองรับผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง...  สู้เผด็จการทหารกะเหรี่ยงเคเอ็นยูปกป้องประชาชน

ไฟแล้งลาม จับตา KNUแนวรบตะวันตกไม่เปลี่ยน

72 ปี แห่งการต่อสู้เพื่อเอกราชของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง


    

ก่อนหน้าที่ ผบ.ทบ.จะเดินทางมาถึงแม่สอด เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้เตรียมการจัดพื้นที่เพื่อรองรับผู้อพยพหนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา คาดว่าจะมีจำนวนมาก เบื้องต้นมีการเตรียมพื้นที่ 4 อำเภอ 7 สถานที่เพื่อรองรับ ซึ่งเกือบทุกแห่งเคยรองรับผู้อพยพมาแล้ว 
    

เหตุที่ไทยต้องเตรียมการเรื่องดังกล่าวข้างต้น เพราะสถานการณ์ประชาชนเมียนมาลุกฮือขึ้นมาประท้วงต่อต้านสภาบริหารภาครัฐ (SAC) หรือรัฐบาลทหาร นับวันจะเกิดความรุนแรงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 60 คน บาดเจ็บนับพัน และถูกจับกุมมากมาย
    

เฉพาะพื้นที่ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก คือ รัฐกะเหรี่ยง ที่มีเขตอิทธิพลกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง 4 กลุ่มใหญ่ รวมถึงมีชาวกะเหรี่ยงออกมาชุมนุมประท้วงการทำรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาอย่างต่อเนื่อง 
    

ไฟแล้งลาม จับตา KNUแนวรบตะวันตกไม่เปลี่ยน

ทหารกะเหรี่ยง กองพลน้อยที่ 4 นำหน้าขบวนมวลชน

 

ขณะที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ทั้ง 7 กองพลน้อย ต่างเคลื่อนกำลังออกมาคุ้มครองการชุมนุมของชาวกะเหรี่ยงโดยเปิดเผย
    

น่าจะเป็นกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์แรกและกลุ่มเดียวในเมียนมา ที่ประกาศตัวยืนอยู่ตรงข้ามกับกองทัพเมียนมาแบบไม่มีกั๊ก 


++
ขายฝันสหพันธรัฐ
++
หลังกองทัพเมียนมา ยึดอำนาจรัฐบาลอองซาน ซูจี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) 15 คน ได้จัดตั้งคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw : CRPH) 
    

คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) เสมือนเป็นการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ของประชาชนเมียนมา ผ่านการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 8 พ.ย.2564 
    

ต่อมา คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ได้แต่งตั้ง ดร.ซา ซ่า เป็นตัวแทนในคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ ทำหน้าที่แสวงหาความร่วมมือจากองค์กรการเมืองในประเทศและต่างประเทศ

 

ไฟแล้งลาม จับตา KNUแนวรบตะวันตกไม่เปลี่ยน

ทหารกะเหรี่ยง กองพลน้อยที่ 7 อารักขาขบวนมวลชน


    

เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2564 คณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) แถลงจุดประสงค์ทางการเมือง 4 ข้อคือ 
1.ยุติเผด็จการทหาร โดยการนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ประธานสภาบริหารภาครัฐ (SAC) 
2.ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไข รวมทั้ง อู วินมินท์ อดีตประธานาธิบดีเมียนมา และออง ซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ
3.นำพาเมียนมาเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์
4.ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2551 และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามระบบสหพันธรัฐ
    

ที่น่าสนใจ พรรคเอ็นแอลดีของอองซานซูจี จุดพลุเรื่อง “รัฐธรรมนูญใหม่ ตามระบบสหพันธรัฐ” เพราะรู้ว่า นี่คือสิ่งที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต้องการ
    

เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ต้องการสร้าง “รัฐเอกราช” แต่ก็ไม่ง่าย จึงต้องรบรากันยืดเยื้อมากว่า 20-30 ปี ซึ่งระยะหลังๆ กลุ่มชาติพันธุ์เริ่มพูดถึง “สหพันธรัฐประชาธิปไตย” มากขึ้น
    

พูดง่ายๆ ทหารเมียนมาอยากได้รัฐเดี่ยวรวมศูนย์ หรือเป็นสหพันธรัฐที่ไม่ได้กระจายอำนาจมาก แต่กลุ่มชาติพันธุ์คิดถึงการแยกตัวออกจากการตั้งรัฐเอกราช หรือเป็นสหพันธรัฐที่ต้องกระจายอำนาจ
 

ไฟแล้งลาม จับตา KNUแนวรบตะวันตกไม่เปลี่ยน

ทหารกะเหรี่ยง กองพลน้อยที่ 5 มีฐานตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน

 

++
จับมือเคเอ็นยู
++
ดังที่ทราบกัน วันที่ 22 ก.พ.2564 เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เมื่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ (KNU) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA ) จัดกำลังคุ้มครองชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นคน ที่เคลื่อนพลทางรถยนต์ เพื่อมาชุมนุมต้านเผด็จการทหารในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
    

นับจากนั้นมา ภาพการชุมนุมทางการเมืองของชาวกะเหรี่ยง ก็จะมีทหารกะเหรี่ยง (KNLA) จากกองพลน้อยที่ 1 ,กองพลน้อยที่ 4, กองพลน้อยที่ 5 และกองพลน้อยที่ 7 เป็นกองกำลังคุ้มครองความปลอดภัย โดยทหารเหล่านั้นติดอาวุธพร้อมสู้รบ 
    

ก่อนหน้ากองทัพเมียนก่อรัฐประหารเพียง 2 วัน ที่ชายแดนไทย-เมียนมา ฐานปฎิบัติการ บ้านเดปุนุ เมืองมือตรอ รัฐกระเหรี่ยง ตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอิสระ (Karen National Union-KNU) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกระเหรี่ยง (Karen National Liberation Army-KNLA) 
    

ปัจจุบัน โครงสร้างของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ประกอบ พล.อ.มูตู เซ พอ ประธาน KNU และซิปโปร่า เส่ง รองประธาน KNU โดยฝ่ายกองกำลัง ก็มี พล.อ.ซอ จอห์นนี่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (KNLA) และ พล.อ.บอจ่อ แฮ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
    

เมื่อเกิดการยึดอำนาจในเมียนมา พล.อ.มูตู เซพอ แห่งสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้ร่วมประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ในนาม “กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ” (NCA) ได้มีมติร่วมกันคือ สนับสนุนความเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ได้ออกมาประท้วงอย่างสันติในการต่อต้านระบอบเผด็จการ และขอยุติการเจรจาทางการเมืองกับตัวแทนกองทัพเมียนมาไปก่อน
    

ถัดมา ดร.ซาซ่า ตัวแทนคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ได้เจรจาทางออนไลน์กับตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ถึงความเป็นไปได้ในการเป็นพันธมิตรต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โดย ดร.ซาซ่า ขายฝันเรื่อง “สหพันธรัฐประชาธิปไตย” ในการพูดคุยกับตัวแทน KNU
    

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ ไม่ได้มีเพียงกลุ่ม KNU เท่านั้น หากแต่ยังมีกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA), สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC) และองค์การปกป้องกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNDO) โดยสามกลุ่มหลังนี้ ยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อการขายฝันสหพันธรัฐของพรรคเอ็นแอลดี
    

ย้อนไปในยุคสงครามเย็น มหาอำนาจตะวันตกได้เข้ามาช่วยเหลือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ยุคนายพลโบเมียะ แต่ภายหลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู มีปัญหาขัดแย้งภายในแยกเป็นกะเหรี่ยงคริสต์ และกะเหรี่ยงพุทธ ฐานที่มั่นใหญ่มาเนอปลอว์ จึงถูกทหารเมียนมาตีแตก
    

ในอนาคต หากมหาอำนาจฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามาอุ้มกะเหรี่ยงเคเอ็นยูรบทหารเมียนมาอีกครั้ง ผลพวงแห่งสงครามชายแดน ไทยเราก็แบกรับผู้อพยพไปเต็มๆ
    

จับตาสถานการณ์กะเหรี่ยงเคเอ็นยู แนวรบด้านตะวันตกอาจจะกลับสู่ยุคสงครามเย็นอีกครั้ง 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ