คอลัมนิสต์

ทางออกแบน-ไม่แบน 3 สาร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันอังคารที่ 15 ตุลาคม 2562

 

 

 

          ตามโครงสร้างของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งจัดตั้งตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 คณะกรรมการจะมาจาก 29 หน่วยงาน ซึ่งตามกฎหมายฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 27 ตุลาคมนี้ กรรมการลดเหลือ 27 คน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจะทำหน้าที่ประธานโดยตำแหน่ง  แต่ถ้าหากคณะกรรมการจะประชุมกันวันที่ 22 ตุลาคม ประธานโดยตำแหน่งคือปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการประกอบด้วย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  ปลัดกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ปลัดกระทรวงพลังงาน อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมเจ้าท่า ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ อธิบดีกรมศุลกากร และผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน

 

 

          จนถึงขณะนี้ มาตรการแบน 3 สารเคมีเกษตรคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ตามแนวทางของฝ่ายการเมืองที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกระแสเรียกร้องของประชาคมต่อต้านสารพิษทางการเกษตร คือ ยกเลิกการใช้โดยเด็ดขาดในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ก็ยังถือว่าเป็นวิวาทะ เพราะยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ชัดเจนว่า ผลจะออกมาอย่างไร เพราะสุดท้ายแล้ว ขึ้่นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีอำนาจชี้ขาดตามกฎหมาย โดยเฉพาะในคณะกรรมการชุดนี้ ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิถึง 8 คน ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายการเมือง จึงไม่จำเป็นต้องทำตามนโยบายแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ในส่วนของคณะกรรมการที่มาจากภาครัฐ ก็ใช่ว่า ทุกเสียงจะเดินตามการสั่งการของรัฐมนตรี ซึ่งกรณีนี้มีเดิมพันที่ว่า รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงนั้นๆ จะต้องแสดงความรับผิดชอบ หากตัวแทนของกระทรวงโหวตสวนทางกับนโยบาย

 


          ที่ผ่านมานั้น ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้สารเคมีเกษตร นอกจากจะให้เหตุผลเรื่องความปลอดภัยที่เพียงพอหากใช้ถูกวิธีและความจำเป็นของภาคเกษตรกรรมแล้ว พวกเขายังอ้างว่า หากแบนสารเคมีเกษตรแล้ว อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ในกรณีนี้เช่น หากมองในแง่ของผู้บริโภค รวมทั้งผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ก็มีสิทธิที่จะดำเนินการทางกฎหมายด้วยเช่นกัน ในแง่นี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็น่าจะอยู่ในเป้าหมายของการฟ้องร้องด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะลงมติลับหรือเปิดเผย หากผู้เสียหายสามารถแสดงหลักฐานและเหตุผลแน่นหนาเพียงพอ โดยการแสวงหาข้อเท็จจริงในชั้นศาล ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีข้อมูลทางวิชาการและเสียงทักท้วงจากภาคประชาชน โดยเฉพาะในแวดวงการแพทย์และสาธารณสุขถึงอันตรายของสารเคมีเกษตร ซึ่งก็น่าจะเป็นข้อบ่งชี้ในการฟ้องร้องได้ด้วยเช่นกัน 




          นอกจากนี้ ในเรื่องของคุณภาพสิ่งแวดล้อม รัฐธรรมนูญทุกฉบับนับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ก็บัญญัติคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสมฯลฯ ทั้งยังให้สิทธิชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลอีกด้วย นอกจากความรับผิดชอบทางกฎหมายที่บังคับใช้กับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ในส่วนของฝ่ายนโยบาย ก็ควรเร่งจัดทำรายละเอียดแผนงานสนับสนุนการใช้สารทดแทน หรือจักรกลเกษตร รวมทั้งมาตรการอื่น เช่น เงินอุดหนุน ซึ่งต้องรวดเร็วฉับไว ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า นโยบายประชานิยมอื่นๆ ที่ใช้เรียกคะแนนเสียงแบบปัจจุบันทันด่วน 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ผงะ สต็อก 3 สารพิษเหลือเพียบ
-แบน 3 สารพิษ จ่อยกระดับ เสี่ยหนู ยันสิ้นปีเมืองไทยเลิกใช้
-ก.เกษตร​มีมติ แบน​ 3​ สารเคมี​ 1​ ธ.ค.นี้
-อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยันไม่ต้านเลิกใช้ 3 สารเคมี

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ