คอลัมนิสต์

เจาะลึก "5 เชื้อไวรัสดัง" แผลงฤทธิ์ได้นานกี่วัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย..ทีมรายงานพิเศษ คมชัดลึก

 

 

                            หลังทีมนักวิจัยวิเคราะห์ว่า “ไวรัสตระกูลโคโรน่า” อาจอยู่บนพื้นผิวนานสุดเกือบ 9 วัน หมายความว่า ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ “โควิด-19” หากติดมือหรือกระเด็นออกมาจากผู้ป่วยที่ไอหรือจาม ก็อาจไปติดหรือตกหล่นบนพื้นผิวทั้งลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ จานชาม ช้อน แก้ว พื้น อุปกรณ์ต่างๆ ได้นานกว่าอาทิตย์ โดยไม่ตายและแพร่เชื้อต่อไปเรื่อยๆ ...ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วไวรัสยอดนิยมตัวอื่นที่มักทำให้คนเจ็บป่วยนั้นอยู่ได้นานแค่ไหน? 

อ่านข่าว-7สิ่งที่เจ้าวายร้าย "โควิด-19"กลัว!!

 

 

                            วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลธนาคารของจีนสั่งให้ธนาคารทั่วประเทศจัดการ “ฆ่าเชื้อในธนบัตร” หรือเงินที่ประชาชนนำมาจับจ่ายใช้สอยให้หมด และต้องเก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 7 วันเพื่อให้แห้งและปราศจากเชื้อโรคจริง ถือเป็นหนึ่งในมาตรการของรัฐบาลจีนที่ใช้ควบคุมไม่ให้ไวรัสร้ายสายพันธุ์ใหม่ระบาดไปมากกว่านี้

 

                            ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของทีมนักวิจัยชาวเยอรมัน นำโดย “ศ.ดร.Günter Kampf” ที่เอาตัวอย่าง “เชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา” โดยเฉพาะ “ไวรัสซาร์ส” (SARS-Cov) โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ระบาดปี 2002 และ “ไวรัสเมอร์ส” (MERS- Cov) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางที่ระบาดปี 2012 มาศึกษาจำนวน 22 ครั้ง จนพบว่าไวรัสตระกูลนี้สามารถมีชีวิตต่อเนื้องบนพื้นผิวทั่วไปนานถึงตั้งแต่ 48 ชั่วโมงจนถึง 9 วัน โดยเฉพาะ “ไวรัสซาร์ส” สามารถทนอยู่บนวัสดุโลหะกับแก้วอยู่ได้ถึง 5 วัน หากเป็นวัสดุพลาสติกมีชีวิตต่อเนื่องได้นานสุดถึง 219 ชั่วโมงหรือ 9 วัน

 

 

 

                            ทำให้ประเมินเบื้องต้นได้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “SARS-CoV-2” เนื่องจากรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับ “ไวรัสซาร์ส” (SARS-Cov) ตัวเดิมนั้นก็อาจอยู่ได้ประมาณ 24-219 ชั่วโมง หรือ 1-9 วันด้วยเช่นกัน

 

                            หลายคนกำลังสงสัยว่า “ไวรัส” ร้ายตัวอื่นๆ ที่ทำให้มนุษย์ป่วยบ่อยนั้นอยู่ได้นานกี่วัน?

 

                            “คมชัดลึก” นำข้อมูลจาก “NHS” (National Health Service) เครือข่ายด้านสุขภาพของประเทศอังกฤษ (www.nhs.uk) และข้อมูลจากเว็บไซต์วิชาการแพทย์อื่นๆ มาเปรียบเพื่อให้เห็นว่าเชื้อไวรัสชื่อดังสายพันธุ์ต่างๆ ที่มักเป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยนั้น พวกมันสามารถอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือ “มีชีวิตอยู่นอกร่างกายมนุษย์” ได้ยาวนานแตกต่างกันกี่วัน?

 

 

 

                            เริ่มจาก “1.ไวรัสไข้หวัดธรรมดา” ฝรั่งเรียกกันว่า “Cold viruses” หรือ Common Cold เป็นเชื้อโรคพบได้บ่อยสุดทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยไวรัสตระกูลไข้หวัดนั้นมีอยู่ประมาณ 200 ชนิดด้วยกัน ทำให้หลายคนติดไวรัสตัวนี้จนป่วยปีละหลายครั้ง มีงานวิจัยศึกษาว่าเด็กเล็กช่วงที่เริ่มไปโรงเรียนในปีแรกนั้น มักติดไวรัสตัวนี้เฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง ขณะที่ “NHS” ระบุว่าไวรัสหวัดหลากหลายชนิดนี้สามารถอยู่รอดได้บนพื้นผิวในอาคาร นานกว่า 7 วัน โดยเฉพาะในพื้นผิวที่ “กันน้ำ” เช่น โลหะ พลาสติก ฯลฯ อยู่ได้นานกว่าพื้นผิวประเภทผ้าหรือเนื้อเยื่อต่างๆ แต่โชคดีที่ไวรัสหวัดนี้อยู่ได้นานหลายวันก็จริง แต่จะแข็งแรงพอที่จะทำให้คนติดหวัดได้นั้นมักจะไม่เกิน 24 ชั่วโมง

 

                             2.ไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายไข้หวัดแต่อาจอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้ โดยเฉพาะในทารกหรือเด็กเล็ก เพราะทำให้มีเสมหะออกมามาก รวมถึงทำให้เยื่อบุหลอดลมบวมส่งผลต่อระบบหายใจ ผู้ป่วยเด็กมีอาการหอบและหายใจลำบาก “NHS” ระบุว่าไวรัสนี้หากไปติดอยู่ตามลูกบิดประตูมีชีวิตนานถึง 6 ชั่วโมงแต่หากเป็นบนเสื้อผ้าหรือเนื้อเยื่อจะอยู่ได้ไม่เกิน 45 นาที และติดบนผิวหนังคนได้ประมาณ 20 นาที

 

 

 

เจาะลึก \"5 เชื้อไวรัสดัง\" แผลงฤทธิ์ได้นานกี่วัน

 

 

 

                              3.ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) บางครั้งเรียกย่อว่า “ฟลูไวรัส” (Flu viruses) พบบ่อย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ “เอ บี และซี” อาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดแต่รุนแรงกว่า ทำให้เกิดปอดอักเสบและเสียชีวิตได้ มักแพร่ผ่านทางเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย เมื่อกระเด็นออกจากร่างกายคนสามารถอยู่รอดบนพื้นผิวแข็งได้ 1 วัน แต่ว่าความแข็งแรงและประสิทธิภาพในการทำให้เกิดโรคมีไม่เกิน 5 นาที หากเป็นอาศัยอยู่ในหยดละอองฝอยอาจมีประสิทธิภาพนานหลายชั่วโมง โดยเฉพาะบนโทรศัพท์มือถือมีการวิจัยว่าอาจอยู่ได้นานถึง 2–8 ชั่วโมง

 

                              4.ไวรัสโนโร (Norovirus) ทำให้เกิดโรคในส่วนของกระเพาะอาหาร (Stomach bugs) เวลาคนมีอาการ “ท้องเสีย” อาจเกิดได้จากเชื้อโรคหลายตัว ทั้งแบคทีเรียและไวรัสชนิดต่างๆ เช่น แบคทีเรียอีโคไล (E. coli) ซาลโมเนลล่า (Salmonella) แต่ถ้าสาเหตุเกิดจากไวรัสมักจะเป็น “โนโรไวรัส” ที่ปนเปื้อนในน้ำดื่ม อาหาร จาน ชาม ช้อน ทำให้อาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย ภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังรับเชื้อตัวนี้เข้าไป “NHS” ระบุว่า โนโรไวรัสสามารถอยู่รอด ได้หลายวันหรือแม้กระทั่งหลายสัปดาห์บนพื้นผิวแข็ง โดยเฉพาะที่ติดมากับละอองฝอยหรืออาเจียนของผู้ป่วย จึงแนะนำให้ล้างมือและห้องน้ำที่ผู้ป่วยเข้าไปทุกครั้ง

 

 

 

                             5.ไวรัสเริม (Herpes) หรือชื่อเต็มว่าไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ทำให้เกิดอาการแผลที่ปากและอวัยวะเพศ ปกติจะแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนผ่านการสัมผัสแบบใกล้ชิด เช่น น้ำลาย น้ำเหลือง หรือทางเพศสัมพันธ์นักวิจัยมหาวิทยาลัยลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ชี้ว่าไวรัสเริมเป็นหนึ่งในสาเหตุของการแพร่ระบาด “กามโรค” จากการทดลองพบว่าพวกมันสามารถมีชีวิตรอดได้ในห้องน้ำ 2–4 ชั่วโมง ในอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ตรวจ 18 ชั่วโมง ในผ้าฝ้าย และยิ่งเป็นเนื้อเยื่อของผ้าชนิดต่าง ๆ เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ผ้าพันแผล ฯลฯ อยู่ได้นานถึง 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน

 

                             เมื่อเหล่าไวรัสร้ายสามารถมีชีวิตแผลงฤทธิ์ได้หลายวัน วิธีป้องกันดีที่สุดคือท่องจำไว้ว่า “ล้างมือให้สะอาด” ก่อนสัมผัสใบหน้า และก่อนหยิบจับอาหารเข้าปาก!

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ