คอลัมนิสต์

เมื่อครู-รร. ฝากนักเรียนเอาไว้ที่บ้าน เงินอุดหนุนอยู่ที่ใคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อครู-รร. ฝากนักเรียนเอาไว้ที่บ้าน เงินอุดหนุนอยู่ที่ใคร....โดย ชัยวัฒน์ ปานนิล

หลังกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ และ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศมติป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดพื้นที่เสี่ยงบางส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นเวลา 14 วัน (18-31 มี.ค. 2563) 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ศธ.ชูธงเรียนออนไลน์ฟรีที่บ้าน ฝ่าวิกฤติ COVID-19

จากนั้นก็ได้มีการเลื่อนระยะเวลาการปิดภาคเรียนออกไป โดยกำหนดให้มีการเปิดเรียนของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทำให้นักเรียนต้องอยู่กับบ้านเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือน แต่หากสถานการณ์ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัย ก็อาจจะจัดให้มีการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์หรือการจัดการเรียนการสอนทางไกลให้กับนักเรียนที่บ้าน

คำถามมีอยู่ว่า“เมื่อโรงเรียนและครูต้องฝากนักเรียนไว้ที่บ้านกับผู้ปกครอง รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องให้การสนับสนุนอย่างไร”

ก่อนอื่นเรามาศึกษารายละเอียดงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้กับโรงเรียน ต่อนักเรียน 1 คน ในแต่ละปีการศึกษา รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเงินอุดหนุนจำนวน 5 รายการ ดังนี้

1.ค่าจัดการเรียนการสอน

2.ค่าหนังสือเรียน

3.ค่าอุปกรณ์การเรียน

4.ค่าเครื่องแบบนักเรียน

5.ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

งบประมาณที่ได้รับมีจำนวนที่แตกต่างกันไปตามลำดับชั้นที่ทำการเรียนการสอน และยังมีงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรผ่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)อีก 2 รายการ ได้แก่ งบประมาณอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม)

โดยเฉพาะอาหารเสริม (นม) ได้มีการจัดซื้อและแจกจ่ายให้กับนักเรียนเพื่อดื่มที่บ้าน ถึงแค่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 (เนื่องจากเป็นการแจกก่อนมีการระบาดของเชื้อโควิด-19) ทำให้ในระยะเวลาหลังจากการเลื่อนกำหนดการเปิดภาคเรียนนักเรียนไม่ได้รับอาหารเสริม (นม) แต่งบประมาณได้รับการจัดสรรไปแล้ว

ย้อนกลับมาที่การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลให้กับนักเรียนในระบบ ขอยกตัวอย่างในระดับประถมศึกษา เนื่องจากเป็นนักเรียนส่วนมากในระบบ ในระดับประถมศึกษารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ ค่าการจัดการเรียนการสอน ให้กับนักเรียนต่อหัวต่อคนใน 1 ปีการศึกษา (ปีการศึกษา 2563) จำนวน 1,900 บาท ให้กับสถานศึกษาของนักเรียน

โดย ค่าจัดการเรียนการสอน หมายถึง เงินงบประมาณงบเงินอุดหนุน ประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ เงินอุดหนุนรายหัว ปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ค่าอาหารนักเรียนประจำพักนอน การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและสถานประกอบการโดยมีเกณฑ์และแนวทางการดำเนินการ 

ทั้งนี้ไม่รวมรายการ ค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในกรณีที่นักเรียนต้องมาเรียนที่โรงเรียน มีข้อมูลเปรียบในกรณีเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครอบครัวและสถานประกอบการ รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 7,362 บาท ต่อคนต่อปี สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา

ในเมื่อรัฐบาล ให้การสนับสนุน ในส่วนของ การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครอบครัวและสถานประกอบการ รวมทั้งสิทธิทางภาษีต่างๆ ที่ผู้ปกครองจะได้รับเมื่อจัดการศึกษาด้วยตนเอง

วันนี้มาถึงสถานการณ์ที่โรงเรียนและครู ต้องฝากนักเรียนไว้ที่บ้านกับผู้ปกครอง เราควรพิจารณาในส่วนของรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ปกครอง เมื่อนักเรียนต้องอยู่กับบ้าน รัฐควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือกับผู้ปกครอง ที่ต้องสนับสนุนการเรียนการสอนในสภาวะการระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน

ในเมื่อกระบวนการไม่เหมือนเดิม การจัดสรรงบประมาณก็ไม่ควรเหมือนเดิม สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การดำรงชีวิตที่มีความยุ่งยาก รายได้ที่หายไป ภาระที่เพิ่มขึ้นมา รัฐควรตระหนักในการให้การสนับสนุน มากกว่าการผลักภาระที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่าย ของผู้ปกครองที่รับฝากนักเรียนไว้ที่บ้าน หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะรับไว้พิจารณา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ