คอลัมนิสต์

ใครบ้างที่ไม่เอาทั้งวิ่งไล่ลุงและวิ่ง/เดินเชียร์ลุง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ใครบ้างที่ไม่เอาทั้งวิ่งไล่ลุงและวิ่ง/เดินเชียร์ลุง โดย... ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์

 

 


          เราจะวิ่งไล่ลุงหรือวิ่ง/เดินเชียร์ลุง หรือเราจะไม่เอาเลยทั้งสองกิจกรรมทางการเมือง (แม้จะมีบางคนบอกว่าแค่วิ่งออกกำลังกาย ไม่มีพรรคการเมืองไหนหนุนหลัง...ฮา ฮา ฮา คงไม่มี...ที่ไหนเชื่อครับ)

 

 

 

          โพลล์ต้นปีใหม่ 2563 ของนิด้าโพลในหัวข้อ “วิ่งไล่ลุง-วิ่ง/เดินเชียร์ลุง 2563” มีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง


          เราเริ่มด้วยการทบทวนว่าผลโพลล์เป็นอย่างไรก่อนครับ


          ในข้อแรกถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 40.86 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 12.24 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 12.00 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 31.32 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 3.58 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

 

 

ใครบ้างที่ไม่เอาทั้งวิ่งไล่ลุงและวิ่ง/เดินเชียร์ลุง

 


          ในข้อนี้คนเห็นด้วยมีมากกว่าคนไม่เห็นด้วยเพราะการปั่นกระแสข้ามปีของกลุ่มต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำอย่างเป็นระบบ อาศัยการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเน้นการดึงคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลาง ที่วันๆ อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ให้เข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมการวิ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่จึงมีการส่งข้อความชวนกันไปวิ่ง โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าการวิ่งครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายและแตกแยกทางการเมืองในอนาคต นอกจากนั้นแล้วทุกวันนี้สื่อกระแสหลักก็มักจะไปนำข่าวจากในโซเชียลมีเดียมานำเสนอ ทำให้กระแสโหมแรงขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลานัดแถลงข่าวแบบงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐ เมื่อกระแสแรงก็จะมีคนเกาะกระแส ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ก็พาเหรดกันเข้าร่วมกิจกรรมโดยบอกว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน พรรคไม่เกี่ยวข้อง (ใครเชื่อบ้าง...ระวังออก...เป็น...)

 

 

 

ใครบ้างที่ไม่เอาทั้งวิ่งไล่ลุงและวิ่ง/เดินเชียร์ลุง

 


          ในข้อสองด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดกิจกรรม “วิ่ง/เดินเชียร์ลุง” ในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ พบว่า ร้อยละ 18.92 ระบุว่า เห็นด้วยมาก ร้อยละ 9.30 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 17.65 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 49.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 4.37 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


          ในข้อนี้คนไม่เห็นด้วยมีอัตราส่วนสูง (คิดว่าส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มที่ไม่สนับสนุนฝ่ายใด) เพราะคนจำนวนมากเริ่มกังวลว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ทางการเมืองเป็นแบบนี้ต่อไปภาพเก่าของความแตกแยก การประท้วง ปิดถนน ความรุนแรง และจบลงด้วยการทำรัฐประหารจะกลับมา


          อย่างไรก็ตามเมื่อมีการแตกรายละเอียดทั้งสองข้อนี้ออกมาเพื่อพิจารณาว่ากลุ่มไหนบ้างที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลยกับทั้งสองกิจกรรม พบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้ ประเด็นแรก คนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยกับการวิ่งทางการเมืองทั้งสองกลุ่ม โดยในข้อแรกคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ประมาณ 40% ไม่เห็นด้วยเลยกับการวิ่งไล่ลุง ในขณะที่ในข้อสองมีคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ถึง 56% บอกว่าจะไม่วิ่ง/เดินเชียร์ลุง ในประเด็นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าคนกรุงเทพฯ เขาเบื่อการชุมนุมทางการเมืองแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ รวมถึงเขาอาจจะกังวลว่าหากทั้งสองกลุ่มจัดกิจกรรมแสดงพลังต่อกันอย่างนี้อาจจะทำให้ฝันร้ายเดิมๆ กลับมา


          ประเด็นที่สองคือ กลุ่มคนมีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลยกับทั้งสองกิจกรรม โดยผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีไม่เห็นด้วยเลยในการวิ่งไล่ลุง และไม่เห็นด้วยในการวิ่ง/เดินเชียร์ลุง อยู่ที่ 48% และ 53% ตามลำดับ

 

 

ใครบ้างที่ไม่เอาทั้งวิ่งไล่ลุงและวิ่ง/เดินเชียร์ลุง

 


          ประเด็นที่สาม ผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเลยกับทั้งสองกิจกรรม โดยในข้อแรกประมาณ 42% ของผู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,001–40,000 บาท และประมาณ 39% ของผู้มีรายได้ตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป และในข้อสองประมาณ 49% ของผู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,001–40000 บาท และ ประมาณ 59% ของผู้มีรายได้ตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป


          ในประเด็นที่สองและสามน่าจะเกิดจากความกังวลใจว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพราะคนในกลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีและมีรายได้สูงน่าจะเป็นกลุ่มคนที่มีหลักฐานมั่นคงในหน้าที่การงานในองค์กรและส่วนหนึ่งกำลังก้าวหน้าไปสู่อนาคตที่สดใส จึงไม่อยากให้สถานการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายมาขวางการเติบโตก้าวหน้า


          ประเด็นที่สี่ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐไม่เอาด้วยกับทั้งสองกิจกรรม โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยเลยในการวิ่งไล่ลุง และไม่เห็นด้วยในการวิ่ง/เดินเชียร์ลุง อยู่ที่ 44% และ 57% ตามลำดับ ในประเด็นนี้ตอบได้ไม่ยากว่าเพราะอะไร แน่นอนเวลามีการชุมนุม กลุ่มที่ลำบากที่สุดคือข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมาดูแลความสงบ เจ้าหน้าที่ กทม. ต้องอำนวยความสะดวกและทำความสะอาด กระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมรถพยาบาลและโรงพยาบาลให้พร้อมหากเกิดเหตุ โรงเรียนบางแห่งอาจต้องปิดเพราะอยู่ในเขตพื้นที่ชุมนุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มหาดไทยต้องวิ่งหาข่าวป้อนรัฐบาลรวมถึงพยายามสกัดกั้นมือที่สามที่จะก่อเหตุ เป็นต้น แค่งานบริการประชาชนแบบวันต่อวันก็จะทำไม่ทันอยู่แล้ว หากยังต้องมารับมือการชุมนุมด้วยคงไม่ไหว


          ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อประเทศไทยในปี 2563 จะเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองแบบเดียวกับในอดีตพบว่า ร้อยละ 21.62 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงมากกว่าในอดีต ร้อยละ 21.86 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองพอๆ กับในอดีต ร้อยละ 22.81 ระบุว่า กังวลว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองแต่คงไม่เท่าในอดีต ร้อยละ 13.04 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล ร้อยละ 19.00 ระบุว่า ไม่กังวลเลย และร้อยละ 1.67 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


          ในข้อนี้พบว่าคนไทยประมาณ 66% กังวลว่าจะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงในปี 2563 ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงเท่าเดิม น้อยกว่าเดิม หรือมากกว่าเดิม แน่นอนสถานการณ์การปลุกเร้าทางการเมืองแบบนี้ใครๆ ก็กังวล แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ อายุของผู้ตอบในช่วง 45–60 ปี กับกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีความแตกต่างกันมาก โดยผู้ที่มีอายุ 45–60 ปี ซึ่งส่วนใหญ่คือคนที่ผ่านยุคพฤษภาทมิฬ 2535 (หรืออาจเคยมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย) ส่วนใหญ่มีความกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองมากกว่าในอดีต ในขณะที่คนที่อายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยุคตุลาคม 2514 และ 2516 ส่วนใหญ่กลับไม่กังวลเลยว่าจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง หากอธิบายแบบกว้างๆ คือกลุ่มคนที่อายุ 45–60 ปี ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงานและอาจมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่มั่นคงแล้ว มีลูกน้องที่เป็นคนรุ่นใหม่มากมาย คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นคนที่สนใจทางการเมืองสูงแบบใช้เหตุและผลในการวิเคราะห์สถานการณ์ ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นจากคนรุ่นใหม่อาจจะทำให้รู้สึกกังวลว่ากระแสแบ่งฝ่ายทางการเมืองในปัจจุบันอาจรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมาเพราะการปั่นกระแสจากโซเชียลมีเดียนั้นทั้งเร็วและแรง กระตุ้นอารมณ์และความรู้สึกได้สูงมาก ในขณะที่ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนหนึ่งก็ยังเฝ้าติดตามการเมืองอยู่ อีกส่วนหนึ่งก็อาจเข้าวัดทำสมาธิปล่อยวางทุกอย่างแล้ว คนกลุ่มนี้น่าจะมีความเชื่อในทางศาสนาสูง ว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม และท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยจะรอดปลอดภัยจากพระบารมีองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับการคุ้มครองจากองค์พระสยามเทวาธิราช (สาธุ...)

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ