คอลัมนิสต์

แลเหลียวความแรงร้อนประเทศไทย บนกระดานการเมืองยามนี้/ยามหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แลเหลียวความแรงร้อนประเทศไทยบนกระดานการเมืองยามนี้/ยามหน้า

 

 

 

          กระดานการเมืองยามนี้คล้ายว่าแรงกระเพื่อมร้อนๆ ที่ฝ่ายค้านพยายามเข็นเกมแก้รัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อหวังโละมรดก คสช. รวมทั้งพยายามดึงกระแสข่าวด้านอื่นๆ มาผนวกให้น้ำหนักการเปิดเกมรุกกับรัฐบาลเรือเหล็กลำนี้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นจากสายตาของสังคม

 

 

          ฝ่ายค้านกำลังปั่นให้ติดลมบน เพราะเกือบสามเดือนมานี้หลายกรณีที่กัปตันเรือเหล็กและคณะตอบคำถามบางข้อไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่เรือเหล็กลำนี้ลงน่านน้ำได้นั้นมาจากอานิสงส์ของกติกาหลักจากแม่น้ำห้าสายที่ คสช. วางโรดแม็พไว้เมื่อห้าปีที่แล้วหรือไม่รวมทั้งผลงานในยามนี้ที่เรือเหล็กลงน่านน้ำนั้นก็มิใช่ว่าจะมีแต้มบวกเท่าใด...


          ส่วนฝ่ายรัฐบาลนั้นใช้บางจังหวะที่ฝ่ายค้านและแนวร่วมพลาดในบางแง่มุมจัดกลับแม้จะไม่ชี้ไปตรงๆ ว่าเบื้องหลังการถ่ายทำบางประการของขั้วตรงข้ามเรือเหล็กนั้นมีเค้าโครงอย่างไร ปล่อยให้สังคมไตร่ตรองเอาเอง...


          ดังนั้นหมากกลบนกระดานการเมืองช่วงนี้ไปแยบยลยิ่งนัก หากฝ่ายใดเผยจุดอ่อนออกมารับรองเลยว่าขั้วตรงข้ามขย้ำเต็มเขี้ยวแน่นอน หากจะไล่จับจุดอ่อนและเงื่อนตายของทั้งสองขั้วการเมืองไทยยามนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะเจาะออกมาในยามนี้และยามหน้า แต่สิ่งที่น่าติดตามคือสองขั้วนี้จะกลบจุดอ่อนของตัวเองและทะลวงไปยังจุดตายขั้วตรงข้ามได้เยี่ยงใด


          เริ่มที่ “ขั้วหนุนลุงตู่” อันมีสิบกว่าพรรคมาแตะมือหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภารกิจแรกในช่วงจากนี้คือเตรียมกำลังพล ส.ส.ให้พร้อมสรรพในการลงมติวาระแรกของร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วงเงิน 3.21 ล้านล้านบาท โดยทุกฝ่ายรับรู้อยู่ทั่วไปว่าเรือเหล็กของลุงตู่นั้น ”เสียงปริ่มน้ำ” เพียงใด และมีสองทางออกหากว่าร่างกฎหมายฉบับนี้โดนคว่ำในสภาผู้แทนราษฎรคือ “ลาออกหรือยุบสภา” แม้ลุงตู่จะออกมาพูดเมื่อหลายวันก่อนว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านเดือดร้อนทั้งประเทศ....มันก็ไม่ผิดจากความจริงไปนัก แต่ควรรอดูว่าคำพูดของลุงตู่จะออกมาในมุมไหนในช่วงวันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นไป แม้กระแสงูเห่าจะบรรเทาลงในตอนนี้แต่เชื่อว่าอีกไม่กี่วันจะมีการปัดฝุ่นให้คะแนนเสียงของขั้วตรงข้ามสวิตช์มายังขั้วนี้แบบงงใจ...ว่ามันเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร?

 

 




          ส่วนการจับจังหวะขับเคลื่อนผลงานของรัฐบาลบางเรื่องได้แต้มบวก และหลายเรื่องยังไม่ไปไหน แต่เมื่อมองลึกไปยังพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลผู้แทนราษฎรบางคนในปีกพลังประชารัฐสะท้อนมาว่า “หลายโครงการรัฐบาลที่เกิดขึ้นมาไม่มีการอธิบายข้อมูลให้ ส.ส.นำไปชี้แจงกับประชาชน และหลายเรื่องที่หาเสียงไว้แต่ยังไม่ดำเนินการชาวบ้านถามมาแต่ ส.ส.ไม่มีคำตอบให้" เพียงเท่านี้ก็ชี้ให้เห็นเบื้องต้นแล้วว่าเอกภาพในการทำงานของพปชร.เป็นอย่างไร เมื่อบวกกับการแบ่งมุ้งแบ่งก๊วนในพรรคที่สัมผัสได้ง่ายๆ ก็พอจะมองเค้าลางอนาคตของพปชร.ได้ว่ายามอันใกล้นี้จะรุ่งหรือร่วง


          และหากเทียบ พปชร.กับสองพรรคร่วมรัฐบาลคือประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่เร่งเครื่องดันนโยบายพรรคที่ให้คำมั่นกับประชาชนในช่วงหาเสียงไว้พบว่ากำลังผลิดอกออกผล แต่พปชร.ตอนนี้ยังตามหลังหลายก้าว แม้แกนนำ พปชร.จะตอบแบบไม่เต็มคำว่าเราเป็นรัฐบาลผสมต้องบริหารนโยบายรัฐบาลให้เดินหน้าในภาพรวมก็ตาม ก็ฟังแล้วทะแม่งๆ หากย้อนไปดูความเห็นของ ส.ส. พปชร.ในข้างต้นที่เอ่ยไว้ประกอบกัน


          ส่วน “การเหยียบตาปลาของครม.ลุงตู่ 2” แม้ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพชัด แต่คนวงในเริ่มสัมผัสรอยปริของ ”ทีมครม.เศรษฐกิจ” ออกมาแล้วว่า อาการไม่ลงรอยกำลังคืบคลานเข้ามา เพราะแต่ละพรรคต่างเน้นเคลื่อนงานของตัวเองแบบต่างคนต่างทำจนภาวะเอกภาพแทบไม่บังเกิด แว่วมาว่าเร็วๆ นี้ เสนาบดีบางคนจ่อขอพบลุงตู่เพื่อสะท้อนความหนักใจในการขับเคลื่อนสี่เครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศแล้วว่ามีปัญหาที่ควรยกเครื่องใหม่อย่างไร ?


          เพียงเท่านี้ก็พอจะเห็นรางๆ แล้วว่าเรือเหล็กนั้นปัญหาภายในมีมากแค่ไหนและกัปตันลุงตู่จะอดทนรวมทั้งวางกลวิธีจัดการคนการเมืองหลากพรรคที่มาร่วมหัวจมท้ายกันให้บรรลุจุดประสงค์ได้อย่างไรกับเหตุข้างหน้า....


          หันมามองไปยัง "ขั้วฝ่ายค้าน” กันบ้างโดยจะพบว่าแกนนำขั้วนี้หวังใจยิ่งว่าการเดินเกมแก้กติกาหลักจะบรรลุผลเพราะมั่นใจว่าหลากวาระที่ส่อแววพิรุธของกัปตันเรือเหล็กและบวกกับพฤติกรรมของเสนาบดีบางรายที่ทยอยโผล่ออกมาเรื่อยๆ นั้น สังคมจะมาเกื้อหนุนและเป็นแรงส่งให้ขั้วฝ่ายค้านได้เดินหน้า


          ตอนนี้เกมหลักของขั้วนี้คือกระหน่ำเรื่องรายได้และรายจ่ายของร่างกฎหมายงบประมาณ โดยใช้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ไม่ดีนักในวันนี้เป็นหัวเชื้อ และน่าจะทิ้งน้ำหนักไปยังกระทรวงหลัก เช่น กลาโหม คมนาคม คลัง พาณิชย์ มหาดไทย ศึกษาธิการ เกษตรและสหกรณ์ ว่ามีความไม่น่าเชื่อถือเพียงใดว่าจะช่วยชาวบ้านได้จริง


          ส่วนวาระอื่นๆ ที่เป็นกระแสข่าวอันเกี่ยวเนื่องจากการทำงานของ คสช.เมื่อห้าปีที่แล้วจวบจนมีเรือเหล็กในวันนี้ แน่นอนว่าฝ่ายค้านจะนำมาผสมซัดไปยังลุงตู่และชาวคณะ โดยตอนนี้เห็นแล้วว่ากรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรชุดต่างๆ ที่ขั้วฝ่ายค้านเป็นประธานเริ่มลุยจับผิดสารพันปัญหาที่ผุดขึ้นมา


          แม้เกมที่ฝ่ายค้านดำเนินการอยู่ใช่ว่าจะราบเรียบเพราะจังหวะก้าวก็มีสิ่งผิดปกติที่คล้ายว่ามีการวางบทไว้ล่วงหน้ากับบางเหตุการณ์บ้านเมืองในยามนี้ โดยแกนนำฝ่ายค้านบางคนและกองเชียร์เสมือนไปมีส่วนร่วมแบบเถียงลำบาก ตรงนี้ขั้วหนุนลุงตู่พยายามที่จะต้อนเข้ามาให้อยู่ในมุมที่ใช้กฎหมายจัดการ


          สิ่งที่น่าติดตามยิ่งคือวันที่ 18 ตุลาคม (ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนการโอนหุ้นสื่อของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) จะพอมองเห็นชะตาของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ บนถนนการเมืองว่าจะไปต่อได้ไหม...และจะเป็นการชี้วัดเบื้องต้นว่าพรรคสีส้มจะได้ไปต่อหรือไม่? แม้บางฝ่ายจะสื่อความมาว่าหากพรรคสีส้มหายไปจากสารบบอาจมีเหตุรุนแรงบนถนนการเมืองไทยอีกคราวก็ตาม...


          ส่วนการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะมีมากกว่าเขต 5 นครปฐม (รอการวินิจฉัยจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความชัดเจนของเขต 2 กำแพงเพชร, เขต 7  ขอนแก่น, เขต 5 สมุทรปราการ) 4 เขตนี้ฝ่ายค้านและรัฐบาลเคยปักหมุดไว้ฝ่ายละ 2 เขต แต่ตอนนี้มันเห็นภาพชัดแล้วว่าทั้งสองขั้วแบ่งเขตกันส่งผู้สมัคร ส.ส.เพื่อให้แต้มไหลไปยังคนที่มีโอกาสมากสุดของขั้วนั้นๆ ได้ชัยชนะเพื่อเพิ่มยอด ส.ส. แต่ขั้วฝ่ายค้านคล้ายว่าจะมั่นใจว่า 4 เขตนี้ ชาวบ้านจะเทแต้มให้เพราะเป็นเครื่องชี้วัดเบื้องต้นว่าประชาชนไม่วางใจรัฐบาลลุงตู่ และจะเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์หรือไม่ เพราะ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลนั้นไล่เลี่ยกันแบบหายใจรดต้นคอ หากฝ่ายใดพลาดเกมในรัฐสภาจากคะแนนเสียงที่จี้กันเช่นนี้นั้น ขั้วใดมีหนึ่ง ส.ส.ก็อาจจะพลิกเกมกันได้แบบลุ้นระทึก


          ส่วนการปักหมุดสนามท้องถิ่นที่ราวๆ ปลายไตรมาสแรกหรือต้นไตรมาสสองของปีหน้าจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. และผู้ว่าฯ กทม.นั้น อนาคตใหม่หวังว่า 15 จังหวัดที่จะส่งทีมลงแข่งขัน พรรคสีส้มน่าจะปักธงได้ ด้านเพื่อไทยก็เตรียมรุกในภาคอีสานกลางและเหนือที่เป็นฐานเสียงหลักเอาไว้ในมือ โดยน่าจะส่งอดีตผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่งวดนี้ชวดโอกาสเข้ารัฐสภารวมทั้งอดีตนายก อบจ. ในสายพท.ทำหน้าที่ต่อ ส่วนสนามเมืองกรุง น่าจะชัดเจนในเบื้องต้นแล้วว่า อนค.คงเว้นวรรคสนามนี้เพื่อเทแต้มให้แก่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ประกาศแล้วว่าลงสมัครแบบอิสระ และตอนนี้มีแววร้าวเล็กๆ แล้ว เมื่อภาค กทม.ของพท. จะเสนอพรรคให้ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเบรกเกมนี้จนหัวทิ่มหัวตำไปเมื่อวันก่อน เพราะรู้มาหลายวันแล้วว่าชัชชาติในฐานะอดีตหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกฯ   ของ พท.ลงสมัครชิงเก้าอี้ประมุขเสาชิงช้าไร้สังกัดโดยที่คนแดนไกลอนุมัติไปแล้ว แต่ใครบางคนที่มีบารมีในภาค กทม.ของเพื่อไทยมิยอมรับความจริงด้านนี้และพยายามที่จะล็อบบี้ชัชชาติแต่มิเป็นผล รวมทั้งยังเปิดช่องให้ภาค กทม.กระทุ้งไปยังพรรคว่าควรส่งผู้สมัครประชัน จนคล้ายว่า พท.จะมีศึกในอีกระลอก


          เพียงเท่านี้ก็จับความแรงร้อนการเมืองไทยในช่วงนี้ได้อย่างพอควร และรอดูว่ากลเกมของแต่ละฝ่ายที่วางไว้นั้น ฝ่ายใดจะพลาดก่อนกัน...

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-ชวน พร้อมรับเรื่อง วัชระ ร้องสอบปมขรก.สภา
-วิษณุ ชี้กล่าวถึง กษัตริย์ในสภา ควรประชุมลับ
-(คลิป) ชวน กรีด รัฐบาลต้องรู้หน้าที่แจงสภา
-สภาฯเปิดใช้ปลายปี เผยกลาง ต.ค.นี้ถกพ.ร.บ.งบประมาณ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ